02 149 5555 ถึง 60

 

รู้จัก “ยารักษาโรคซึมเศร้า”

รู้จัก “ยารักษาโรคซึมเศร้า”

เผยแพร่: 9 ก.ย. 2561 19:37 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โรคซึมเศร้า (depression or depressive disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอย่างมาก จากข้อมูลพบว่าโรคซึมเศร้าส่งผลกระทบกับประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 4 (300 ล้านคน) ในช่วงปี 2548-2558 มีจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยซึมเศร้าประมาณร้อยละ 18 สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยใน ปี 2556 โรคซึมเศร้าทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะ จากภาวะบกพร่องทางสุขภาพในเพศหญิงร้อยละ 12.6 มีอัตราความรุนแรงที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 20.4 ซึ่งสูงกว่าโรคทางจิตเวชอื่นๆ

เราอาจไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นซึมเศร้า หลายต่อหลายครั้งที่เราอ่านจากข่าวผู้ที่ฆ่าตัวตาย อาจไม่ได้มีอาการแสดงนำอะไรปรากฏอย่างเด่นชัด (แต่ก็เป็นได้ที่เราอาจจะมองข้ามอาการเหล่านั้น) บางคนคิดว่า โรคซึมเศร้าจะต้องนำมาด้วยอาการซึม อาการเศร้า หงอย แต่บางครั้งอาจไม่ใช่เช่นนั้น ทางด้านจิตเวชศาสตร์มีเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าดังนี้

มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่น อาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)

ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก

น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากผิดปกติ

นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป

กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

รู้สึกตนเองไร้ค่า

สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด

คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

โดยที่ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ ร่วมกับ ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://med.mahidol.ac.th/infographics/76

แม้จะดูว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอันมากแต่โรคซึมเศร้าก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยารักษาซึมเศร้า หรือยาต้านเศร้า (antidepressants)

การออกฤทธิ์ของยาต้านเศร้าในปัจจุบันมุ่งไปที่การแก้ไขสมดุลของสารเคมีในสมอง (neurotransmitters) ที่ควบคุม กำกับดูแลสมดุลของอารมณ์ แรงจูงใจ ความอยากอาหาร คือ เซอโรโทนิน (serotonin) โดพามีน (dopamine) และ นอร์อิพิเนฟรีน (norepinephrine) โดยทั่วไปแล้วยาต้านเศร้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น amitriptyline, nortriptyline ออกฤทธิ์ต่อการเก็บกลับ เซอโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรีน นอกจากนั้นยายังมีฤทธิ์ต่อสารเคมีอื่นๆ ด้วยเช่น ฤทธิ์ anticholinergic ทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้งซึ่งเป็นอาการข้างเคียง

กลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียว โดยมากจะเน้นหนักไปที่เซอโรโทนิน เช่น fluoxetine, sertraline กลุ่มยาพวกนี้จะมีอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย ก็ไม่ถึงกับไม่มีเลยทีเดียว ในผู้ที่ใช้ยาบางรายมีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

การรักษาโรคซึมเศร้า จำเป็นต้องอาศัยการกินยาต้านเศร้าอย่างต่อเนื่อง บางรายอาจต้องอาศัยการทำ cognitive behavioral therapy (CBT) ร่วมด้วย และเนื่องจากยาออกฤทธิ์ปรับสมดุลการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาและรอการออกฤทธิ์เต็มที่ของยา (เช่น fluoxetine ใช้เวลาในการเริ่มเห็นฤทธิ์ในการรักษาคือ 1-2 สัปดาห์ และเห็นผลการรักษาเต็มที่ภายใน 1 เดือน หรือ nortriptyline เริ่มเห็นผลการรักษาภายใน 14 วัน) ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับทราบและเภสัชกรต้องอธิบายลักษณะการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาตามสั่งได้

ทั้งนี้ ทางจิตแพทย์ก็ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาต้านเศร้า ดังนี้

อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด แต่ยาก็ยังมีส่วนช่วยในระยะแรกๆ โดยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น เริ่มรู้สึกมีเรี่ยวแรงจะทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายจะเริ่มลดลง

ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งสิ้น แม้ว่าโอกาสที่เกิดอาการข้างเคียงจะมากน้อย และมีความรุนแรงต่างกันไป การใช้ยาจึงควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากมีความจำเป็นที่ทำให้กินยาตามสั่งไม่ได้ และควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ากินยามากตามที่แพทย์สั่ง แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ตามจริงแล้วยาต้านเศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น

ยาแก้เศร้ามีอยู่เป็นสิบขนาน จากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือ ลางเนื้อชอบลางยา ซึ่งโดยรวมแล้วก็มักจะรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาขนานไหน และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาแก้เศร้าตัวแรกที่ให้ หากอาการยังไม่ดีในระยะแรก ๆ อาจเป็นเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาด หรือยังไม่ได้ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่เสียมากกว่า ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป

10 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 106963

 

Preset Colors