02 149 5555 ถึง 60

 

"วัยทำงาน" ครองแชมป์คนหาย แซงหน้า "เด็ก-ผู้สูงอายุ"

"วัยทำงาน" ครองแชมป์คนหาย แซงหน้า "เด็ก-ผู้สูงอายุ"

เผยแพร่: 17 ต.ค. 2561 20:06 ปรับปรุง: 17 ต.ค. 2561 20:31 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปัญหาคนหาย ช่วง 10 ปีทวีความรุนแรง จำนวนคนหายนับ 1,000 คนต่อปี “มูลนิธิกระจกเงา” เผยสถานการณ์เปลี่ยน วัยทำงานที่ป่วยด้านจิตเวชหายออกจากบ้านสูงสุด ผู้สูงอายุอัลไซเมอร์ยอดหายขยับเพิ่ม ขณะที่เด็กและเยาวชนหนีออกจากบ้านเริ่มลด กรมสุขภาพจิต ชี้ วัยทำงานอัตราฆ่าตัวตายสูง “ศูนย์ข้อมูลคนหาย” เตรียมแจก “สายรัดข้อมือบาร์โค้ด” ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 พันราย เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัว เตือน อย่าโพสต์ภาพเด็กหายลงโซเชียล ชี้เป็นการทำร้ายสร้างบาดแผลในใจให้เด็ก

ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันปัญหาคนหายกำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งคนที่หายออกจากบ้านนั้นพบว่ามีอยู่ทุกช่วงวัย โดยเกิดจากหลายปัจจัยหลายสาเหตุ ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์คนหายมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งเรื่องของวัยและสาเหตุ

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า สถานการณ์คนหายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนคนหายในกลุ่มวัยทำงานที่ป่วยด้านจิตเวช และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสมองเสื่อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่เด็กและเยาวชนที่หนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจเริ่มมีจำนวนลดลง โดยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอายุเกิน 60 ปี ส่วนผู้ที่มีปัญหาทางจิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี และที่น่าจับตาอย่างยิ่งคือตัวเลขคนหายในปี 2561 ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มวัยทำงานที่มีปัญหาจิตเวชมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นโครงสร้างของสังคมไทยว่าวัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีความเครียดสูง ทั้งจากการทำมาหากิน ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก่งแย่งแข่งขัน ขณะเดียวกันยังสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุภาพ

“ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่หายออกจากบ้านเนื่องจากมีปัญหาทางจิตเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีแรกที่พบว่าผู้ที่หายออกจากบ้านเพราะปัญหาทางจิตมีจำนวนมากกว่าเด็ก-เยาวชนที่หนีออกจากบ้าน และผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งเราต้องมาช่วยกันคิดว่าอะไรคือสาเหตุ และจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร” นายเอกลักษณ์ แสดงความวิตกต่อปัญหาดังกล่าว

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ระบุว่า จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะวัยทำงาน ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขัน และความกดดันอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในวัยทำงาน คือ พฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ภาวะเครียดและวิตกกังวล โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด คือ การมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และความไม่แน่นอนหรืองานที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง การขาดโอกาสที่จะก้าวหน้าหรือได้รับการเลื่อนตำแหน่ง การทำงานหนักค่าตอบแทนน้อย โดยจากการสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิต พบว่าคนไทยมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชประมาณ 16 ล้านคน ทั้งจากโรคการดื่มสุราหรือเสพสารเสพติด โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แต่อาการเจ็บป่วยเหล่านี้กลับถูกมองข้ามและผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษา นอกจากนั้นกรมสุขภาพจิตยังระบุว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้ทำการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพจิตของคนทำงานอาชีพต่างๆ เมื่อปี 2554 ระบุว่า กลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำที่สุดคือ คนทำงานรับจ้าง 30.1 คะแนน เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงและมีรายได้ไม่แน่นอน ส่งผลต่อสภาพจิตใจเป็นไปในทางลบ ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนสุขภาพจิตต่ำใกล้เคียงกันคือ แม่บ้านและลูกจ้างเอกชน ได้ 31.1 คะแนนเท่ากัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์คนหายในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากช่วง 10 ปีก่อน ซึ่งผู้ที่หายออกจากบ้านส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชนที่หนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจหรือถูกล่อลวง รองลงมาคือผู้สูงอายุซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อม ตามด้วยวัยทำงานซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางจิตหรือเป็นผู้ป่วยจิตเวช

โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา พบว่าช่วงปี 2552-2555 ผู้ที่หายออกจากบ้านส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งอายุระหว่าง 11-18 ปี รองลงมาคือผู้สูงวัยที่อายุ 60 ขึ้นไป ตามด้วยวัยทำงาน ช่วงอายุ 31-59 ปี แต่ตั้งแต่ปี 2556-2560 ช่วงวัยที่หายออกจากบ้านมากที่สุดคือผู้ที่อายุ 60 ขึ้นไป ขณะที่วัยทำงานอายุ 31-59 หายออกจากบ้านเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ จากจำนวนหลักสิบต่อปี เป็นปีละหลายร้อยคน และล่าสุดในปี 2561 พบว่ากลุ่มวัยทำงานหายซึ่งออกจากบ้านเพราะปัญหาด้านจิตเวชมีจำนวนมากที่สุด

จากสถิติพบว่าโดยภาพรวมแล้วจำนวนคนหายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากการรับแจ้งคนหายของ “ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา” ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 - 16 ต.ค. 2561 มีการแจ้งคนหาย 750 คน เป็นเพศชาย 436 คน เพศหญิง 314 คน ขณะที่ตัวเลขจากการรับแจ้งคนหายของ “มูลนิธิกระจกเงา” กับ “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” รวมกันพบว่า ในปี 2560 มีการแจ้งคนหายรวม 1,159 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งมีการแจ้งคนหายรวม 561 คน ถึงเท่าตัวเลยทีเดียว

ในส่วนของการติดตามค้นหาผู้ที่หายออกจากบ้านทั้ง 3 กลุ่มนั้น หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้คำแนะนำว่า การติดตามบุคคลทั้ง 3 กลุ่มนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ป่วยทางจิตและผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่หายออกจากบ้านนั้น นอกจากการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแจ้งศูนย์ติดตามคนหายซึ่งจะประสานไปยังโรงพยาบาลและมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัยต่างๆ ซึ่งอาจให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยหรือหมดสติเอาไว้แล้ว การลงประกาศหาผ่านสื่อโซเชียลถือเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยติดตามบุคคลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวควรทำเพื่อป้องกันปัญหาการหายออกจากบ้านของผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมและผู้ที่มีอาการทางจิตคือนอกจากจะดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษแล้ว ควรขอความร่วมมือจากเพื่อนบ้าน ร้านค้าหรือวินรถจักรยานยนต์แถวบ้านให้ช่วยสอดส่อง หากพบเห็นก็ให้ช่วยพากลับไปส่งที่บ้าน

ส่วนเด็กที่หนีออกจากบ้านนั้น สิ่งแรกที่ผู้ปกครองควรทำคือการแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตาม หรือแจ้งศูนย์ติดตามคนหายเพื่อให้ช่วยประสานและติดตามเด็ก พร้อมกันนี้ควรสอบถามไปยังญาติหรือเพื่อนสนิทที่คิดว่าเด็กจะไปพักพิงหรือติดต่อด้วย ซึ่งช่องทางที่ดีที่สุดที่จะค้นหาข้อมูลของเด็กก็คือเฟซบุ๊กของเด็ก ซึ่งจะบอกได้ว่าเด็กมีปัญหาอะไร หรือติดต่อใครบ้าง และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นเบาะแสนำไปสู่ตัวเด็กได้ นอกจากนั้นการติดตามเด็กจากการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งต้องอาศัยอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยประสานไปยังค่ายมือถือก็สามารถช่วยหาพิกัดหรือหาตัวคนที่เด็กติดต่อได้ อีกช่องทางหนึ่งคือข้อมูลการใช้บัตรเอทีเอ็มในการเบิกถอนเงินของเด็กซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถประสานขอความร่วมมือจากทางธนาคาร จะช่วยให้หาพิกัดและติดตามตัวเด็กได้ง่ายขึ้น

“สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งในกรณีเด็กหายออกจากบ้านคือการโพสต์ข้อมูลในสื่อโซเชียล เช่น เพจ หรือเฟซบุ๊ก เพื่อตามหาเด็ก เนื่องจากการแสดงความเห็นในโลกโซเชียลเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นมักวิพากษ์วิจารณ์เด็กไปในทางเสียหาย เช่น กว่าจะเจอตัวก็คงท้องกลับมา, น่าจะเป็นเด็กมีปัญหา, ติดยาหรือเปล่า ซึ่งคำวิจารณ์เหล่านี้จะกลายเป็นบาดแผลในใจเด็ก เพื่อนๆ หรือสังคมรอบข้างที่เห็นข้อความเหล่านี้มักมีทีท่ารังเกียจหรือล้อเลียนเด็ก เด็กถูกตัดสินไปแล้วทั้งที่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง หรือแม้จะเป็นเรื่องจริง เด็กก็ไม่ควรถูกสังคมซ้ำเติม แม้เวลาผ่านไปข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้หายจากโลกโซเชียล แค่โพสต์ชื่อเด็กข้อมูลก็ขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้จะตามหลอกหลอนและมีผลให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า ไม่กล้าเข้าสังคม และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น หันไปเสพยา หรือหนีออกจากบ้านซ้ำอีก” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย ระบุ

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแจ้งความคนหายก็คือส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าสามารถแจ้งความคนหายได้ บุคคลผู้นั้นต้องหายออกจากบ้านหรือไม่สามารถติดตามตัวได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งเรื่องนี้ นายเอกลักษณ์ ชี้แจงว่า ปัจจุบันระเบียบต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยกรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนซึ่งอายุไม่เกิน 18 ปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าสามารถแจ้งความได้ทันทีที่รู้ว่าเด็กหายตัวไป ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามตัวเด็กซึ่งอาจถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย

และเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่หายออกจากบ้านอันเนื่องมาจากอาการป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมเริ่มมีมากขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น ทางมูลนิธิกระจกเงาจึงได้จัดทำโครงการ “สายรัดข้อมือคิวอาร์โค้ด” ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและโรงพยาบาลต่างๆที่เข้าร่วมโครงการสามารถสแกนข้อมูลจากบาร์โค้ด และติดต่อญาติให้มารับตัวกลับได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ และคาดว่าจะสามารถแจกจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำเสื่อมทั่วประเทศ จำนวน 1,000 ราย ได้ในปลายปีนี้

“ต้องเรียนว่าปัญหาคนหายไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ของสังคม มันทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ตั้งแต่มูลนิธิกระจกเงาก่อตั้งขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปี เราพบว่ามีการแจ้งคนหายเฉพาะที่มูลนิธิของเรารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย ซึ่งการที่คนหายออกจากบ้านจะทำให้สังคมเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เด็กเร่ร่อน คนไร้บ้าน ซึ่งคนเหล่านี้จะถูกชักนำเข้าสู่ธุรกิจมืดต่างๆ เช่น การค้าประเวณี การค้ายาเสพติด ธุรกิจขอทาน รวมถึงปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการป้องกันด้วยการดูแลเอาใจใส่คนที่เรารัก และการช่วยกันสอดส่องดูแลของคนในสังคม จึงย่อมดีกว่าการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าว

18 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2825

 

Preset Colors