02 149 5555 ถึง 60

 

โครงการให้ยา

โครงการให้ยา

หลังใช้เวลานานหลายเดือนในการค้นคว้าวิจัยในที่สุดซีไอเอก็ตัดสินใจใช้ยากดประสาทที่ต้องออกให้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น สำหรับลดความเครียด ซึ่งอาจได้ผลคุ้มค่ากับการทดลอง

ช่วงเวลาไม่นานหลังเหตุการณ์ 9/11 หน่วยสืบราชการลับ (ซีไอเอ) ของสหรัฐได้พิจารณาเรื่องการใช้ยาที่อาจได้ผลคล้ายเซรุ่มความจริงกับผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้าย เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นยอมเปิดปากบอกความจริงเกี่ยวกับแผนการโจมตีของพวกก่อการร้าย

หลังใช้เวลานานหลายเดือนในการค้นคว้าวิจัยในที่สุดซีไอเอก็ตัดสินใจใช้ยากดประสาทที่ต้องออกให้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น สำหรับลดความเครียด ซึ่งอาจได้ผลคุ้มค่ากับการทดลอง โดยซีไอเอตัดสินใจใช้ยาตัวนี้โดยไม่ต้องรอฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลสหรัฐเพื่ออนุมัติ

โครงการวิจัยเรื่องการใช้ยามีชื่อเรียกขานกันว่า โครงการให้ยาถูกปกปิดในรายงานลับซึ่งสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (เอซีแอลยู) องค์กรไม่แสวงหากำไรนำมาเปิดเผยตามคำสั่งของศาล

รายงานความยาว 90 หน้าซึ่งส่งผ่านมาถึงสำนักข่าวเอพีนั้น เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงการต่อสู้ภายในองค์กรว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด้านการควบคุมตัวและสอบ สวนให้กับซีไอเอนั้นต้องเผชิญกับการยอมรับด้านจริยธรรมวิชาชีพกับโอกาสที่สามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้ด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีของพวกก่อการร้าย

ดรอร์ ลาดิน ทนายความของเอซีแอลยูบอกว่า รายงานบอกเล่าส่วนสำคัญของเรื่องราวว่าซีไอเอต้องสอบสวนด้วยการทรมานนักโทษซึ่งขัดต่อข้อกฎหมายแต่ก็ช่วยป้องกันไม่ให้เหตุรุนแรงเกิดขึ้นมาอีก

ช่วงระหว่างปี 2545-2550 แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาลของซีไอเอต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการสอบสวน การประเมินสังเกตการณ์และดูแลผู้ถูกคุมขัง 97 รายในสถานที่ควบคุมปกปิด 10 แห่งของซีไอเอในต่างประเทศและยังต้องนำผู้ถูกคุมขังเดินทางด้วยเครื่องบินกว่า 100 เที่ยว

แต่ในที่สุดซีไอเอตัดสินใจไม่ทำเรื่องร้องขอให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอนุมัติการใช้ยาช่วยการสอบสวน ทำให้แพทย์ของซีไอเอรอดพ้นจากความวิตกด้านจริยธรรม แต่ก็ใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่กระทรวงยุติธรรมจะล้มเลิกเทคนิคการสอบสวนด้วยวิธีโหดร้าย เช่น การอดนอน กักขังไว้ในห้องขังเล็ก ๆ และการทรมานแบบวอเตอร์บอร์ดดิ้ง (การทรมานโดยใช้น้ำใส่เข้าไปในปากและจมูกเพื่อให้ผู้ถูกทรมานอยู่ในภาวะเหมือนการจมน้ำ) มีรายงานการสอบสวนของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อปี 2557 ระบุว่า การสอบสวนโดยซีไอเอกับผู้ถูกคุมขังซึ่งระบุตัวตนเลยว่า นายอาบู ซูเบย์ดาห์ ผู้ต้องสงสัยฝ่ายปฏิบัติการของเครือข่ายก่อการร้าย อัล-กออิดะห์ ถูกสอบสวนด้วยวอเตอร์บอร์ดดิ้งกว่า 80 ครั้ง จนต้องร้องไห้ ร้องขอ วิงวอน อาเจียนและขอรับการรักษาทางการแพทย์เพื่อให้ฟื้นคืนสติหลังถูกวอเตอร์บอร์ดดิ้ง

ก่อนที่จะมาใช้ยากดประสาทนั้น นักวิจัยของซีไอเอได้ศึกษาบันทึกการใช้ยาทดลองสมัยโซเวียตเช่นเดียวกับที่ซีไอเอเคยเสียชื่อเสียงมาแล้วกับโครงการเอ็มเค-อัลตราช่วงยุค 1950-1960 ซึ่งเกี่ยวพันกับการทดลองยากับมนุษย์โดยใช้สารเสพติดเอสแอลดีที่มีฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรงและอื่น ๆ กับบุคคลที่ไม่รู้ตัวเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระยะยาวว่าด้วยเซรุ่มความจริง การทดลองที่ว่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าจะให้ผลได้จริงหรือ

แต่สิบปีหลังมานี้ซีไอเอกำลังพิจารณาทดลองให้ยากับมนุษย์อีกครั้งเพื่อทดสอบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ลวงโลกว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากผู้ถูกคุมขังที่โดนสอบสวน

สำหรับยาระงับประสาทไมดาโซแลม รักษาอาการนอนไม่หลับและรักษาภาวะกายใจไม่สงบ แต่ก็อาจทำให้ความสามารถในการจำลดลงชั่วคราว ส่วนใหญ่มักใช้ในการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่นักหรือกระบวนการทางการแพทย์เช่นการส่องตรวจไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ ซึ่งต้องให้ยาเพื่อให้หลับแต่ไม่ถึงกับการเป็นให้ยาสลบ

ยาตัวนี้ถือว่าอาจคุ้มค่ากับการทดลอง หากมีข้อบังคับทางกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งอุปสรรคทางกฎหมายอย่างน้อย 2 ข้อที่เห็นก็คือ ข้อห้ามทดลองทางการแพทย์กับผู้ถูกคุมขังและข้อห้ามการสอบสวนโดยใช้สารหรือยาที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท

แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่สำคัญแล้วหลังจากที่ซีไอเอตัดสินใจไม่ร้องขอกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเพื่ออนุมัติ และในช่วงต้นปี 2546 โครงการนี้จึงพับเก็บเข้าลิ้นชักและไม่เคยนำมาปฏิบัติอีกเลย.

21 November 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 432

 

Preset Colors