02 149 5555 ถึง 60

 

ดัน “ระบบแพทย์ฉุกเฉิน” กับ “แข่งกีฬา” เป็นวาระชาติ สร้างมาตรฐานจัดงาน ลดเสี่ยงเจ็บตาย

ดัน “ระบบแพทย์ฉุกเฉิน” กับ “แข่งกีฬา” เป็นวาระชาติ สร้างมาตรฐานจัดงาน ลดเสี่ยงเจ็บตาย

เผยแพร่: 17 ต.ค. 2561 16:13 ปรับปรุง: 17 ต.ค. 2561 18:43 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สพฉ.ห่วงระบบแพทย์ฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ยังไม่ถูกระบุเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งกีฬา แนะผู้จัดต้องจัดระบบเตรียมพร้อมให้ได้มาตรฐาน คนเล่นต้องตรวจสุขภาพก่อนแข่ง มีโรคหรือไม่ เพื่อรู้ลิมิตตัวเอง ด้านสมาคมฟุตบอลฯ จี้ผลักดันเป็นวาระชาติ เน้นป้องกันบาดเจ็บและตายจากปัญหาหัวใจ

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในงานเสวนา “เล่นกีฬาปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและเสียชีวิต ป้องกันได้อย่างไร” ว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเล่นกีฬา มาจากหลายสาเหตุหลายปัจจัย เช่น หักโหมเล่นกีฬามากเกินไป ขาดการตรวจสอบความพร้อมของร่างกายก่อนเล่น เช่น การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การวัดความดันโลหิต เรื่องนี้ ทำให้ สพฉ. เล็งเห็นถึงการเตรียมความพร้อม ป้องกันการเกิดเหตุ และตอบโต้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนี้เห็นได้ชัดว่า การจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ช่วยชีวิตในสนามกีฬา หรือการจัดการแข่งขันกีฬา ยังไม่ถูกระบุให้เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น จึงเห็นควรว่าต้องมีการจัดระบบที่ดี ที่สำคัญต้องสร้างความรู้ใหม่ รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันมากยิ่งขึ้น

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพบ่อยครั้ง ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้น การดูแลตนเองให้มีความพร้อมก่อนออกกำลังกาย การจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ภาคสนามให้พร้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดย สพฉ. ได้เร่งพัฒนาหลักสูตรทั้งระดับเบื้องต้น ขั้นสูง และเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินในกีฬาแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสม พร้อมเน้นย้ำการเตรียมความพร้อม เครื่อง AED เพราะจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากขึ้น

น.อ.(พิเศษ) ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการแพทย์ฉุกเฉินกับการกีฬา ควรต้องผลักดันให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้รัฐสนับสนุนให้คนเล่นกีฬา โดยสามารถนำแผน Football Model มา ประยุกต์ใช้กับกีฬาประเภทอื่นๆ ได้ด้วย หลักๆ คือ เรื่องของการป้องกันการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากปัญหาเรื่องหัวใจ เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นนักฟุตบอลเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ ควรสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ทางแพทย์ เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกาย สอนเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บ การรักษาการบาดเจ็บ จะทำอย่างไรจึงจะกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมได้เร็วที่สุด และที่สำคัญคือ ควรตรวจร่างกายนักกีฬาก่อนทำการแข่งขัน ส่วนกรณีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ต้องมีมาตรการที่พร้อมจะรับมือ เช่น เข้าไปสนามแข่งทันที ไม่ต้องขอกรรมการ การจอดรถต้องไม่กีดขวางรถฉุกเฉิน และทีมต้องพร้อมเสมอ

นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาเคยมีประสบการณ์จัดกิจกรรมวิ่งมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะมีทีมแพทย์ดูแลทุกคนที่วิ่งตลอดเส้นทาง และคนวิ่งจะต้องอยู่ในสายตาของผู้จัดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซอกหลืบตรงไหน จะต้องมองเห็นผู้วิ่งทุกคน และเครื่อง AED ต้องไปถึงภายใน 4 นาที หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยที่มหาวิทยาลัยจะมีเครื่องติดตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ มีนักศึกษาขี่จักรยานเข้าไปนำอุปกรณ์ และช่วยเหลือได้ง่าย สิ่งสำคัญที่จะป้องกันเหตุฉุกเฉิน คือ นักกีฬาควรดูแลตัวเองก่อน เช่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวหรือไม่ ต้องรู้จักลิมิตและความฟิตของตัวเอง ทำร่างกายให้เหมาะสมกับประเภทของกีฬา แต่งกายให้เหมาะสมกับการเล่นกีฬา ส่วนผู้จัดงานเองการต้องมีความพร้อม เตรียมทีมแพทย์ไว้ให้พร้อมจัดให้ได้มาตรฐาน เช่น การจัดงานวิ่งต้องมีน้ำเตรียมไว้เพียงพอ เพราะนักกีฬาวิ่งจะเสียเหงื่อมาก

นายวิษณุ ไล่ชะพิษ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า การจัดการแข่งขันกีฬา ผู้จัดต้องมีการเตรียมการเรื่องการดูแลกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่ง กกท.จะเน้นการเตรียมการของผู้จัดกีฬาเป็นพิเศษ เช่น การจัดกีฬาเยาวชนจะจัดในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อน ดังนั้น ต้องปรับเวลาให้พร้อมในการแข่งขัน หรือการวิ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดวิ่งปีละ 600-700 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Sport Tourism ซึ่งก็ต้องเตรียมดูแลเรื่องการบาดเจ็บที่ฉุกเฉินด้วย โดยเราจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจะได้รับความปลอดภัยในการเล่นกีฬาให้มากที่สุด

18 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 475

 

Preset Colors