02 149 5555 ถึง 60

 

โยกย้ายสะโพกกับ"ลีลาศ" วัคซีนต้านโรค-ฝึกการทรงตัว

โยกย้ายสะโพกกับ"ลีลาศ" วัคซีนต้านโรค-ฝึกการทรงตัว

(กีฬาลีลาศช่วยฝึกสมอง, ฝึกการทรงตัว และสร้างสมาธิให้กับผู้สูงอายุที่เรียนได้เป็นอย่างดี)

เป็นเรื่องสนุกสำหรับคนวัยเก๋า โดยเฉพาะ “ลีลาศกับคนหลัก 6” เพียงแค่ทำให้จิตใจให้ผ่อนคลาย สนุกสนานไปกับเสียงเพลง และสไตล์การเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างการเดินหน้าถอยหลัง เพียงเท่านั้น แต่จะทำให้ลืมไปเลยว่ากำลังออกสเต็ปลีลาศเพื่อสุขภาพอยู่ ที่สำคัญยังทำให้จิตใจเบิกบาน มีสังคม และได้เรื่องของสมาธิไปแบบไม่รู้ตัว หากเลือกกิจกรรมเข้าจังหวะดังกล่าว

ถ้าพูดถึงกีฬาลีลาศ หลายคนอาจมองว่าเต้นยาก และหากย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่นวัยเรียน ยามที่เลือกวิชากิจกรรมเข้าจังหวะดังกล่าว หลายคนเรียนเพราะต้องการ “หนีแดด” หรือไม่อยากเรียนวิชาพลศึกษาที่ต้องอยู่กลางแสงจ้า...ก็ว่ากันไปนั่น อ.บุญเลิศ กระบวนแสง เจ้าของโรงเรียนบุญเลิศลีลาศ (เฟซบุ๊ก: Boonlert Dance Sport) วัย 84 ปี บอกให้ฟังว่า อันที่จริงแล้ว “ลีลาศ” ไม่ยากอย่างที่คิด ในทางกลับกันยังได้เรื่องของสุขภาพที่ดีไปเต็มๆ ที่สำคัญยังทำให้ดูอ่อนกว่าวัยอีกด้วย

อ.บุญเลิศ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับจังหวะ ขนาดคนที่เต้นรำไม่เป็น แต่หากได้ยินเสียงคนตีกลอง หรือได้ยินเสียงเพลงขึ้น ก็จะเคาะเท้าตามจังหวะที่ได้ยิน และนั่นคือธรรมชาติของการขยับร่างกายตามจังหวะแบบอัตโนมัติ หรือทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญหากเราสอนให้มันง่าย พูดให้มันเข้าใจง่าย คนเรียนก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนครับ เพราะอันที่จริงแล้ว หลักการ “เต้นลีลาศ” มีอยู่แค่เดินมาข้างหน้า เดินถอยหลัง เดินช้าๆ และเดินเร็วๆ

“เทคนิคการสอนลีลาศของเรา ผมพยายามปรับวิธีการสอนให้ง่ายครับ ซึ่งเคล็ดลับก็ไม่มีอะไรมาก เพราะอันที่จริงแล้วการเต้นรำไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุ เพียงแต่ผู้เรียนต้องทำตัวให้เป็นธรรมชาติ อย่าเกร็ง เมื่อนั้นส่วนต่างๆ ของร่างกายก็จะไปอย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นการเดินและการหมุนตัว สุดท้ายทุกอย่างก็จะเป็นไปตามสเต็ปเอง ขณะเดียวกัน เมื่อมาเรียนก็ต้องรู้สึกสนุก ทำใจให้สบาย และรื่นเริงไปกับจังหวะและท่วงทำนอง ที่สำคัญให้ตัดความกังวลเรื่องการเต้นถูกเต้นผิดไปเลย แต่ให้เริ่มที่การเปิดใจ และมองว่าลีลาศเป็นการเต้นที่สนุกเท่านั้นเป็นพอครับ

เพราะการมั่นฝึกซ้อมบ่อยๆ จะทำให้เต้นได้อย่างคล่องแคล่วได้เอง อย่างที่บอกไปว่าทุกอย่างก็จะมาเอง และผู้ที่จะมาเรียนลีลาศนั้นไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อน ขอให้มีใจรักก็สามารถเต้นได้ทุกกลุ่มวัย ทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ ที่ไม่อยากจับเจ่าอยู่กับบ้าน โดยใน 1 สัปดาห์ควรเต้นลีลาศอย่างน้อย 1 วัน วันละประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าสามารถเต้นได้อาทิตย์ละ 2-3 วัน ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของคนสูงวัย”

หลังจากผู้เรียนเปิดใจในการเต้นลีลาศแล้ว ประโยชน์ในเชิงสุขภาพของผู้สูงวัยกับกิจกรรมเข้าจังหวะดังกล่าว อ.บุญเลิศ บอกให้ฟังว่า ได้ทั้งเรื่องของ สังคม, จิตใจเบิกบาน, สมาธิ ช่วยเรื่องการทรงตัว และร่างกายที่ดูอ่อนเยาว์กว่าวัย ที่สำคัญการเต้นลีลาศมาตั้งแต่วัยหนุ่มยังทำให้ อ.บุญเลิศมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถเอาชนะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่ตรวจพบเมื่ออายุ 82 ปี หรือประมาณ 2 ปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันแพทย์ระบุว่าหายขาดจากโรคร้าย เหลือเพียงการตรวจติดตามโรคทุกๆ 4 เดือน

(ข้อดีของการเต้นลีลาศ ผู้หญิงสามารถจับคู่และเต้นด้วยกัน ที่สำคัญยังเต้นคนเดียวได้ ซึ่งไม่เพียงทำให้การฝึกซ้อม ท่าทางคล่องแคล่วขึ้น แต่ยังทำให้จิตใจเบิกบานจากการฮัมเพลงไปพร้อมๆ กัน)

“ประโยชน์ของการเต้นลีลาศที่ผู้สูงอายุจะได้รับนั้น คือการ “มีสังคม” เพราะจากประสบการณ์ที่อาจารย์ไปสอนร่วมกับกรมกิจกรรมผู้สูงอายุ ลีลาศทำให้คนสูงวัยมีสังคมจากการที่มารวมกลุ่มกัน ที่สำคัญยังเป็นการออกกำลังกายที่ผู้หญิงสามารถเต้นกับผู้หญิงได้ หรือผู้สูงอายุจะเต้นคนเดียวได้เช่นกัน ตรงนี้จะทำให้มีความสุขจากเสียงเพลง และการได้ขยับเขยื้อนร่างกาย จึงถือเป็นข้อดีที่แตกต่างจากการเต้นคัฟเวอร์ ที่เน้นเอามันและสนุกสนานจากเสียงเพลงที่เร้าใจ เพราะลีลาศเป็นกีฬาที่อ่อนหวาน นุ่มนวล เห็นได้จากจังหวะวอลตซ์ กระทั่งจังหวะชะชะช่าเองก็ตาม

นอกจากนี้ก็ทำให้ผู้เรียน “จิตใจเบิกบาน” เพราะเมื่อใดที่มาเต้นลีลาศจะทำให้ระบบความคิดใช้ไปในทางที่ถูกต้อง สร้างสรรค์ และสนุกสนาน กระทั่งทำให้ผู้เรียนลืมความเหนื่อยล้า หรือเรื่องที่กำลังเครียดๆ ไปเลย เพราะจิตของเราจะโฟกัสอยู่ที่จังหวะและเสียงเพลงที่ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี ที่ลืมไม่ได้คือเรื่องของ “สมาธิ” อีกทั้งได้ “ฝึกสมอง” ไปพร้อมๆ กัน เพราะในระหว่างนั้น ผู้สูงอายุก็จะคิดทบทวนท่าทาง ทำให้สมองได้ใช้งาน เมื่อนั้นความจำก็จะดี อีกทั้งเวลาที่หัดเดิน ผู้เรียนก็จะไม่คิดเรื่องอื่น ความสุขก็จะเกิดขึ้น ที่ลืมไม่ได้ท่าทางการเคลื่อนร่างกายของกิจกรรมลีลาศยังส่งผลให้ร่างกายมีสมรรถภาพใน “การทรงตัวที่ดี” ป้องกันการหกล้มในคนสูงวัยได้ รวมถึง “อารมณ์แจ่มใส” ขึ้น เพราะขณะเต้นก็จะฮัมเพลงไปด้วย

ทั้งนี้ การที่ผมเต้นลีลาศมาเกือบตลอดชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ด้วยความชื่นชอบ “เอลวิส เพรสลีย์” นักร้องชื่อดังที่เป็นไอดอลในการเต้นลีลาศ กระทั่งปัจจุบันอายุ 84 ปี และเป็นอาจารย์สอนกิจกรรมเข้าจังหวะดังกล่าว ประกอบกับการที่ผมป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถามว่าลีลาศมีส่วนช่วยไหม บอกเลยว่ามีส่วนช่วยอย่างมากครับ ในแง่ของการเป็นภูมิต้านทาน และช่วยทำให้การบำบัดมะเร็งหายเร็ว เนื่องจากคุณหมอแจ้งว่าตัวนี้หายขาดแล้ว แต่ยังต้องติดตามผลทุกๆ 4 เดือน อีกทั้งในการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งนั้น แพทย์จะแจ้งว่าแข็งแรงกว่าอายุจริง หรือ “สุขภาพดีเกินอายุ” ประกอบกับผมไม่ดื่มเหล้าและไม่สูบบุหรี่ครับ อีกทั้งตอนที่เป็นก็ไม่รู้ว่าป่วย ซึ่งในขณะนั้นก็ยังทำหน้าที่สอนลูกศิษย์ เมื่อทุกอย่างรวมกัน ทั้งความแข็งแรง ไม่เครียด และใจก็ไม่ยอมแพ้กับโรคที่เป็น เรียกได้ว่าปัจจุบันสุขภาพก็ยังแข็งแรงดีครับ”

สุขภาพดีไม่มีขาย แต่ถ้าใครอยากสุขภาพดี ให้เลือกเรียนลีลาศ...ว่าไหมค่ะ.

12 September 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 5169

 

Preset Colors