02 149 5555 ถึง 60

 

สุขภาพดีได้ในวัยสูงอายุ

สุขภาพดีได้ในวัยสูงอายุ

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้สูงอายุมักมีสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงและเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ อยู่ตลอดเวลา แต่นั่นก็ไม่จริงเสมอไป

มัยนี้คนที่อายุเกิน 60 ปีบางคนดูแล้วยังแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าฟิตเปรี๊ยะยิ่งกว่าหนุ่มสาวซะอีก คีย์เวิร์ดสำคัญที่สร้างความแข็งแรงให้กับพวกเขาก็คือ “การออกกำลังกาย” ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดีได้ แม้ตัวเลขอายุจะมากขึ้นก็ตาม

เชื่อมั้ยว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ เช่น การเดินเร็วๆ ประมาณ 30-60 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ยิ่งเราออกกำลังกายมากก็ยิ่งได้ประโยชน์มาก แม้การออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าการไม่ได้ออกกำลังกายเลย เพราะชายและหญิงวัยกลางคนที่ยังออกกำลังกายสม่ำเสมอจะยังคงเปี่ยมไปด้วยพละกำลัง แม้จะเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วก็ตาม

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้ศึกษากลุ่มผู้ใหญ่อายุระหว่าง 39-63 ปี จำนวน 6,400 ราย พบว่าผู้เข้ารับการวิจัยที่จัดอยู่ในกลุ่ม “กระฉับกระเฉง” ตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษา มีแนวโน้มที่จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากข้อจำกัดทางกายภาพได้นานถึง 9 ปี สำหรับผู้เข้าร่วมการศึกษาที่กระฉับกระเฉงนั้น หมายถึงชายและหญิงที่มีการออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น ขี่จักรยาน และว่ายน้ำเล่นสบายๆ 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ หรือออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง เช่น การว่ายน้ำแข่งกัน และการวิ่ง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

หลังจากออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 9 ปี ผู้ใหญ่ที่กระฉับกระเฉงเพียงพอจะมีปัญหาสุขภาพลดน้อยลง สามารถเล่นกีฬา ยกของหนัก หรือทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ขึ้นบันได หรืออาบน้ำเองได้ โดยนักวิจัยสรุปว่า จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีความจำเป็นต่อชายและหญิงวัยกลางคนในการคงไว้ซึ่งหน้าที่ทางกายภาพ ซึ่งต้องอาศัยความสมบูรณ์และสุขภาพที่ดี

แข็งแกร่งไว้ จะได้แข็งแรง

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และยังช่วยฟื้นฟูระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย แต่นอกจากการออกกำลังแบบแอโรบิกจะส่งผลดีต่อร่างกายแล้ว การฝึกความแข็งแกร่งให้ร่างกายก็มีความสำคัญเช่นกัน

การฝึกความแข็งแกร่ง (Strength Training) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การฝึกเพื่อความต้านทาน (Resistance Training) จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพและความสมบูรณ์โดยรวมในคนทุกช่วงอายุ โดยช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ความอดทน และความหนาแน่นของกระดูก แล้วการออกกำลังกายชนิดนี้ยังช่วยฟื้นฟูการตอบสนองต่ออินซูลินและการเผาผลาญกลูโคสในร่างกายอีกด้วย

มีการศึกษามากมายที่แสดงว่า แม้กระทั่งชายและหญิงที่มีอายุ 90 ปีที่เข้าร่วมการฝึกยกน้ำหนัก ก็สามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันการหกล้มและอาการบาดเจ็บ คนเหล่านี้จึงสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม มีผู้สูงอายุร้อยละ 11 เท่านั้นที่สามารถฝึกความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกายได้ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็มักจะพลาดโอกาสที่จะฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิธีการนี้ แต่ถึงกระนั้นก็อยากให้ลองออกกำลังกายแบบแอโรบิก 20 นาที ร่วมกับการยกน้ำหนัก 10 นาที 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการออกกำลังกายด้วยก็จะดีมาก

7 December 2561

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1165

 

Preset Colors