02 149 5555 ถึง 60

 

สลดสังคมไทย ความรุนแรงทางเพศยังพุ่ง เหล้าปัจจัยกระตุ้นสำคัญ

สลดสังคมไทย ความรุนแรงทางเพศยังพุ่ง เหล้าปัจจัยกระตุ้นสำคัญ

วันที่ 18 ตุลาคม ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ในเวทีเสวนา “ข่มขืน…ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สิรินยา บิชอพ (ซินดี้) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

นส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 จากหนังสือพิมพ์13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงฯ ทั้งหมด 317 ข่าว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย สำหรับปัจจัยกระตุ้น พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึง ร้อยละ 31.1 รองลงมา อ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 28 การใช้สารเสพติด ร้อยละ16.3 และต้องการชิงทรัพย์ ร้อยละ 11.7 อายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่ง หรือร้อยละ 60.6 ยังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี รองลงมา อายุ 41-60 ปี ร้อยละ 30.9 ผู้ถูกกระทำ เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือลูกจ้าง ร้อยละ 21.6 ค้าขาย ร้อยละ 5.2 และเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ร้อยละ 4.2 ส่วนสถานที่เกิดเหตุเกิดในที่พักของผู้ถูกกระทำฯ และเกิดเหตุในที่เปลี่ยว/ถนนเปลี่ยว ที่น่าสลดคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุดคือ เด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และอายุมากสุดคือ อายุ 90 ปีถูกข่มขืน ส่วนอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี ส่วนใหญ่ผู้กระทำความรุนแรง เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมา เป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 38.2 และถูกกระทำจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ร้อยละ 8.8

นส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัญหาการเกิดความรุนแรงส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 28.4 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายดื่มสูงกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของครัวเรือน

รศ.อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า จากสถิติพบผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการของตำรวจมีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการเฝ้าระวังพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สภาวะทางจิตใจ การรับรู้จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต หลายรายต้องสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกผิดโทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองตลอดเวลา มีทัศนคติที่ไม่ดีในการสร้างครอบครัวและการมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะอาย เก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ทำให้ผู้กระทำย่ามใจเกิดการกระทำซ้ำ ดังนั้นต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด ผู้เสียหายต้องได้รับทางเลือกที่เหมาะสม มีระบบดูแลผู้ถูกกระทำที่ชัดเจน คือ ให้บริการที่เป็นมิตรในรายบุคคล ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจนำพลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา มีทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เพียงพอ และต้องมีบริการองค์รวม เช่น ปัจจัยสี่ อาชีพ ที่พักพิงชั่วคราวพื้นที่ปลอดภัย

19 October 2561

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 471

 

Preset Colors