02 149 5555 ถึง 60

 

พ่อแม่ติดมือถือ ตัวการร้ายทำลายลูก

พ่อแม่ติดมือถือ ตัวการร้ายทำลายลูก !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่: 19 ก.ย. 2561 10:36 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกสังคมออนไลน์มีคลิปเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นที่เยอรมันและฮือฮามาก เนื่องจากเป็นคลิปเด็ก ๆ ชาวเยอรมันเมือง Hamburg ได้รวมตัวกันประท้วงผู้ใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของพวกเขาใส่ใจและให้เวลากับพวกเขามากขึ้น ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์มือถือ โดยแกนนำของกลุ่มการประท้วงคือหนูน้อย Emil Rustige ที่มีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น

Emil เดินนำหน้าเด็ก ๆ คนอื่น เดินไปก็จะร้องตะโกนไปด้วยว่า We are here. We are Loud. โดยมีสโลแกนในการประท้วงครั้งนี้คือ Play with me, not your smartphones. (เล่นกับเรา ไม่ใช่มือถือ)

และบอกว่า "หลังจากการประท้วงในครั้งนี้ผมหวังว่าทุกคนจะใช้เวลาของคุณกับมือถือน้อยลง"

ใครได้เห็นคลิปนี้ อดอมยิ้มกับมุมความน่ารักฉะฉานและกล้าแสดงออกของหนูน้อย Emil ไม่ได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนสะเทือนใจกับการส่งสัญญาณ หรือจะเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เด็กส่งถึงผู้ใหญ่ก็ได้ ว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายควรได้กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกหลานของตน เลี้ยงดูและใส่ใจมากขึ้น มิใช่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาสนใจแต่มือถือของตัวเอง

ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายเรียกร้องเด็ก ๆ พ่อแม่เรียกร้องลูก ครูบาอาจารย์เรียกร้องลูกศิษย์ เป็นการเรียกร้องจากผู้ใหญ่ให้เด็กลดละการใช้โทรศัพท์มือถือลง ลดการเล่นเกม ลดการแชท ลดการทำกิจกรรมผ่านมือถือ พร้อมกับบอกข้อเสียและผลกระทบสารพัด

แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมก้มหน้า หรือติดมือถือ มิใช่เกิดกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่นี่แหละที่ติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง !

จริงอยู่พฤติกรรมการใช้มือถือของผู้ใหญ่บางคนอาจมีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ประเด็นก็คือ ได้มีการจัดสรรเวลา หรือมีเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นร่วมกับการใช้ชีวิตด้วยหรือไม่

โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเน้นคือ พ่อแม่ ลองสำรวจตรวจสอบว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายติดสมาร์ทโฟนหรือเปล่า หรือคุณเป็นพ่อแม่ที่สามารถจัดสรรเวลาในขณะที่อยู่ในครอบครัวได้อย่างลงตัว

ยิ่งถ้าคุณเป็นพ่อแม่ลูกเล็ก ยิ่งต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างรากฐานของลูกในช่วงปฐมวัย และรากฐานที่สำคัญที่สุดคือการกระทำ ซึ่งหมายถึงแบบอย่างที่ดี

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ติดมือถือมาก แล้วบอกลูกว่าไม่ควรเล่นมือถือนานๆ แล้วใยจะได้ผลเล่า เรื่องแบบอย่างของการใช้ชีวิตของคนเป็นพ่อแม่ ถ้าอยากเป็นต้นแบบที่ดีของลูก เป็นเรื่องที่ “ต้องเอาตัวเข้าแลก” ทั้งนั้น

คำว่า “เอาตัวเข้าแลก” ในที่นี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณให้เป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน

แน่นอนว่าผู้ใหญ่ในสังคมเห็นประเด็นร่วมกันว่า เด็กยุคนี้กำลังกลายเป็น “เด็กยุคก้มหน้า” !

มีงานวิจัยมากมายหลายสำนักก่อนหน้านี้ที่ส่งสัญญาณเตือนดัง ๆ ออกมาว่าเป็นห่วงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ติดมือถืออย่างหนัก เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างจริงจังต่อเรื่องนี้ โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

หรือแม้แต่บิล เกตต์ เจ้าพ่อทางด้านไมโครซอฟต์ ก็ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์พร้อมกับเมลิดา ภรรยาของเขาถึงเรื่องการเลี้ยงลูกในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้านี้ต้องมีกฎเหล็กด้วย

ข้อแรก - ไม่อนุญาตให้ลูก ๆ ทั้งสามเล่นโทรศัพท์ จนกว่าพวกเขาจะมีอายุ 14 ปี

ข้อสอง - กำหนดเวลาเล่นโทรศัพท์ ทุกคนต้องมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว

ข้อสาม - ไม่อนุญาตให้เล่นโทรศัพท์ขณะรับประทานอาหาร

ข้อสี่ - กำหนดเวลาเลิกเล่นโทรศัพท์ ลูก ๆ ต้องเข้านอนเมื่อถึงเวลา

เพราะบิล เกตต์ ก็เชื่อในการวางรากฐานที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เล็ก และเทคโนโลยีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเป็นแบบอย่างที่ดี และการสร้างกฏกติกาภายในครอบครัว จะช่วงสร้างรากฐานที่ดีได้

ในท่ามกลางโลกเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัว อาจทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ตกเข้าไปในกับดักของการเสพติดมือถือได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น ลองมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรากันก่อนดีไหมคะ

ข้อแรก - ต้องคิดเสมอว่า พฤติกรรมของเราในวันนี้ส่งผลต่อลูกในวันหน้า ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ติดมือถือแล้วมาเรียกร้องให้ลูกอย่าติดมือถือได้กระนั้นหรือ พ่อแม่ต้องทำให้ได้ด้วย ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วย

ข้อสอง - การสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูกช่วงปฐมวัยสำคัญที่สุด การส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และฝึกทักษะที่จำเป็น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก ชักชวนไปทำกิจกรรมในบ้าน หรือนอกบ้าน ที่มีการทำกิจกรรมเคลื่อนไหว และพัฒนาการเหมาะสมกับวัย พยายามทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกสนใจกิจกรรมและเรียนรู้ถึงการใช้เวลาว่างและการมีงานอดิเรก

ข้อสาม - อย่าเอามือถือมาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาพัก จริงอยู่สำหรับพ่อแม่บางคนทำงานนอกบ้านอาจจะเหนื่อยมาก กลับถึงบ้านก็อยากพัก เมื่อเจอลูกงอแง หรือเซ้าซี้ แล้วใช้วิธีแก้ปัญหาโดยส่งมือถือให้ลูก เพื่อหวังว่าตัวเองจะได้พักเหนื่อย แต่โปรดได้รู้ว่าเมื่อลูกได้สัมผัสเจ้าเทคโนโลยีแล้ว โอกาสที่จะเรียกร้องและนำไปสู่การติดหนึบก็จะมากขึ้นทุกที และเมื่อนั้นแหละ คุณต่างหากที่จะต้องมานั่งกลุ้มใจในภายหลัง

ข้อสี่ - เด็กยุคนี้เป็นเด็กยุคดิจิทัล เขาเติบโตมาในยุคของเขา อย่าคิดว่าต้องฝึกเขาตั้งแต่เล็กเลย เพราะเมื่อถึงวันที่เขาได้สัมผัสแล้ว เขาสามารถใช้ได้เร็วและคล่องกว่าที่คุณคิดไว้มาก แต่ควรฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับวัยของเขามากกว่า

ข้อห้า - ควรสร้างกฎ กติกาครอบครัว มิใช่เฉพาะของลูก ให้สมาชิกในครอบครัวมีกฎกติการ่วมกันภายในบ้านให้เหมาะสม ต้องมีกฎกติกาว่าจะใช้เมื่อไร ควบคุมเรื่องเวลา หรืออาจมีข้อตกลงร่วมกัน เช่น มื้ออาหารห้ามใช้มือถือ ฯลฯ และพยายามสร้างเวลาสื่อสารกันในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะมีการสื่อสารผ่านความรู้สึก สีหน้า ท่าทาง แววตา และมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เล็กจนโต

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องที่เริ่มจากความรัก ความใกล้ชิดของพ่อแม่ ที่จะเป็นปราการด่านแรกในการให้ลูกได้เรียนรู้และสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใย คนเป็นพ่อแม่ยุคนี้อาจรู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้กับการดูแลลูก เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เข้ามาเป็นสิ่งเย้ายวนใจมากมายเหลือเกิน แต่เราก็ต้องคิดเสมอว่าการเป็นพ่อแม่ ก็ต้อง “เอาตัวเข้าแลก” อยากให้ลูกเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็ต้องเริ่มจากการเป็นพ่อแม่ที่เป็นแบบอย่างก่อน

เพราะไม่เช่นนั้น เราอาจกลายเป็นพ่อแม่ที่เป็นตัวการร้ายทำลายลูกได้ !!

19 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2930

 

Preset Colors