02 149 5555 ถึง 60

 

การใช้ยากับเด็กสมาธิสั้น

การใช้ยากับเด็กสมาธิสั้น

ทุกครั้งที่ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องการดูแลเด็กสมาธิสั้น มักจะเจอคำถามยอดฮิตว่าควรให้ลูกกินยาหรือไม่ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นเพียงแม่คนหนึ่งที่จบทางด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ไม่ได้มีความรู้ทางด้านการแพทย์ มีเพียงประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กสมาธิสั้น (ADHD) และบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยเรียนจบ MBA จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยและทำงานในบริษัทชั้นนำ คำตอบง่ายๆ ก็คือ เด็กแต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน และมาจากสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูที่ต่างกัน การที่เด็กคนหนึ่งหายอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับเด็กทุกคน พ่อแม่ย่อมรู้จักลูกของตัวเองดีที่สุด การจ่ายยาก็อยู่ในดุลยพินิจของจิตแพทย์เจ้าของไข้ ยาจะมีผลข้างเคียงกับเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน พ่อแม่ต้องสังเกตอาการของลูก หากไม่สบายใจควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ หากไม่ถูกใจกับคำตอบของหมอลองเปลี่ยนหมอเพื่อหา second opinion ไม่ใช่ตัดสินใจหยุดยาเอง หรือเชื่อคำบอกเล่าจากผู้หวังดีที่ไม่ได้มาคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับลูกเราเลย หลายรายที่ลูกอาการแย่ลงจนถึงขั้นแก้ไขลำบาก เพราะแสวงหาและเชื่อกับคำตอบที่ตรงใจกับสิ่งที่ตนเองอยากได้ยิน มากกว่าความจริงที่ต้องเผชิญและมานั่งแก้ไข

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ พ่อแม่ที่ซื้อยาตามคำโฆษณาโดยไม่ดูว่าคนที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ขายนั้นเป็นใคร บางรายเป็นแค่ครูเพลงขายยาสารพัดโรค ทั้งรักษาตา รักษาโรคสมาธิสั้น โดยอ้างว่าเป็นอาหารเสริม พอเราเข้าไปถามในเพจก็จะโดนบล็อก ยาที่ขายก็ราคากล่องละ 2 พันกว่าบาท ถ้ายานี้มีสรรพคุณจริงครูเพลงคนนี้คงดังก้องโลกไปแล้ว ผู้เขียนเคยแจ้งไปทาง อย.ก็พบว่าพวกที่ขายยาตามเพจนั้นเลี่ยงกฎหมายโดยใช้คำว่าอาหารเสริม พ่อแม่ประเภทต้องการสิ่งที่เรียกว่า fix quick ก็หลงเชื่อ จ่ายเงินซื้ออย่างง่ายดาย ซึ่งน่าแปลกใจว่าพ่อแม่เหล่านี้เชื่อครูเพลงมากกว่าเชื่อหมอ ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ที่ยอมทุ่มเงินแต่ไม่ทุ่มเทเวลา ความรัก และความเอาใจใส่ในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการรักษาลูก

ถ้าเราพาลูกไปหาหมอ สิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมไปคือข้อมูล และอาการ ตลอดจนพฤติกรรมของลูกอย่างละเอียด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยอาการลูกของเรา การสื่อสารกับลูกอย่างถูกวิธีก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมาก ทั้งภาษาพูดที่สื่อสารออกไปต้องบวกกับภาษากายที่เชื่อมโยงถึงความรักความอบอุ่นในการส่งถึงลูก ต้องระลึกอยู่เสมอว่าที่ลูกผิดปกติเพราะยีนของพ่อแม่ ในแต่ละครั้งที่เราพยายามที่จะแก้ไขลูก คนเป็นลูกเองก็มีความพยายามที่จะต่อสู้ไปพร้อมกับเรา แต่ด้วยศักยภาพของลูกอาจจะไม่พร้อม หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังของพ่อแม่ อย่าให้ลูกต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่ อย่าเปรียบเทียบลูกเรากับใคร แค่สอนให้เขาทำให้เต็มที่ตามศักยภาพที่ลูกมีก็พอ อย่าไปกดดัน เพราะจะทำให้ลูกเครียดและไปต่อไม่ได้ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนรู้ก็สำคัญมาก ต้องให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัส จับต้องได้ โดยใช้กิจกรรมที่สนุกสนาน ประกอบด้วยดนตรี การเคาะจังหวะ ทำนอง คำกลอน เพื่อกระตุ้นสมองซีกขวาให้เด็กเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน และเกิดความจำโดยไม่เครียดจนเกินไป อยู่ที่สองมือเราเท่านั้นค่ะ และจากสถิติมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มนี้ที่หายและใช้ชีวิตอย่างประสบความสำเร็จได้ ซึ่งก็เกิดจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวสู้ไปกับลูกนะคะ

10 September 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 667

 

Preset Colors