02 149 5555 ถึง 60

 

“ค่ายธรรมะ” สะกดจิต!? ความทรงจำสุดหลอน “สะท้อนหลักคำสอน” ที่ผิดพลาด

“ค่ายธรรมะ” สะกดจิต!? ความทรงจำสุดหลอน “สะท้อนหลักคำสอน” ที่ผิดพลาด

ร้องไห้-กดดัน-ทำจิตตก ความรู้สึกหลังเข้าค่ายธรรมะที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกิจกรรมยังสร้างความหดหู่หวาดกลัวทั้ง เปิดคลิปศพ-เชือดสัตว์-ให้สาบานตน นักวิชาการศาสนวิทยาชี้ ใช้วิธีการรุนแรง ตอกย้ำความรู้สึกผิดของเด็กทำให้เกิดอันตรายได้ แนะควรพัฒนาจริยธรรมแบบมีเหตุผล ด้านจิตแพทย์เผย ควรมีการคัดกรองเด็ก ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนไป

“เข้าค่ายธรรมะ” จุดจบที่ต้องดรอปเรียน-พบจิตแพทย์!!

“แฉ!!! ค่ายธรรมะที่…มาก แทบไม่มีอะไรธรรมะ โรงเรียนบังคับเข้า ทำเพื่อนเราต้องพบจิตแพทย์ ปัจจุบันยังรักษาไม่หาย” นี่คือหัวข้อกระทู้พันทิปที่ต้องการจะบอกเล่าถึงความเลวร้ายของค่ายธรรมะที่โดนบังคับเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนจนเพื่อนของตนเองต้องมีอาการทางด้านจิตใจอย่างหนัก จนต้องเข้ารักษาอย่างใกล้ชิดที่ รพ. เฉพาะทางที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และค่ายธรรมะยังจัดขึ้นที่โรงเรียนโดยมีพระของวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ฯ มาพาเด็กนักเรียนทำกิจกรรมในเวลานั้น

ทั้งนี้กิจกรรมภายในค่าย ยังมีการเปิดคลิปที่ทำให้นักเรียนสะเทือนใจ เช่น คลิปเชือดสัตว์ที่มีเลือดเยอะให้ดู ทำให้นักเรียนกินข้าวไม่ลง เมื่อข้าวเหลือจึงเทรวมใส่หม้อ และให้ครูมากินเพื่อเป็นการรับผิดชอบ

ไม่เพียงแค่นี้ ยังมีการบังคับให้ยืนสาบานตนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจนถึงตี 5 กระทั่งนักเรียนเป็นลมกันหลายคน และยังมีกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนเจ็บป่วยเพราะพักผ่อนไม่พอ รวมถึงทำให้รู้สึกกดดันจนร้องไห้ตลอด 3 วันในค่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเพื่อนของเจ้าของกระทู้ที่ร้องไห้หนัก จนหลังจากจบค่ายต้องพบจิตแพทย์ และหยุดเรียนไป 1 ปี

และผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Jettapon Kraimark” ก็ได้มีการให้รายละเอียดถึงกระทู้ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งตนเองเป็นพี่ชายของน้องที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์จากเหตุการณ์ในค่ายธรรมะ หลังจากที่น้องของเขากลับจากเข้าค่ายก็มาขอโทษทุกคนในบ้านและมีอาการหวาดระแวงอยู่ตลอด

“ยอมรับเลยว่าตกใจเหมือนกันที่เจอน้องหลังจากกลับจากค่ายนี้ น้องพูดแต่ขอโทษๆ "ขอโทษนะแม่, ขอโทษนะพ่อ, ขอโทษนะพี่" น้องมีอาการหวาดระแวงใจสั่นตลอดเวลา ไม่สามารถนอนหลับกลางคืนได้ พอตกกลางคืนน้องจะก้มลงกราบทุกคนในบ้านทุกคืนแล้วบอกว่า “น้องขอโทษๆๆ" ที่บ้านต่างพากันสงสัยว่าน้องไปทำผิดอะไรมา ปรากฎคือ น้องสำนึกผิดที่ตัวเองไม่ใช่ผู้ชายร้อยเปอร์เซ็น ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ผมและที่บ้านก็พอรู้กันอยู่แล้ว และก็ได้มีการพูดคุยว่าทุกคนยอมรับได้ในตัวน้อง

เรื่องยังไม่จบ คือน้องผมยังคงทำแบบนี้ ก้มกราบทุกคนและทุกคืน มีร้องไห้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับวันอาการเริ่มหนักขึ้น ไม่กล้าเจอหน้าใคร เหมือนคิดว่าตัวเองผิดมากที่เป็นเพศที่สาม มีไปมุดตัวอยู่ใต้โต้ะแล้วแอบร้องไห้คนเดียวจนทุกคนในบ้านเห็นท่าไม่ดี จึงตัดสินใจพาน้องไปพบจิตแพทย์ ต้องรักษาอย่างใกล้ชิด ทานยาตลอดชีวิตเพราะอาการสามารถกลับมาได้เสมอ

สุดท้ายอยากฝากถึงค่ายธรรมะนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่าค่ายธรรมะได้หรือเปล่า ควรหยุดทำกิจกรรมนี้เถอะ มันไม่มีประโยชน์เลย เพราะกิจกรรมแต่ละอย่างเหมือนเป็นการบีบบังคับและกดดันให้เด็กยอมสารภาพความผิดเหมือนกับเด็กเป็นนักโทษและเหมือนจะมีการขู่ทำร้ายร่างกาย เป็นใครก็กลัว ยิ่งเป็นเด็กมัธยมที่ไม่เคยโดนสภาวะกดดันแบบนี่ บอกเลยว่าจิตตกได้เลยครับ”

เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้วิธีการทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อจิตใจของคนในค่ายจนต้องพบจิตแพทย์ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง นพ. โยธิน วิเชษฐวิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ได้ให้คำตอบกับเรื่องดังกล่าวว่า สิ่งนี้คงไม่ใช่ค่ายธรรมะ แต่เป็นค่ายกดดันสุดโต่ง หากเป็นค่ายธรรมะจริงๆ คงไม่ได้มีการใช้วิธีการที่กดดันขนาดนี้

“ถ้าเขามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอยู่แล้ว ค่ายพวกนี้มันเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้โรคมันเป็นขึ้นมา คือถ้าเขาไม่เจอความเครียดอะไรในชีวิตตลอดเลย เขาอาจจะไม่เป็นโรค แต่พอมาเจอช่วงวัยรุ่นอาจจะกลายเป็นโรคขึ้นมา และคนที่มีความเสี่ยงในช่วงวัยรุ่นจะมีโอกาสที่กระตุ้นง่ายกว่าวัยอื่น ส่วนคนที่ได้ความทรงจำกลับมาไม่ดี ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย แต่อาจจะยังไม่ได้เป็นโรค เพราะเป็นโรคมันไม่ได้เป็นกันทุกคน

ซึ่งแบบนี้อาจจะเป็นการสะกดจิต โดยการใช้ความเครียด อาจจะให้ใช้การอดหลับอดนอน ให้ใช้ความรู้สึกกลัว ซึ่งไม่มีพระพุทธเจ้าเคยกล่าวไว้ในธรรมะอ่ะนะครับ ในพระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เคยมีแบบที่ให้กดดันแบบนี้ ผมว่ามันผิดหลักการธรรมะอยู่แล้ว ฟังดูแล้วคล้ายๆ พวกรับน้องอ่ะเนอะ

เจตนาผมว่าดีนะ แต่วิธีการผิดนะครับ สองก็คือวัยของคนที่เข้าร่วมเนี่ยผิด สามคือการคัดกรองคงจะไม่ได้ดีพอ ก็ถือเป็นการคัดกรองที่อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นถ้าจะจัดค่ายพวกนี้จริงๆ ขึ้นมาผมว่าวิธีการแบบนี้ที่รุนแรงมันไม่ควร เพราะว่าเราไม่รู้ว่าโรงเรียนมีความสามารถในการคัดกรองเด็กได้มากแค่ไหน บางคนกลับไปฆ่าตัวตายก็มี”

นายแพทย์ยังกล่าวอีกว่า ควรจะต้องมีการคัดกรองเด็ก ไม่ใช่ว่าบังคับให้ทุกคนไป แล้วถ้าเป็นค่ายที่กดดันมากๆ ก็จะมีโรคหลายๆ ประเภทที่เจอค่ายพวกนี้แล้วทำให้คนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค เช่นโรคซึมเศร้า หรือความกระทบกระเทือนจิตใจหลังภยันตรายที่เจอ หรือคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อโรคก็สามารถเกิดโรคได้อีกกลุ่มหนึ่งอย่าง (adjustment disorder) หรือการปรับตัวผิดปกติ เพราะแบบนั้นหากค่ายที่มีความกดดันสูงๆ จึงไม่เหมาะกับเด็กวัยรุ่น หรือวัยที่ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

ละเมิดสิทธิไม่ช่วยให้เด็กคิดเป็น!

“ค่ายธรรมะ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเชิงพุทธ เป็นของโรงเรียนโดยทั่วไปในไทยที่ไม่ได้เป็นเอกชน ที่ไม่ได้เป็นโรงเรียนในเชิงศาสนา ก็จะถูกกระทรวงศึกษาผลักดันให้พยายามเผยแผ่ศาสนาให้แก่นักเรียน”

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ที่กำลังติดตามประเด็นดังกล่าวอยู่ ได้ช่วยให้คำตอบเรื่องการเข้าค่ายธรรมะ กับทีมข่าว MGR Live ว่าควรมีการพัฒนาจริยธรรมแบบที่มีเหตุผล เพื่อไม่ให้เกิดผลร้ายตามมา

“ปัญหาก็มีอยู่เหมือนกัน ตรงที่โรงเรียนไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง จึงไปเชื่อมโยงกับวัด โดยที่ให้วัดทำเรื่องของกลไกลเรื่องค่ายธรรมะ ซึ่งเท่าที่รับทราบ เท่าที่ติดตามศึกษาอยู่เนี่ย เมื่อก่อนมีการโอนให้วัดธรรมกายดำเนินการเสียเยอะเลย ต่อมาก็เป็นให้วัดโดยจำนานมากที่มีศักยภาพ มีสถานที่ มีบุคลากรที่จะเป็นวิทยากรที่จะช่วยอบรมได้ ส่วนวิธีการพูดตรงๆ คือว่าวิธีมักจะใช้ซ้ำๆ กัน คือหนึ่งเป็นวิธีแนวพระ แนวธรรมวินัย เช่นมีการให้อดอาหารมื้อเย็น มีการถือธรรมวินัยแบบพระ คล้ายๆ ว่าให้ถือศีล5 ศีล8 ทำนองนี้”

และกิจกรรมในระหว่างการเข้าค่ายก็จะมีวิทยากรคอยเปิดคลิปวิดีโอให้ดู นักวิชาการด้านศาสนวิทยารายเดิมได้บอกไว้ว่า จะมีการเน้นรูปแบบเนื้อหาของวิดีโอที่เอามาเปิดเรื่องการคลอดที่เจ็บปวดของแม่ เพื่อเน้นว่าแต่ละคนเกิดมาได้เป็นเรื่องบุญคุณใหญ่หลวงของแม่ แม่ต้องคลอดมาเจ็บปวดขนาดไหน ถ้าใครทำตัวไม่ดี ก็เท่ากับว่าทำร้ายแม่ ไม่มีความกตัญญูรู้คุณต่อแม่ที่ยอมเจ็บปวดเพื่อเรา

อันที่สอง ที่มักจะมีบ่อยคือ คลิปเรื่องคนติดยาเสพติด เพื่อจะบอกว่ายาเสพติดไม่ดี สิ่งนี้ก็เป็นแนวทางพัฒนาคุณธรรมในแง่ให้เป็นคนกตัญญู หากติดแล้วพ่อแม่ก็จะเสียใจ รวมถึงวิดีโอให้ดูศพคนตาย เป็นการทำให้หวั่นกลัว แล้วก็มองว่าชีวิตยังมีคุณค่า ยังทำอะไรได้อีกเยอะ

“จะบอกว่าข้อดีมีไหมมันก็มี มันก็เป็นโอกาสให้คนนึกถึงว่าจะดำเนินชีวิตอะไรก็ต้องระวังให้คิดถึงพระคุณแม่ แต่ข้อไม่ดีมันก็มี คือข้อไม่ดีมันมีเรื่องสุดโต่ง เช่น บางเรื่องถ้าวิธีมันค่อนข้างรุนแรง ถ้าหากว่าเป็นคนที่รู้สึกผิดอยู่แล้ว ถ้าตอกย้ำมากๆ ตอกย้ำจนเลยเถิด มันก็จะกลายเป็นว่าให้คนรู้สึกจมกับความรู้สึกผิด แล้วการจมอยู่กับความรู้สึกผิด มันกลายเป็นอันตรายครับ มันทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองเนี่ยเลวมาก แล้วให้อภัยตัวเองไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวดในจิตใจ มีการเรียกว่าใจสลาย แล้วก็โทษตัวเองอย่างรุนแรง ในแง่ร้าย

เช่น มองว่าเราแสนจะอกตัญญู เป็นลูกที่เลวมาก มันก็จะตอกย้ำความรู้สึกผิด ยิ่งถ้ามองตัวเองลบ มีอาการที่ซึมเศร้า มีอาการทางจิตอยู่แล้วด้วยไปกันใหญ่ ต่อมาก็คือ แนวทัศนคติ ศีลธรรม จริยธรรม ที่ค่ายธรรมะนำเสนอมักจะเป็นแนวแบบจารีตนิยม แบบไทยๆ แบบสังคมไทยโบราณ พูดง่ายๆ แบบศาสนาพุทธ แบบจารีตไทย

ซึ่งบางเรื่องมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของมนุษย์ และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงสมัยปัจจุบัน ที่นี่พอไปยึดอย่างนั้นมากๆ พอใครไม่สอดคล้อมกับแนวศีลธรรม จารีตแบบศาสนาพุทธกลายเป็นคนเลว กลายเป็นคนผิดไปเลย เช่น ยกตัวอย่าง ไม่เป็นชายแท้ มีอาการเป็นเพศทางเลือก เป็น LGBT ชอบเพศเดียวกัน หรือว่าแต่งกายไม่ตรงตามเพศอะไรอย่างนี้นะครับ ก็เท่ากับเป็นคนไม่สมประกอบหรือไม่ดีในมาตรฐานศีลธรรมของศาสนาพุทธหรือของจารีตไทย”

ส่วนจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ในเรื่องของค่ายธรรมะ ก็คือสังคมไทยเรียนศาสนามากไป แต่ไม่ได้เรียนปรัชญา จึงจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องหลักจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ในแบบที่ใช้เหตุใช้ผลมากขึ้น คือแบบเดิมมันเป็นจริยศาสตร์แนวใช้หลักศรัทธาศาสนา ว่าอย่างไรก็ยึดตามนั้น โดยไม่เคยคิดว่าสิ่งนั้นยังใช้ได้อยู่ไหม ยังถูกทุกแง่ไหม

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะสอนมากกว่าคือ การที่จะเป็นค่ายธรรมะก็ดี คือพัฒนาจริยธรรม แต่พัฒนาจริยธรรมแบบที่มีเหตุผล ต้องเป็นค่ายพัฒนาจริยธรรมแบบที่ใช้เหตุผล คิดหลายแง่ มีจริยธรรมหลายชั้น แล้วก็เรื่องของการที่ไม่บรรลุจริยธรรมมันก็ไม่ใช้ว่าต้องได้รับผลร้ายในแบบที่ศาสนาบอกเสมอไปมันมีหลายแง่

ค่ายธรรมะมีประโยชน์ แต่ถ้าทำแล้วไม่ดี ไม่ทำดีกว่า ขอพูดอย่างนี้ ค่ายธรรมะดี แต่ต้องทำให้ถูก ต้องทำอย่างมีเหตุผล และต้องทำโดยไม่ละเมิดสิทธิในการคิด ในการตัดสินใจ ในการเลือกร่วมกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษา ถ้าทำได้ดีก็ดี แต่ถ้าทำแล้วไม่ดี มีการละเมิดสิทธิไม่ช่วยให้เด็กคิดเป็น ไม่ทำดีกว่า ขอพูดแค่นี้เลย”

28 November 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1419

 

Preset Colors