02 149 5555 ถึง 60

 

เครียด จน เกษียณไม่มีเงินเก็บ!!!

เครียด จน เกษียณไม่มีเงินเก็บ!!!

สุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย นั่นคือภาวการณ์ทำงานของมนุษย์เงินเดือนสมัยนี้ ที่มีผลสำรวจออกมาว่า มนุษย์ออฟฟิศไทยเผชิญภาวะเครียดสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แถมทำงานมาทั้งชีวิต สุดท้ายไม่มีเงินเก็บหลังเกษียณ ยิ่งฟังยิ่งเครียด อั้ยย่ะ!! มันจริงใช่ไหมเนี่ย มันเป็นอย่างงั้นได้ยังไง ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับนิยามประเทศไทยในด้านที่สะท้อนถึงแต่ภาพของความสุข สนุกสนาน เช่นคำว่า สยามเมืองยิ้ม แต่ข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 องศา ของซิกน่า บริษัทประกันสุขภาพ เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนไทยถึง 91% ยอมรับว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 86%

สาเหตุเป็นเพราะชีวิตการทำงานไม่มีความบาลานซ์เท่าที่ควร โดยเฉพาะหนุ่มสาวในวัย 30 เศษๆ สำหรับการสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ของซิกน่าได้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยได้สำรวจและติดตามทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการทำงาน จากผู้คนใน 23 ประเทศทั่วโลก โดยทำการสำรวจในทุกช่วงอายุ และพบว่าคนกลุ่มมิลเลนเนียล หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 18-35 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสมดุลของการทำงานและชีวิตส่วนตัว รวมถึงมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 35-49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป

ขณะที่ในภาพรวม สิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือ เรื่องการเงิน ด้วยสัดส่วน 43% ตามมาด้วยปัญหาเรื่องงาน โดยเฉพาะประเด็น จะมีสัดส่วนอยู่ราว 35% แม้ว่า 91% ของคนไทยจะยอมรับว่าตนเองเครียด แต่ 81% ของคนในกลุ่มนี้ก็สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้วิธีการพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน

จากการสำรวจยังพบว่า มีคนไทยเพียง 13% เท่านั้นที่เข้าพบบุคลากรด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดของตนเอง ดยที่คนในกลุ่มวัยทำงานจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับการรักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ซึ่งนอกจากสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายที่สูงแล้วยังเกี่ยวกับความรู้สึกอับอายที่จะบอกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอีกด้วย แม้ว่านายจ้างในประเทศไทยที่มีจำนวนถึง 63% จะให้ความสำคัญกับการจัดการความเครียดของพนักงาน แต่มีหนุ่มสาวออฟฟิศเพียง 30% เท่านั้นที่รู้สึกว่าที่ทำงานของตนมีการให้ความช่วยเหลือในการจัดการความเครียดอย่างเพียงพอ ขณะที่อีก 37% กล่าวว่านายจ้างไม่มีการช่วยเหลือใดๆ เกี่ยวกับการจัดการความเครียดเลย

โดยแนวทางที่ออฟฟิศจะให้ความช่วยเหลือในการจัดการความเครียดให้กับพนักงานได้ อาทิ การจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน โดยบริษัทที่มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานจะมีจำนวนพนักงานที่รู้สึกว่าตนไม่สามารถจัดการความเครียดได้เองน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีโปรแกรมดังกล่าว

ทางด้าน นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ประจำกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาความเครียดในการทำงานว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างพลิกผันได้เสมอ อะไรที่เคยแน่นอนก็เริ่มไม่แน่นอน อาชีพที่เคยมั่นคงเคยเป็นดาวรุ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มาถึงยุคนี้ก็เป็นดาวร่วง มีธุรกิจใหม่มาแทนที่ เอาหุ่นยนต์มาแทนที่ ทำให้การแข่งขันเรื่องงานมีสูงยิ่งขึ้นแถมโอกาสเสี่ยงที่จะตกงานก็มีมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องตั้งสติตั้งรับเตรียมพร้อมกันไว้ให้ดี

4 October 2561

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1884

 

Preset Colors