พ่อจ๋าแม่จ๋า...หนูเป็นโรคซึมเศร้า
พ่อจ๋าแม่จ๋า...หนูเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่ความเศร้าเสียใจอย่างธรรมดาที่เป็นอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆแล้วหายไป แต่เป็นความรู้สึกเศร้าอย่างรุนแรงและเนิ่นนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถหายจากโรคนี้ได้
โรคซึมเศร้านั้นสามารถเกิดกับคนได้ในทุกเพศและทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กหรือวัยรุ่นที่เป็นช่วงวัยแห่งความสนุกสนาน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีเด็กเล็กป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ2 - 3 และร้อยละ 4 -8 ในวัยรุ่น สิ่งที่น่ากังวลก็คือหากเกิดโรคนี้กับเด็กจริงๆ จะเป็นการลำบากในการดูแลรักษา เพราะเด็กๆมักไม่รู้และเข้าใจภาวะความเป็นโรคของตนเอง หรือกล่าวง่ายๆก็คือ เขาไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้น พ่อแม่ คนเลี้ยงหรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กๆ ต้องคอยหมั่นสังเกตว่าเด็กๆมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที
สาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก มีดังนี้
1. สาเหตุทางร่างกาย
- เกิดจากสารเคมีในสมองคือ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง จึงทำให้รู้สึกเศร้าและหดหู่
- เกิดจากกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาจากคนในครอบครัว เช่น พ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
- เกิดจากโรคบางชนิดที่มีผลต่อสมอง เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
2. สาเหตุทางจิตใจ
- การเลี้ยงดูในครอบครัว เช่น การเลี้ยงดูที่เข้มงวดมากจนเกินไป การเลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำรุนแรง การถูกละเลยหรือไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนในครอบครัว
- สภาพแวดล้อม เช่น ถูกเพื่อนแกล้งมากๆ ถูกคุณครูดุหรือทำโทษบ่อยๆ
3. สาเหตุอื่นๆ
- ความเครียดที่มาจากการเรียนหรือการสอบอย่างหนัก หรือผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
- ความสูญเสีย เช่น สูญเสียบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รัก คนรักเลิกราจากไป
การสังเกตว่าเด็กคนไหนเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นคอยสังเกตดูพฤติกรรมของลูกๆในแต่ละวัน แต่ระวังอย่าจับจ้องมากจนเกินไป เพราะความกังวลกลัวลูกจะเป็น พอเห็นสิ่งแปลกตาก็เหมารวมว่าลูกเป็น ดังนั้น จำไว้อย่างหนึ่งว่า ตามปกติเมื่อเด็กเปลี่ยนวัย ก็จะมีลักษณะที่เปลี่ยนไปได้ เช่น ขรึมมากขึ้นหรือพูดน้อยลง หรือห่วงเล่นมากกว่าเรียน ซึ่งอาจเป็นธรรมดาสำหรับเด็กที่กำลังเปลี่ยนเป็นวัยรุ่นหรือเริ่มโตขึ้น ก็จะมีโลกส่วนตัวหรือความสนใจอย่างอื่นมากกว่าสิ่งที่เคยทำมา แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกไปจากวัยของเขาก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะเป็นโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด
ลักษณะอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในเด็ก มีดังนี้
1. โกรธหรือฉุนเฉียวง่าย
2. เก็บตัวและแยกตัวออกจากทุกคน ไม่เว้นแต่พ่อแม่
3. ไม่หลับไม่นอนหรือนอนมากจนผิดปกติ
4. กินมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างผิดปกติ
5. ไม่สนใจการเรียนจนการเรียนตกต่ำหรือการไม่ทำกิจกรรมใดๆ
6. อ่อนแอ ไม่มีเรี่ยวแรงกำลัง
7. อ่อนไหว ร้องไห้ง่ายๆ
8. บ่นถึงความเจ็บป่วยซึ่งอาจไม่ได้มีความเจ็บป่วยจริง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
9. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดตลอดเวลา
10.ทำร้ายร่างกายตนเอง เช่น ดึงผม ทุบตีตัวเอง หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
วิธีดูแลช่วยเหลือเมื่อเด็กๆเป็นโรคซึมเศร้า มีดังนี้
1. พาไปพบจิตแพทย์ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากอาการของโรคซึมเศร้าในแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป การไปพบแพทย์จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคนนั้น ซึ่งบางกรณีจำเป็นต้องรักษาโดยการใช้ยาและการไปพบแพทย์จะทำให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวระหว่างรับการรักษาด้วย
2. หาสาเหตุของโรคซึมเศร้า เพื่อจะได้รู้ว่าความซึมเศร้านั้นเกิดจากปัจจัยอะไร โดยนอกจากพ่อแม่จะใช้วิธีการสังเกตจากพฤติกรรมของเด็กเองแล้ว การพูดคุยกับตัวเด็กเองหรือพูดคุยกับคนที่รู้จักเด็ก อาจทำให้รู้ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นกับเด็กบ้าง เช่น สอบถามจากคุณครูถึงการใช้ชีวิตที่โรงเรียนของเด็กว่าในแต่ละวันเป็นเช่นไร มีเพื่อนเล่นด้วยหรือไม่ ถูกรังแกหรือไม่ สนใจในการเรียนหรือไม่
3. บรรเทาความเครียด อย่างเช่นการหากิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กๆผ่อนคลายให้ทำ เช่น ชวนเล่นเกม ชวนเล่นดนตรี หรือการจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้สดชื่น เช่น จัดห้องนอนให้สะอาดโล่งโปร่งสบาย ปลูกดอกไม้บริเวณบ้านเพื่อให้รู้สึกสดใส
4. ให้ความรักและกำลังใจ ด้วยการรับฟังความรู้สึกของเด็กอย่างตั้งใจ พูดให้กำลังใจโดยไม่ตัดสิน รวมถึงการแสดงออกด้วยท่าทีที่อบอุ่นห่วงใย เช่น โอบกอด ลูบหัว
5. ดูแลสุขภาวะด้านการกินอยู่หลับนอนโดยการจัดหาให้เด็กๆได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางสารอาหารอย่างครบถ้วน ให้ได้รับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและเหมาะสม
นอกจากการดูแลช่วยเหลือเด็กๆที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วยวิธีการต่างๆแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจอีกอย่างคือ การรักษาโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรรีบร้อนหรือเร่งรัด แต่จำต้องใช้ความอดทนทั้งกายและใจ เพื่อจะช่วยให้เด็กๆกลับมามีโลกที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ
17 September 2561
ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์
Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana
Views, 15159