02 149 5555 ถึง 60

 

สสส.รณรงค์ไม่ทำร้ายผู้หญิง หลังพบผู้หญิงถูกทำร้าย 7 คน/วัน

สสส.รณรงค์ไม่ทำร้ายผู้หญิง หลังพบผู้หญิงถูกทำร้าย 7 คน/วัน

สสส.- มูลนิธิเพื่อนหญิง ภาคีเครือข่าย ปลุกผู้ชายแถวหน้า รณรงค์ไม่ทำร้ายผู้หญิง เผย สาววัยรุ่นถูกทำรุนแรงจากคู่รักมากสุด ผู้ชายอายุน้อยยิ่งทำรุนแรง ระบุ ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน แจ้งความร้องทุกข์ สูงปีละ 30,000 คน แฉ 5 พฤติกรรมสุดยี้ของผู้ชาย “ด่าทอ-มึนเมาขาดสติ-ไม่ให้เกียรติ-คุกคามทางเพศ-ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง” วอนผู้ชายร่วมสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยให้กับผู้หญิงทุกคน

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่สวนลุมพินี นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานร่วมกับ Mr.Jerome Pons ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) ในกิจกรรม “โครงการ #MenForChange #เราไม่ทำร้ายผู้หญิง ร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี

นางภรณี กล่าวว่า ผลการสำรวจความชุกของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยองค์การอนามัยโลกใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะที่อายุระหว่าง 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศโดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในช่วงอายุอื่น โดยความรุนแรงในชีวิตคู่ในลักษณะดังกล่าว พบมากในคู่รักหรือแฟนที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน (cohabiting) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายอายุน้อยมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากกว่า นอกจากนี้ ข้อมูลข่าวในสื่อทุกแขนง พบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ วันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีตัวเลขของผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา และแจ้งความร้องทุกข์ สูงถึงปีละ 30,000 คน ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงมีปัจจัยร่วมจากเหล้า เครื่องดื่มมึนเมา สารเสพติด สื่อลามก พื้นฐานจากครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในสังคม

“การแก้ปัญหา สสส.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานวิชาการ การทำงานในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างระบบในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว รวมถึงสนับสนุนกระบวนการสื่อสารสาธารณะร่วมกันหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อปรับทัศนคติของสังคมต่อการ “ไม่เพิกเฉย” ต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรง “เป็นเรื่องของคนอื่น” ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงจึงไม่ใช่การที่ผู้หญิงต้องปกป้องตนเองได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจและปรับฐานคิดให้ผู้ชายเรียนรู้ในการเคารพ ให้เกียรติ และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิง ในเพศสภาพของความเป็น มนุษย์ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน” นางภรณี กล่าว

ขณะที่ นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจศึกษาพฤติกรรมของผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง จากกลุ่มผู้หญิงที่เข้ารับบริการคำปรึกษา เพื่อขอให้มีการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน และขอบ้านพักพิงชั่วคราวของมูลนิธิเพื่อนหญิง จากหน้าเพจมูลนิธิเพื่อนหญิง จำนวน 1,564 คน และจากการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ผู้หญิงอีก จำนวน 513 คน ประจำปี 2560-2561 พบว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่เป็นเจ้าของ มีอำนาจเหนือกว่า และใช้ความรุนแรง ด่าทอ ทุบตี ทำร้าย แย่งลูก คุกคามละเมิดทางเพศ ทำให้ทุกข์ทรมาน เจ็บปวดทางจิตใจ บั่นทอนศักยภาพ เพื่อควบคุมผู้หญิง ส่งผลต่อสุขภาพจิต การเจ็บป่วย การเสียชีวิต และการฆ่าตัวตายของผู้หญิง โดยพฤติกรรมที่พบมากเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 85 ชอบด่าทอ เหยียดเพศ ทุบตีทำร้าย อันดับ 2 ร้อยละ 75 มีพฤติกรรมชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพติดสารเสพติด สูบบุหรี่ อันดับ 3 ร้อยละ 32 ไม่ยอมเลิกรา ผู้หญิงอยากหย่า ตามราวีคุกคามข่มขู่ อันดับ 4 ร้อยละ 28 ผู้หญิงร้องทุกข์ พฤติกรรมของผู้ชายในที่ทำงาน มีพฤติกรรม ชอบแอบส่องภาพผู้หญิงแต่งตัวหวิว อันดับ 5 ร้อยละ 21 ของผู้หญิงเจอหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เป็นพวก หมาหยอกไก่ และมักหาโอกาส ลวนลามทั้งในที่ลับและที่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจ และปรับฐานคิด รณรงค์ผ่านกลุ่มผู้ชายแถวหน้าไปยังกลุ่มผู้ชายในเมืองและชนบท ได้เรียนรู้ เข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอยู่ร่วมกับผู้หญิงด้วยการเคารพ ให้เกียรติ ไม่ทำร้าย ใช้ความรุนแรง ละเมิด หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยให้กับผู้หญิงทุกคน

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรม “Men Walk-#MenForChange #เราไม่ทำร้ายผู้หญิง ร่วมสร้างสังคมปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” นำขบวนโดย แคทรียา อิงลิช, เฟิร์น-นพจิรา, หนิง-ปณิตา, ฟิล์ม-ธนภัทร และจัดเสวนา#MenTalk เสวนากับผู้ชายแถวหน้า “#เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” โดยกลุ่มผู้ชายที่มีบทบาทในสังคมทุกแวดวงวิชาชีพ อาทิ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม คุณจรณ โสรัตน์ (ท๊อป) ศิลปิน/นักแสดง ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวพูดคุย #MenForChange #เราไม่ทำร้ายผู้หญิง

29 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2488

 

Preset Colors