02 149 5555 ถึง 60

 

เลี้ยงลูกให้ฉลาดตามทฤษฎี Bloom’s Taxonomy

เลี้ยงลูกให้ฉลาดตามทฤษฎี Bloom’s Taxonomy

เผยแพร่: 28 ต.ค. 2561 06:57 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปัจจุบันมีทฤษฎีมากมายหลายทฤษฎีที่นำมาใช้ในการสอนเด็กให้ฉลาดพร้อมในทุกๆด้าน หนึ่งในทฤษฎีต่างๆเหล่านั้นที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือทฤษฎีของบลูม (Benjamin Bloom) หรือ Bloom’s Taxonomy

ทฤษฎีของบลูม (Bloom’s Taxonomy) แบ่งความสามารถในการเรียนรู้ได้ 6 ระดับ คือ

1. ความรู้ (Knowledge) คือ ความสามารถในการแยกแยะและจดจำสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้มา ซึ่งสามารถนำสิ่งที่จดจำนั้นมาใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ

2. ความเข้าใจ (Comprehension) คือ ความสามารถในการเข้าใจและหยั่งรู้ โดยสามารถนำความเข้าใจนั้นไปขยายความและตีความต่อไปได้

3. การประยุกต์ใช้ (Application) คือ ความสามารถในการนำความรู้จากสิ่งที่เรียนมาในบทเรียนหรือทฤษฎีต่างๆไปใช้ได้ในชีวิตจริง

4. การวิเคราะห์ (Analysis) คือ ความสามารถในการแยกแยะความรู้ความเข้าใจออกเป็นส่วนๆ และสามารถอธิบายได้ว่าแต่ละส่วนมีความหมายและความสำคัญอย่างไร

5. การสังเคราะห์ (Synthesis) คือ ความสามารถในการนำเอาความรู้ส่วนย่อยต่างๆมารวบรวมไว้ด้วยกันแล้วเกิดเป็นความรู้ใหม่ที่สมบูรณ์มากขึ้น

6. การประเมินค่า (Evaluation) คือ ความสามารถในการวินิจฉัยและตีค่าโดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม

จากความสามารถในการเรียนรู้ทั้ง 6 ด้านนี้ สามารถนำมาจำแนกออกเป็นพฤติกรรมในการเรียนรู้ที่ทุกคนจะต้องมี เพื่อนำไปสู่การประสบความสำเร็จ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน โดยแต่ละด้านจะไล่ระดับทักษะและความสามารถในการเรียนรู้จากต่ำสุดไปถึงสูงสุด ดังนี้

1. พฤติกรรมด้านการคิด ความรู้ความเข้าใจ(Cognitive domain)

เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดในการรู้ คิดและเข้าใจในเรื่องต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ พฤติกรรมด้านนี้คือการนำเอาความสามารถในการเรียนรู้ 6 ด้านข้างต้นมาอธิบายว่าความฉลาดเริ่มจากการ 1.ได้รับความรู้และจดจำเอาความรู้นั้นเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป 2.ใช้ความสามารถในการเข้าใจเรื่องราวต่างๆนำมาตีความหรือขยายความเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น 3.นำความรู้และความเข้าใจที่ได้รับมานั้นนำมาปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.คิดวิเคราะห์โดยแยกองค์ประกอบความรู้ออกเป็นส่วนๆเพื่อให้เข้าใจในเรื่องนั้นๆมากขึ้นในทุกส่วน 5.เมื่อเข้าใจในส่วนที่แยกออกมาแล้ว นำความรู้ทุกส่วนนั้นมารวมกันเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ 6.สรุปหาคุณค่าของความรู้ที่ได้รับมานั้นออกมาเป็นรูปธรรม

การนำมาปรับใช้ในการสอนลูก

ตัวอย่าง : แต่งนิทานสั้นๆแล้วเล่าให้ลูกฟัง ระหว่างที่กำลังเล่า ให้ลูกช่วยแต่งนิทานต่อไปโดยให้ลูกเป็นคนคิดเนื้อหา หรือให้ลูกลองคิดว่าเนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป คุณพ่อคุณแม่อาจจะสร้างสถานการณ์ที่เป็นปัญหาบางอย่างในนิทานเพื่อให้ลูกลองคิดหาทางแก้ไขปัญหา โดยอาจให้ลูกได้เขียนออกมาเป็น Mind Map หรือวาดเป็นภาพด้วยก็ได้ แล้วนำสถานการณ์ในนิทานมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในชีวิตจริงว่าหากเกิดปัญหาเช่นนี้ในชีวิตจริงลูกจะทำอย่างไร หรือให้ลูกได้คิดว่าหากไม่อยากให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ในชีวิตจริงควรจะต้องทำอย่างไร ซึ่งจากตัวอย่างนี้ทำให้ลูกสามารถใช้ทักษะด้านการคิด ความรู้และความเข้าใจได้อย่างเต็มที่

2. พฤติกรรมด้านอารมณ์ความรู้สึก (Affective domain)

เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ การตอบสนอง การยอมรับหรือปฏิเสธ พฤติกรรมด้านนี้เริ่มจาก 1.การรับรู้ คือเมื่อได้ประสบหรือสัมผัสกับเหตุการณ์อย่างใดๆก็จะมีการแสดงความรู้สึกออกมาในรูปแบบต่างๆ 2. การตอบสนอง สามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น มีการติดตาม เชื่อฟัง ให้คำแนะนำ เข้าไปมีส่วนร่วม แสดงความชื่นชม 3. การเกิดค่านิยม คือ การยอมรับในคุณค่าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดและแสดงออกมาในรูปแบบของการให้การสนับสนุนในสิ่งนั้น 4. การจัดระบบ คือการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเข้ากันได้กับค่านิยมหรือไม่ ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดถือต่อไป แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็พยายามปรับให้พอที่จะยอมรับได้ 5) บุคลิกภาพ คือการนำค่านิยมมายึดถือเป็นนิสัยประจำตัว

การนำมาปรับใช้ในการสอนลูก

ควรสอนลูกให้เรียนรู้และยอมรับในความเหมือนและความแตกต่าง การเห็นคุณค่าและชื่นชมคุณค่าของสิ่งต่างๆ ทั้งตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม สอนลูกให้เชื่อมั่นในตัวเองเมื่อต้องทำสิ่งใดโดยลำพังแต่ให้เคารพผู้อื่นเมื่อต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ฝึกลูกให้คิดนอกกรอบ ไตร่ตรองความรู้สึกและคิดเท่าทันอารมณ์ของตนเอง และนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆในชีวิตจริง

3. พฤติกรรมด้านการรับรู้ทางร่างกายและระบบประสาท (Psychomotor domain)

เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความสามารถในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่วหรือมีทักษะที่ดีจนเชี่ยวชาญ โดยแสดงออกมาเป็นคุณภาพของงานพฤติกรรมด้านนี้ประกอบด้วย 1.การรับรู้ คือการสอนให้รู้ถึงหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง 2.การลงมือปฏิบัติ คือการให้ฝึกฝนและทำซ้ำจนเกิดเป็นทักษะที่ดีและเป็นทักษะที่ผู้เรียนสนใจ 3. ความถูกต้องแม่นยำ คือเมื่อพยายามฝึกฝนและทำซ้ำๆแล้วผู้เรียนจะค้นพบว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 4. ความต่อเนื่องในการปฏิบัติ คือเมื่อปฏิบัติสิ่งใดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอแล้ว ก็จะทำให้เกิดความชำนาญจนสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็วและถูกต้อง 5. ความเป็นธรรมชาติคือเมื่อฝึกฝนและปฏิบัติสิ่งใดอย่างต่อเนื่องก็จะทำสิ่งนั้นได้อย่างเป็นธรรมชาติและนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆขึ้นได้ด้วย

การนำมาปรับใช้ในการสอนลูก

ตามปกติของเด็กมักเรียนรู้จากการลอกเลียนแบบและทำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นอย่างซ้ำๆ และเมื่อทำซ้ำๆจนทำได้อย่างดีและคล่องแคล่วแล้วก็จะมีการเรียนรู้ที่จะพัฒนาไปทำสิ่งต่างๆที่ยากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถให้คำแนะนำกับลูกได้ตลอดเวลาในช่วงที่ลูกฝึกฝนทำสิ่งต่างๆ นอกจากนี้เด็กๆสามารถเรียนรู้ในการนำสิ่งต่างๆรอบตัวมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สร้างกิจกรรมให้ลูกได้ฝึกในเรื่องของการพัฒนาสิ่งใหม่ๆได้ อย่างเช่นให้ลูกออกแบบและทำบ้านสุนัขว่าลูกสามารถจะนำสิ่งใดมาใช้ได้บ้าง โดยหากลูกจะใช้วัสดุเป็นขวดพลาสติก ลุกต้องไปหาขวดพลาสติกมาให้เพียงพอ และนำมาล้างจนกว่าจะสะอาด เช็ดให้แห้ง ตัดขวดตามแบบที่วางไว้ นำมาต่อติดกันจนออกมาเป็นบ้านสุนัขตามที่ตั้งใจไว้หรืออาจจะได้แบบใหม่ๆขึ้นมาจากการพัฒนาความคิดก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นวิธีที่ได้ฝึกทั้งการใช้ความคิด การวางแผน การทำซ้ำๆจนคล่องแคล่ว การทำต่อเนื่องจนสำเร็จ และมีผลงานออกมาตามความชอบและความพอใจ

ทฤษฎีของบลูม (Bloom’s Taxonomy) เป็นทฤษฎีที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์และร่างกาย ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงลูกก็จะทำให้ลูกฉลาด มีภาวะทางอารมณ์ที่ดี มีความสุขและประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

29 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1772

 

Preset Colors