02 149 5555 ถึง 60

 

ร้องปลดล็อก กม.สุขภาพจิต "เด็กอายุต่ำกว่า18ปี" พบหมอเองได้

ร้องปลดล็อก กม.สุขภาพจิต "เด็กอายุต่ำกว่า18ปี" พบหมอเองได้

กลุ่มเยาวชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.สุขภาพจิตเปิดทางให้เด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ตัดสินใจเข้ารับการรักษาเองได้ โดยไม่ต้องผ่านการยินยอมจากผู้ปกครอง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เกิดเป็นข้อเรียกร้องจากเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นว่ากฎหมายบางข้ออาจไม่ยุติธรรมกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อการรักษาอาการป่วยทางจิตเวช สาเหตุล้วนมาจากหลายปัจจัย ซึ่งข้อเรียกร้องสำคัญจากเยาวชนต้องการให้ทบทวนแก้ไข คือขอให้พิจารณาแก้ไขมาตรา 21 วรรค 3 ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เพื่อให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี สามารถตัดสินใจเข้ารับการบำบัดรักษาทางด้านสุขภาพจิตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านการยินยอมจากผู้ปกครอง

สหัสวรรษ สิงห์ลี โฆษกสภาเด็กและเยาวชน กทม. ย้อนเล่าจุดเริ่มต้นการลุกขึ้นมาเรียกร้องขอให้มีการทบทวนข้อกฎหมายในประเด็นข้างต้นว่า เนื่องจากมีคนรู้จักพยายามกินยาฆ่าตัวตายต้องการเข้ารับการรักษากับแพทย์ โดยไม่แจ้งให้พ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้เพราะกลัว ปรากฏว่าเด็กคนนั้นไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวเองได้ เนื่องจากไม่มีการเซ็นอนุญาต เลยกลายเป็นปัญหาที่เรามานั่งพูดคุยกันเพื่อหาทางออกตรงประเด็นนี้

“ที่ผ่านมาเรามองข้ามปัญหานี้มาตลอด ไม่เคยสนใจ ไม่คิดว่ากลายเป็นสิ่งสำคัญ มุ่งแต่มองเรื่องปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ปัญหาการแตกแยกในครอบครัว แรงงาน ฯลฯ แต่พอมีการถามถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิตปรากฏว่ามีหลายคนประสบปัญหาเยอะมาก จึงไปสู่จุดเริ่มต้นต้องการรณรงค์ขึ้นมา”

สหัสวรรษ ระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องที่เรามีความหวังและอยากให้ผู้ใหญ่พิจารณาทบทวนแก้ไขมากที่สุดคือ ต้องการให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเซ็นอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะปัจจุบันถ้าไม่มีการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครองก็ไม่สามารถรับการรักษาได้ เพื่อให้เพื่อนวัยรุ่นอีกหลายคนสามารถเข้าถึงโอกาสในส่วนนี้ได้

ต้นตอปัญหาบางกรณีเกิดมาจากในครอบครัว จึงเหมือนการถูกซ้ำเติมจากคนในครอบครัวอีก อีกทั้งยังเหมือนกับการตีตราคนในครอบครัว และไม่มีใครต้องการให้ลูกหลานตัวเองนำใบผู้ป่วยจิตเวชไปหาหมอ อีกทั้งยังเกรงว่าอาจถูกตีตราจากสังคม ทั้งนี้ถ้าหากบางกรณีเห็นด้วยยินยอมถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงโอกาสด้วย

“ทุกปัญหาเกิดขึ้นกับเด็กและมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าจำนวนมาก ปัจจุบันเด็กคิดฆ่าตัวตายเพิ่มเยอะขึ้นมา ทั้งนี้ปัญหาก็มาจากสื่อโซเชียล ครอบครัว ฯลฯ ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กช่วงวัย 15-16 ปี และส่วนใหญ่อยู่เขตเมืองที่ป่วย สาเหตุมาจากแรงกดดันจากครอบครัว การเรียน ความรัก เป็นต้น ยอมรับการมีผู้ปกครองเซ็นรับรองดี แต่ก่อนที่จะเซ็นอนุญาตอยากให้เด็กเข้ารับการรักษาก่อน ส่วนขั้นตอนต่อจะทำอย่างไรคงต้องมาวางแผนกันอีกครั้ง เชื่อหมอที่รักษามีทางพูดคุยกับเด็กอย่างดีแน่นอน”

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กรมสุขภาพจิต กลับมองว่าปกติเด็กที่เข้ามารักษาทางโรงพยาบาลจะให้คำแนะนำ ปรึกษาอยู่แล้ว เบื้องต้นเป็นการพูดคุยกันมากกว่า แต่ถ้าถึงขั้นทำบำบัด วินิจฉัยโรค จ่ายยา ส่วนนี้จะต้องมีผู้ปกครองรับทราบ เนื่องจากต้องมีการเปิดแฟ้ม มีเลขโรงพยาบาล ต้องจ่ายยา ยกเว้นกรณีเด็กอยู่ในภาวะอันตราย เช่น การทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น เหมือนกับคนไข้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินพิเศษ ก่อนจะติดต่อญาติให้รับทราบ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องรอให้ใครเป็นผู้เซ็นรับรองได้ แต่จะเป็นกรณียกเว้นไป

“ส่วนใหญ่เด็กที่เข้ามารับการรักษาจะมีลักษณะอาการวิตกและซึมเศร้าเยอะที่สุด ปัจจัยหลักมาจากเรื่องครอบครัว เพื่อนและการเรียน ส่วนเรื่องความรักถือว่าน้อย ผู้เข้ารับการปรึกษามักอยู่ในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายเฉลี่ยอายุ 15 ปีขึ้นไป แน่นอนว่าทุกโรงพยาบาลไม่มีที่ไหนปิดกั้นการรักษาผู้ป่วยแน่นอน เพียงแต่จะให้คำแนะนำก่อน หากแต่ถ้าผู้ป่วยรายใดต้องเข้ารับการรักษาก็ต้องมีผู้ปกครองรับรองยินยอมด้วย เนื่องจากผู้ปกครองบางท่านอาจกังวลว่าลูกไม่ได้มีอาการอะไร แต่หมอทำไมมีสิทธิมาจ่ายยา”

พญ.วิมลรัตน์ สาธยายเสริมว่า หากผู้ป่วยคนใดมีอาการเครียด กังวล อย่าอยู่เฉย เพราะการนิ่งไม่ขยับจะทำให้เกิดความคิดวนเวียนอยู่ในหัว ยิ่งทำให้เครียด พยายามหากิจกรรมทำ เช่น ออกกำลัง จะช่วยลดความกังวล ไม่ต้องมานั่งคิดสิ่งใด เมื่อสมองว่างแล้วค่อยมานั่งคิดว่าจะค่อยๆ แก้ปัญหาอย่างไรตามลำดับสำคัญ ถ้าไม่ได้ผลก็ควรพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง อธิบายอาการให้ชัดเจน ซึ่งเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่เด็กหลายคนนำไปใช้สู่ทางออก หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเบอร์ 1323 ได้เช่นกัน

29 October 2561

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 4150

 

Preset Colors