02 149 5555 ถึง 60

 

เหล้าปัจจัยทำเกิดความรุนแรงทางเพศ 60% เป็นเด็กเยาวชน-ภัยจากคนใกล้ตัว

เหล้าปัจจัยทำเกิดความรุนแรงทางเพศ 60% เป็นเด็กเยาวชน-ภัยจากคนใกล้ตัว

เผยแพร่: 18 ต.ค. 2561 12:55 ปรับปรุง: 18 ต.ค. 2561 13:05 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเปิดสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศ ปี 60 ความรุนแรงทางเพศยังพุ่ง เกินครึ่งเป็นข่าวข่มขืน เกิดจากคนใกล้ตัว-ครอบครัว ร้อยละ 60.6 เป็นเยาวชนอายุ 5-20 ปี เผยเหล้าเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศ ปิด

วันนี้(18 ต.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสิรินยา (ซินดี้) บิชอพ ผู้ก่อตั้แคมเปญ #donttellmehowtodress และ #tellmentorespect จัดเวทีเสวนา “ข่มขืน...ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน” พร้อมเปิดข้อมูลสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560

โดย น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 ของหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงฯ ทั้งหมด 317 ข่าว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย สำหรับปัจจัยกระตุ้น พบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึง ร้อยละ 31.1 คิดเป็น 1 ใน 3โดยประมาณ รองลงมา การอ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 28 การใช้สารเสพติด ร้อยละ 16.3 และต้องการชิงทรัพย์ ร้อยละ 11.7

ส่วนอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่ง ร้อยละ 60.6 ยังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี รองลงมา ร้อยละ 30.9 อายุ 41-60 ปี สำหรับอาชีพของผู้ถูกกระทำ อันดับหนึ่ง เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือลูกจ้าง ร้อยละ 21.6 ค้าขาย ร้อยละ 5.2 และเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ร้อยละ 4.2

ส่วนสถานที่เกิดเหตุ พบว่า เกิดในที่พักของผู้ถูกกระทำฯ รองลงเกิดในที่พักของผู้กระทำ และเกิดเหตุในที่เปลี่ยว/ถนนเปลี่ยว ส่วนพื้นที่เกิดเหตุอันดับหนึ่งคือ กรุงเทพฯ ร้อยละ 17.4 รองลงมา จ.ชลบุรี ร้อยละ 7.6 จ.สมุทรปราการร้อยละ 6.8 จ.ปทุมธานี ร้อยละ 5.2 และ จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 4.9

น.ส.จรีย์ กล่าวต่อไปว่า ที่น่าสลดคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุด คือ เด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และอายุมากสุด คือ อายุ 90 ปีถูกข่มขืน อายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี ความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวกว่า ร้อยละ 53 รองลงมา เป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 38.2 และถูกกระทำจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ร้อยละ 8.8 โดยกรณีความสัมพันธ์ที่เป็นคนใกล้ชิด/คนรู้จักคุ้นเคยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีข่าวที่ผู้กระทำฯ มักอาศัยความไว้ใจเชื่อใจ ล่อลวงกระทำการข่มขืน ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ คือ หวาดผวา/ระแวง/กลัว ร้อยละ 26.1 ที่น่าห่วงคือ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง/ยาวนาน ร้อยละ 12.8 ถูกขู่ฆ่าหากขัดขืน/ข่มขู่ห้ามบอกใคร ร้อยละ 12.7 ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส ร้อยละ 12

"หลายเคสที่เกิดขึ้น ถูกกระทำจากคนใกล้ตัวซี่งผู้ถูกกระทำไว้วางใจ อาทิ แฟนเก่า ญาติ เพื่อนร่วมงาน ปีที่ผ่านมูลนิธิฯมีเคสที่ถูกส่งต่อมาดูแลประมาณ 14 เคส ส่วนใหญ่อายุ 18-25 ปีและยังพบว่าในปีที่ผ่านมายังพบว่ามีกรณีกลุ่มชายวันทำงานถูกกระทำความรุนแรงางเพศมีเพิ่มขึ้น โดยมีเคสหนึ่งถูกกระทำความรุนแรงฯที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จึงเป็นข้อสังเกตว่าในหลายเหตุการณ์ก็เกิดในพื่นที่ที่ควรจะเป็นที่ปลอดภัย ทั้งโรงพยาบาล วัด กุฏิพระ เป็นต้น และยังพบด้วยผู้ถูกกระทำถูกกระทำซ้ำเป็นระยะเวลานาน ซี่งครอบครัวไม่สังเกตเห็น อีกทั้ง ความรุนแรงทางเพศไม่ได้ส่งผลเพียงร่างกาย ยังส่งผลต่อจิตใจและกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ถูกกระทำและครอบครัว"น.ส.จรีย์ กล่าว

น.ส.จรีย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ครอบครัวควรให้กำลังใจ ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ และควรสร้างความคิดที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ถูกกระทำแทนภาพเชิงลบ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อลดความหวาดกลัว สิ้นหวัง แต่กล้าเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ควรมีหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในระดับโรงเรียนให้เคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง บุคคลในหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ควรมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ละเอียดอ่อน ไม่กระทำซ้ำผู้ถูกกระทำหรือจัดการปัญหาด้วยการมองว่าเป็นปัญหาของผู้หญิง อีกทั้งในระบบการเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ต้องดูแลแบบต่อเนื่อง เน้นการทำงานกับพลังภายในของผู้ถูกกระทำด้วย เพื่อทำให้เห็นคุณค่าภายใน เห็นศักยภาพความสามารถของตนเองเพราะการข่มขืนไม่ได้เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ทำลายคุณค่าภายในอีกด้วย

ขณะที่ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การข่มขืนเป็นความรุนแรงทางเพศที่คุกคามความเป็นมนุษย์ผู้ถูกกระทำอย่างที่สุด แต่สังคมไทยกลับไม่จริงจังกับเรื่องการเรียกร้องความรับผิดชอบทางเพศในมิตินี้จากผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะปล่อยให้ผู้ชายลอยนวล ขณะเดียวกันกลับเข้มงวดกดดัน ตีเส้น ตีกรอบ และเรียกร้องการดูแลตัวเองจากผู้หญิง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่หลงทางมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ที่ผ่านมาบ้านกาญฯ ได้ทำกระบวนการกลุ่ม มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ที่เราเรียกว่า “วิชาชีวิต”เปลี่ยนระบบความคิดที่มีผลต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางเพศอย่างต่อเนื่อง สามารถจับต้องได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายมูลนิธิที่ทำงานลักษณะนี้ ที่ช่วยทำให้เกิดอำนาจต่อรองแก่ผู้ถูกกระทำ แต่จะแก้ทีละเคสคงไม่พอ ต้องทำงานคู่ขนานด้วยการสะสมองค์ความรู้ ทำให้อีกมุมของสถานการณ์โดยเฉพาะผู้กระทำบางกลุ่ม ที่มีการอนุโลมให้กับบางพฤติกรรมของเพศชายที่เป็นระเบิดเวลา จะต้องทำให้ความรับผิดชอบผิดชอบทางเพศเป็นสิ่งที่เขาต้องมี ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธิคิดของเพศชาย วิธีคิดการเลี้ยงดูของครอบครัว รวมถึงสถาบันการศึกษายังไม่แตะเรื่องเหล่านี้มากนัก

รศ.อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สภาวะทางจิตใจ การรับรู้จะค่อยๆเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต หลายรายต้องสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกผิดโทษตัวเอง สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะอาย ไม่กล้าเปิดเผย เก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ทำให้ผู้กระทำย่ามใจเกิดการกระทำซ้ำ ทั้งนี้ ต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด เกิดการเปลี่ยนรากฐานทัศนคติ หยุดการใช้อำนาจ และไม่มองผู้หญิงเป็นวัตถุสิ่งของ ส่วนผู้เสียหายต้องได้รับทางเลือกที่เหมาะสม มีระบบดูแลผู้ถูกกระทำที่ชัดเจน คือ ให้บริการที่เป็นมิตรในรายบุคคล ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจนำพลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา มีทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เพียงพอ

18 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2222

 

Preset Colors