02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์-นักสิทธิเด็ก เตือนอย่าถามซ้ำ ลูกเหยื่อสาวถูกสาดกรด หวั่นจิตใจบอบช้ำ

จิตแพทย์-นักสิทธิเด็ก เตือนอย่าถามซ้ำ ลูกเหยื่อสาวถูกสาดกรด หวั่นจิตใจบอบช้ำ

จากเหตุการณ์สาวถูกสามีสาดน้ำกรดเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยขณะนี้มีการร้องเรียนกรณีโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา เกิดการโต้เถียงกันระหว่างองค์กรผู้ช่วยเหลือ ญาติผู้ตาย กับแพทย์โรงพยาบาล พร้อมกับมีการเรียกร้องให้เด็กหญิงวัย 12 ปี บุตรสาวผู้ตาย เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะพาแม่ส่งโรงพยาบาล ก่อนที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะมีปากเสียงกันขั้นรุนแรง จนเด็กหญิงเกิดอาการตกใจและร้องไห้ออกมา ญาติต้องโอบกอดและปลอบขวัญนั้น

ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา หัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในเรื่องคดีความจะต้องมีการซักถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่วันนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดการโต้เถียงรุนแรง เด็กซึ่งอยู่ในสภาพช็อกจากการสูญเสียแม่ ต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกอาจทำให้เสียขวัญ ตอนนั้นเด็กร้องไห้ ตัวสั่น พูดว่าหนูกลัว เท่าที่เห็นญาติโอบกอดน้องเอาไว้ มีการปลอบประโลม ญาติะต้องทำให้เขารู้สึกไม่เคว้งคว้างขวัญเสีย การโอบกอดจะเป็นการให้พลัง ให้กำลังใจเด็ก เรียกขวัญเด็กกลับมา“ตอนที่แม่บาดเจ็บน้องอาจดูมีสติดีพอควร มีการช่วยเหลือแม่ พามาส่งโรงพยาบาล แต่หลังจากนั้นเมื่อแม่เสียชีวิต มันเป็นช่วงที่ตั้งรับสถานการณ์ไม่ทันจนช็อก ส่งผลต่อจิตใจเด็ก เรื่องสภาพจิตใจนั้น ยิ่งเป็นคดีความก็ต้องมีนักจิตวิทยามาดูแลอยู่แล้ว เพราะน้องเป็นเยาวชน ทั้งยังต้องมีคนที่เด็กวางใจ มีคนใกล้ชิดมาคอยอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลเด็ก เขาต้องไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว ต้องรู้สึกว่ามีที่พึ่งพา หลังจากนี้ญาติต้องดูแลใกล้ชิด คอยพูดคุยด้วยคำพูดเชิงบวก ดึงความสนใจเขาในช่วงที่เขาเศร้าเสียใจ อาจจะพูดคุยในเรื่องอื่นๆ ช่วยให้เขาปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น”

“หากมีการซักถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนของคดีสามารถทำได้ แต่หากจะถามย้ำๆ หรือออกไปเจอคนอื่นๆ แล้วมาพูดจาตอกย้ำให้เล่าเหตุการณ์วันนั้นซ้ำ เป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่สมควรทำ ต้องระวังตรงนี้ด้วย เพราะการเล่าเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำๆ ก็เหมือนมีคนมากดตรงแผลเดิมซ้ำๆ เด็กจะรู้สึกเจ็บปวด อย่ารื้อฟื้นเรื่องของพ่อแม่เด็ก” ดร.จิตรากล่าว

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ตามหลักแล้วเมื่อเกิดเรื่องราวแบบนี้จะต้องมีการซักถามประวัติ เรื่องราวต่างๆ โดยจะต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์อยู่ข้างๆ ระหว่างการบันทึกประวัติอยู่แล้ว ต้องมีการให้ข้อมูลเป็นระบบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคดีความ ไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่กับเด็กหรือไม่ แต่ไม่ควรมีการซักถามเรื่องราวซ้ำๆ ให้กระทบกระเทือนจิตใจเด็กขึ้นอีก

“ระหว่างนี้เด็กจะต้องได้รับการดูแล ต้องรู้สึกปลอดภัย เพราะเขาอาจจะกลัวว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับแม่จะมาเกิดกับเขาอีกหรือไม่ ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินว่าเด็กอยู่กับใครแล้วจะปลอดภัย ใครจะสามารถดูแลเด็กต่อไปได้ ญาติต้องดูแลให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ไม่ควรถามเรื่องราวซ้ำๆ ตอกย้ำเด็ก หรือมีการทะเลาะกันในเรื่องดังกล่าว ควรทำให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตปกติให้เร็วที่สุด เตรียมกลับเข้าโรงเรียนหรือกลับเข้าสู่ชุมชน ไม่ใช่เด็กไปเจอเพื่อนหรือไปเจอใครก็ถูกถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอีก ต้องเตรียมการคนรอบข้างด้วย” พญ.วิมลรัตน์กล่าว

ขณะที่ น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า การพาเด็กที่เพิ่งผ่านการสูญเสีย ผ่านเรื่องกระทบกระเทือนใจ มาเล่าเหตุการณ์ซ้ำๆ มาเจอเหตุการณ์ผู้ใหญ่มีปากเสียงกันเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เรื่องราวเก่าๆ กลับมาฉายซ้ำๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กควรได้รับการดูแลที่สุด

“ไม่ว่าจะมีนักสิทธิเด็กอยู่ด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ อีกทั้งเด็กที่สูญเสียพ่อแม่นั้นพึงได้รับการสงเคราะห์ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เจ้าหน้าที่และจิตแพทย์จะต้องเข้ามาดูแล ประเมินสภาพจิตใจเด็ก และเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินครอบครัวญาติของเด็กด้วยว่า สามารถดูแลเด็กต่อไปได้หรือไม่ เด็กบางคนอาจจะมีญาติเยอะก็จริง แต่อาจจะไม่สามารถดูแลเด็กได้ หรือหากญาตินำเรื่องนี้มาพูดคุยก่นด่าซ้ำๆ ต่อหน้าเด็ก เมื่อเด็กได้ยินก็จะได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ” ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็กกล่าว

14 November 2561

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 479

 

Preset Colors