02 149 5555 ถึง 60

 

ชงคุมอายุ 18 ปี เล่น “อี-สปอร์ต” สธ.ห่วงเด็กไทย 2 ล้านคนเสี่ยง “โรคติดเกม” แนะหลักเล่นแต่พอดี

ชงคุมอายุ 18 ปี เล่น “อี-สปอร์ต” สธ.ห่วงเด็กไทย 2 ล้านคนเสี่ยง “โรคติดเกม” แนะหลักเล่นแต่พอดี

เผยแพร่: 31 ต.ค. 2561 11:37 ปรับปรุง: 31 ต.ค. 2561 19:52 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สธ.ร่วม 84 องค์กรประกาศเจตนารมณ์รับมือ “โรคติดเกม” พบเด็กไทยเสี่ยงมากกว่า 2 ล้านคน เสนอคุม “เกม” ส่งผลต่อสมองและพัฒนาการ จ่อหารือมาตรการเล่น “อี-สปอร์ต” ควรกำหนดอายุ 18 ปี พัฒนาทั้งเศรษฐกิจและเด็กไทย แนะแบ่งเกรดสื่อเกม เนื้อหา และเวลา ย้ำ สังคมดิจิทัลมาแรงและเร็ว ต้องตามให้ทัน ต้องสร้างประโยชน์ให้ได้ แนะ 3 ต้อง 3 ไม่ ช่วยเล่นเกมแต่พอดี

วันนี้ (31 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี” ว่า กระแสยุคสังคมดิจิทัลมีความรวดเร็วมาก คงไม่สามารถขัดขวางหรือต่อต้านได้ เหมือนกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางคนอาจสร้างกำแพง แต่คนที่ฉลาดควรสร้างกังหันลมเพื่อนำสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาสร้างประโยชน์แก่สังคมและประเทศไทยมากที่สุด สังคมออนไลน์ สังคมดิจิทัล และสังคมแห่งการเล่นเกมก็เช่นกัน สิ่งที่ทำได้ คือ ร่วมกันติดตามทำให้สิ่งที่ก้าวไปข้างหน้าสร้างความปลอดภัยและสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศและคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เกิดความพอดีหรือทางสายกลาง

“ทุกวันนี้ทุกคนต่างก้มหน้ากันหมด เรียกว่าเกิดขึ้นในทุกครอบครัว ยิ่งยุคนี้การสร้างเกมต่างๆ ให้กลายเป็นการแข่งขัน ยิ่งดึงดูดให้เด็กไทยติดเกมมากขึ้น โดยปัจจุบันเด็กไทยมีความเสี่ยงกว่า 2 ล้านคน สภาพเสี่ยงติดเกมเป็นแสนคน มีการติดเกมจริงเป็นหมื่นคน ทำอย่างไรให้มีการเล่นเกมแต่พอดี ซึ่งจะสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเล่นมากเกินไปจะส่งผลเสียมากมาย โดยการเล่นเกมแต่พอดีต้องไม่ทำให้เสียการเรียน ครอบครัว และสังคม หรือเด็กเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ไม่ได้ เราต้องการเด็กที่เติบโตเป็นคนไทย ทำประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติในวันข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยอาจต้องทำแบบฝรั่งเศสหรือไม่ ที่ห้ามนำมือถือเข้าห้องเรียน” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สธ.และภาคีเครือข่ายกว่า 84 องค์กร ตระหนักว่าสังคมไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเกม ที่ส่งผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการของเด็ก วันนี้จึงได้ประกาศเจตนารมณ์คุ้มครองเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกม โดยดำเนินการต่อไปนี้ 1. ป้องกันและควบคุมการบริโภคเกมที่มีผลต่อสมองพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน 2. สนับสนุนให้มีมาตรการกำกับดูแลการแข่งขันวิดีโอเกม และ อี-สปอร์ต ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม 3. สร้างความตระหนักถึงผลเสียและเรียนรู้การใช้อย่างเหมาะสมแก่เด็ก ครอบครัว และครู และ 4. สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตขึ้นเป็นคนไทย 4.0 ที่มีคุณภาพพัฒนาประเทศและดูแลสังคมต่อไป

“ถ้าไม่สร้างความเหมาะสมจำนวนคนติดเกมจะมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์ทางด้านจิตใจ มุ่งเน้นแต่การเล่นเกม ตรงนี้ต้องช่วยกันทั้งรัฐ เอกชน และครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัว ที่ต้องอาศัยหลัก “3 ต้อง 3 ไม่” ได้แก่ 1. ต้องกำหนดเวลาเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน 2. ต้องตกลงโปรแกรมและเลือกประเภทเกมให้ลูก เช่น เกมบริหารสมอง ลดเกมที่เสี่ยงความก้าวร้าวอย่างการฆ่ากันยิงกัน พ่อแม่ต้องอยู่ด้วย 3. ต้องเล่นกับลูก เพื่อสอนให้คำแนะนำกันได้ ส่วน 3 ไม่ ได้แก่ 1. พ่อแม่ไม่เล่นเป็นตัวอย่างแก่ลูก 2. ไม่เล่นในเวลาครอบครัว เช่น เวลาทานข้าว หรือออกไปเที่ยว ทำให้ความสัมพันธ์ครอบครัวลดลง และ 3. ไม่เล่นในห้องนอน เพราะจะควบคุมการเล่นไม่ได้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

เมื่อถามถึงการควบคุมเกมจะมีการยื่นข้อเสนออะไรต่อหน่วยงานที่ดูแล เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากนี้จะเชิญ 84 องค์กรมาร่วมกันหาแนวทางรณรงค์ที่เหมาะสม อย่าง อี-สปอร์ต เป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย ก็ต้องเล่นให้เหมาะสม เพื่อเศรษฐกิจ และเด็กไทยก็ได้พัฒนาด้วย ไม่ใช่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมผิดปกติ พัฒนาการไม่ดี จึงต้องพัฒนาแบบพอดี วางมาตรการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ จะพยายามดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องและพยายามสื่อสารขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการ เช่น การแบ่งเกรดของสื่อของเกม ลักษณะเนื้อหา ระยะเวลา เพราะการเล่นก็มีการเสียเงินด้วย อย่างเกมอันตรายก็ควรให้เล่นดึกๆ หรือ อี-สปอร์ต หากให้เคร่งครัดก็ควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึงเล่นหรือไม่ ซึ่งทางการกีฬาฯ ก็บอกอยากให้กำหนดอายุที่ 18 ปีเช่นกัน ส่วนวิดีโอเกมทั่วไปที่มีการแข่งขันก็อยากให้เป็นเด็กที่โตไปแล้ว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับอาการติดเกม จะเหมือนคนติดยาเสพติด จะเล่นมากขึ้นทุกวัน ขาดการเล่นไม่ได้ หากไม่ได้เล่นจะเหมือนคนลงแดง หงุดหงิด หากห้ามเล่นก็จะมีอาการ ซึ่งทุกคนสามารถตรวจออนไลน์ประเมินตนเองได้ ว่าการเล่นเกมอยู่ในขั้นใด จุดสังเกตคือมีผลกระทบกิจวัตรประจำวัน ถึงเวลาไม่กิน ไม่นอน เสียการเรียน หรือมีผลกระทบต่อคนอื่น อย่างวันนี้มีการทดสอบพบว่า ผู้หญิง 14% สงสัยติดเกม ผู้ชายอยู่ที่ 7% ซึ่งตัวเลขถือว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คนไข้ที่มาหาจากการติดเกมก็เพิ่มขึ้นมาก เรามีการสำรวจพบประมาณ 15% ในเด็กต่ำกว่า 18 ปี

1 November 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2386

 

Preset Colors