02 149 5555 ถึง 60

 

“ฝึกสมาธิ”...ช่วยลดโรคทางอารมณ์

“ฝึกสมาธิ”...ช่วยลดโรคทางอารมณ์

“การฝึกสมาธิ” นอกจากทำให้จิตใจสงบร่มเย็นตามความเชื่อของศาสนาพุทธแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคทางอารมณ์ให้กับผู้สูงวัยได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหลักของการทำสมาธิ ที่ช่วยลดการยึดมั่นถือมั่นนั่น จึงทำให้ผู้ปฏิบัติเดินทางสายกลางในทุกๆ เรื่องได้โดยอัตโนมัติ ภายใต้การมีสติระลึกตัวอยู่เสมอ แม่ชีประทิน ขวัญอ่อน นายกสมาคมสถาบันแม่ชีไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการฝึกสมาธิกับคนสูงวัย เพราะเชื่อว่ามีคนหลัก 5 หลัก 6 หลายคนที่อยากฝึกสติ แต่ยังเป็นห่วงเรื่องความฟุ้งซ่านภายในใจ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ไม่สามารถฝึกจิตได้

แม่ชีประทิน ขวัญอ่อน อธิบายว่า “กุศลที่ผู้ฝึกจะได้จากการทำสมาธิ อันดับแรกจะช่วยทำให้เราไม่สร้างเวรสร้างกรรมกับใคร ขณะเดียวกันก็จะทำให้เรามีความสุข และอยู่กับการที่เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งนี้ เราจะมองเห็นว่าผู้อื่นทำอะไรอยู่ โดยที่ตัวเราไม่ได้ประพฤติอย่างนั้น แต่ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่จะฝึกสมาธินั้นจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานสำคัญ รวมถึงต้องรู้ว่าขณะที่จะฝึกจิตมักจะมีเจ้ากรรมนายเวรคอยเป็นมารผจญ ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างที่บอกไว้ คือการลดการ “ยึดติด” ที่มีค่อนข้างสูงในคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะคนสูงวัยที่ยังเป็นห่วงเป็นกังวล เรื่องลูกหลาน สามี และคนรอบข้าง ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่ต้องฝึกสมาธิ เพื่อให้อยู่กับปัจจุบันได้อย่างมีความสุข

ที่สำคัญการฝึกสมาธิยังช่วยลด “โรคทางอารมณ์” เพราะเมื่อใดก็ตามที่จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาต ก็จะลดหายไป เมื่อนั้นโรคภัยที่เป็นโรคประจำตัวก็จะลดลง นั่นจึงทำให้ผู้ปฏิบัติมีสุขภาพดี ที่เริ่มมาจากใจกระทั่งปล่อยออกสู่กายนั่นเอง เพราะว่าร่างกายเป็นที่อยู่ของจิต ถ้าจิตไม่สงบ ร่างกายก็เดือดร้อน แต่ถ้าเมื่อไรที่ถ้าจิตสงบร่มเย็นจากการฝึกสมาธิ ก็จะทำให้กายแข็งแรงโดยอัตโนมัติ และถ้าถามว่าสามารถป้องกันโรคอะไรได้บ้างนั้น คือโรคที่เกี่ยวกับทางอารมณ์ เช่น “โรคเครียด” และ “โรคความดันโลหิตสูง” เป็นต้น แต่คงไม่ใช่โรคร้ายแรงอย่าง “โรคมะเร็ง” ที่อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรักษาตามอาการของโรค

ส่วนรูปแบบของการฝึกสมาธิที่สามารถทำได้แม้กระทั่งอยู่ที่บ้าน ได้แก่ การที่ผู้สูงวัย นั่งสมาธิ หรือ การเดินจงกรม การยืนสมาธิ และ การนอนสมาธิ ซึ่งทำในรูปแบบของการที่เรามีสติ อยู่กับตัวทุกขณะ หรือรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เป็นต้นว่า ขณะที่กำลังนอนทำสมาธิอยู่นั้น เราหายใจเข้า เราก็รู้ว่าตัวเอง กำลังเปล่งวาจาว่า “พุท” ขณะที่เรากำลังหายใจออก ก็รู้ว่าตัวเองท่องคำว่า “โธ” หรือ ขณะที่กำลัง “หายใจสั้น” เราก็รู้ว่าตัวเอง “หายใจสั้น” และเมื่อใดที่เรา “หายใจยาว” เราก็จะรู้ว่าเรา “หายใจยาว” หรือหากไม่ต้องการนั่งทำสมาธิ แต่การทำกิจวัตรประจำวันพร้อมๆ กับ “พิจารณาดูสังขารของตัวเราเองที่ทรุดโทรมลงเมื่อวันคืนเริ่มล่วงไป วันตายก็เข้ามาเยือน” กระทั่งการที่เรานั่งบนเก้าอี้และลุกขึ้นเดิน ซึ่งในระหว่างนั้นให้ผู้สูงอายุรู้ว่าตัวเองกำลังก้าวขาข้างใด เช่น “กำลังก้าวขาข้างขวา ก็รู้ว่าตัวเองกำลังก้าวเท้าขวา” ก็ถือเป็นฝึกสติและทำสมาธิได้เช่นเดียวกัน

แต่สำหรับผู้สูงวัยที่อาจจะมีปัญหาเรื่องของ “ความฟุ้งซ่าน” กระทั่งเป็นกังวลว่าจะฝึกไม่ได้ แม่ชีแนะนำว่า อันที่จริงแล้วทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ และทุกคนสามารถทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอาจจำเป็นต้องค่อยๆ เริ่มทีละนิด และหากอยู่ในขั้นตอนการฝึกครั้งแรกๆ นั้น สามารถฝึกสติในรูปแบบที่แม่ชียกตัวอย่าง โดยเริ่มเพียงวันละ 10 นาที จากนั้นก็ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ และเพิ่มเวลาเป็น 20 นาที กระทั่ง 30 นาที จนสามารถฝึกได้ทั้งเช้า กลางวัน และเย็น สุขภาพก็จะดีทั้งกายและใจค่ะ”.

9 November 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2502

 

Preset Colors