02 149 5555 ถึง 60

 

ปัญหาชวนกุมขมับ สุขภาพเด็กไทย ‘อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ’

ปัญหาชวนกุมขมับ สุขภาพเด็กไทย ‘อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ’

ทิ้งไว้เป็นประเด็นให้ต้องเร่งแก้ไข ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายทั้งกุมารแพทย์ นักกำหนดอาหาร นักวิชาการด้านโภชนาการ และบุคลากรด้านสาธารณสุข ร่วมนำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลโภชนาการช่วงแรกของชีวิต ชี้ว่า…

สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ของเด็กไทย นอกจากปัญหาภาวะโภชนาการเกิน คือ มีจำนวนเด็กอ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ ยังพบว่า ร้อยละ 10.5 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีภาวะเตี้ยปานกลางถึงมาก และร้อยละ 2.6 อยู่ในเกณฑ์เตี้ยมาก

พ.อ.นพ.เรืองวิทย์ ตันติแพทยางกูร กุมารแพทย์โรคโภชนาการเด็ก กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจว่า สาเหตุที่เด็กไทยอยู่ในภาวะเตี้ยมาจากการกินอาหารไม่พอ หรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง

“แม้ความสูงของเด็กเมื่อเติบโตจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมจากแม่และพ่อ แต่การเลี้ยงดูเด็กให้มีโภชนาการที่ดีและสมดุลต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตก็เป็นปัจจัยเสริมให้เด็กไม่ประสบปัญหาภาวะเตี้ย”

ทั้งนี้ มีการเสนอยุทธศาสตร์เพื่อความสูงเต็มศักยภาพของเด็กไทย ประกอบด้วย 1.การลดอัตราการเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อย 2.ป้องกันภาวะเตี้ยจากภาวะโภชนาการไม่เพียงพอแบบเรื้อรัง 3.ส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสมตลอดช่วงวัยเด็ก และ 4.ส่งเสริมสุขนิสัยที่ดีอื่นๆ

สำหรับโภชนาการที่ช่วยส่งเสริมความสูงตั้งแต่วัยเด็ก ได้แก่ โปรตีน และแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ รวมทั้งแร่ธาตุอื่นๆ ด้วยเช่น ฟอสฟอรัส สังกะสี เหล็ก ทองแดง แมงกานีส และวิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค สารอาหารที่กล่าวมานี้มีอยู่ในอาหารห้าหมู่และนม

“คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับโภชนาการที่ดีเต็มที่ เมื่อคลอดลูกควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และคุณแม่ต้องมีโภชนาการที่ดีต่อเนื่องด้วยเพื่อน้ำนมแม่ที่มีคุณภาพ เมื่อถึงวัยหลังหนึ่งขวบที่เด็กกินอาหารได้เหมือนกับคนในครอบครัว การจัดอาหารทุกมื้อต้องมีความหลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารต่างๆ ครบถ้วนสมดุล และควรให้กินนมเป็นอาหารเสริมให้ได้วันละ 2-3 แก้ว”

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ FAO และที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เด็กวัย 1-3 ขวบ มีความต้องการแคลเซียมมาก และนมเป็นแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง

การเลือกนมให้ลูกกินขึ้นอยู่กับความสะดวกของครอบครัว จะเป็นนมที่เติมสารอาหารพวกวิตามินเกลือแร่ก็ดีเพราะมีสารอาหารจำเป็นสำหรับช่วงวัยเด็กครบถ้วน แต่ราคาจะสูงกว่านมทั่วไป หากครอบครัวมีงบประมาณจำกัด ก็ให้เลือกนมอื่นๆ บางคนแพ้นมวัวก็กินนมถั่วเหลืองได้ ปัจจุบันนมถั่วเหลืองก็มีการเติมแคลเซียมและวิตามินต่างๆ เพิ่มเช่นกัน ข้อสำคัญคือการจัดอาหารมื้อหลักให้ลูก ต้องจัดให้กินหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ และกินนมเสริม

“ขอเพิ่มเรื่องการฝึกนิสัยการกินที่ดีให้ลูกด้วย เรื่องนี้สำคัญ เพราะจะเป็นนิสัยเลือกกินเป็นที่จะติดตัวไปจนโต พอเป็นผู้ใหญ่ก็จะเลือกกินและกินเป็น มันมีผลต่อสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต”

กินให้ดีลูกมีความฉลาด

ในประเด็นเรื่องโภชนาการมีผลต่อระดับสติปัญญา รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า สารอาหารที่มีการศึกษาถึงผลที่มีต่อสติปัญญาของเด็ก มี 6 กลุ่มจากอาหาร 5 หมู่และนม 1.โอเมก้า 3 2.วิตามินบี, โฟลิก, โคลีน ช่วยสร้างสมอง ช่วยพัฒนาการด้านภาษา ช่วยเรื่องความจำและความสามารถในการเรียนรู้ 3.สังกะสี ช่วยเรื่องความมีสมาธิจดจ่อ 4.เหล็ก 5.ไอโอดีน สองกลุ่มนี้เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และ 6.วิตามินรวมและเกลือแร่ เป็นตัวแสดงออกด้านสติปัญญาที่ไม่ต้องใช้คำพูด

“โครงสร้างสมอง มีการแบ่งขยายเซลล์ตลอดเวลา ในช่วง 2-3 ขวบโครงสร้างเหล่านี้จะขยายเร็วมาก และจะทำลายตัวเองด้วยถ้าไม่ได้ถูกใช้ สารอาหารที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา ได้แก่ วิตามินบี โคลีน สังกะสี และโอเมก้า 3 โภชนาการกลุ่มนี้ใช้ในการสร้างแขนงเครือข่ายสมองให้เชื่อมต่อ วิตามินรวมและเกลือแร่ต่างๆ ก็มีส่วนส่งเสริมการทำงานของสมองเช่นกัน สารอาหารเหล่านี้ต้องการทำงานร่วมกัน ดังนั้น จะไม่เป็นผลดีถ้าเด็กได้รับการเสริมสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป”

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ระบุว่า มีการศึกษาพบว่า กรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 ได้แก่ EPA และ DHA มีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กจริง ทำให้แม้แต่คณะกรรมการอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้มีการเติม DHA ในอาหารสำหรับเด็ก และจะเห็นว่านมสำหรับเด็กเล็กทุกยี่ห้อก็เติม DHA ลงไปเพราะศึกษาแล้วพบว่ามีผลทำให้ไอคิวดีขึ้น

ตัวอย่างอาหารบำรุงสมองเด็กเล็กที่มีสารอาหารที่กล่าวมา เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ไข่ นม ปลาทะเล หมู ไก่ ตับ กุ้ง แครอต ฟักทอง มะเขือเทศ ถั่วต่างๆ ผักใบเขียว แอปเปิล มะม่วง สับปะรด เป็นต้น

โภชนาการช่วงแรกของชีวิตนั้นสำคัญที่สุด ควรกินอาหาร 5 หมู่และนม โดยกินให้มีความหลากหลายเพื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและสมดุล

6 November 2561

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2771

 

Preset Colors