02 149 5555 ถึง 60

 

ช็อก ช็อต ฟื้น AED ช่วยชีวิต คนป่วยหัวใจวายเฉียบพลัน

ช็อก ช็อต ฟื้น AED ช่วยชีวิต คนป่วยหัวใจวายเฉียบพลัน

โรคหัวใจและหลอดเลือด คือ โรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก จากสถิติองค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2558 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ประมาณ 17.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31 ของอัตราการตายทั่วโลก

น่าตกใจนะ... เพราะตัวเลขดังกล่าวก็คือ เกือบ 1 ใน 3

สำหรับประเทศไทย สถิติสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่า เสียชีวิตปีละเท่าไร แต่เปิดเผยค่าเฉลี่ยว่า ประมาณ 120-125 ต่อประชากร 100,000 คน

หากบวกลบคูณหาร ก็เชื่อว่า คนที่ป่วยโรคหัวไจในประเทศเรานั้น มีไม่น้อย ครั้นเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จะมีใคร หรือ เครื่องมืออะไรที่จะสามารถช่วยได้ แม้แต่คนที่เคยเรียนการปฐมพยาบาลมา ถามว่าจะเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิดเขาเสียชีวิตคามือเรา

แต่อย่างไรตาม หากเราสังเกตตามพื้นที่สาธารณะ ตอนนี้เราจะเห็น ตู้สีแดงคล้ายตู้ดับเพลิง ซึ่งตู้นี้มีความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะตู้ดังกล่าวนี้ เก็บเครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้

ส่วนจะใช้งานอย่างไร ทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ปริญญา คุณาวุฒิ ประธานคณะกรรมการ โครงการช่วยฟื้นคืนชีวิต โรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.ปริญญา คุณาวุฒิ ประธานคณะกรรมการ โครงการช่วยฟื้นคืนชีวิต โรงพยาบาลรามาธิบดี

AED เครื่องกระตุ้นหัวใจใกล้มือ ช่วยกลับมาเต้นปกติ 70%

นพ.ปริญญา อธิบายว่า เครื่อง AED หรือ เครื่อง Automated External Defibrillator เป็นเครื่องมือกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบพกพา เครื่องนี้ถูกใช้ครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคามีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันของเครื่อง ระยะเวลาในการใช้งานจะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี เพราะตัวแบตเตอรี่ และกาวที่ใช้ติดจะเสื่อมสภาพ ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ ซึ่งแตกต่างจากถังดับเพลิงที่ไม่มีวันหมดอายุ

“เครื่อง AED จะอยู่บริเวณที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ หรือสถานที่ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน สำนักงานขนาดใหญ่ ตามคอนโด ฟิตเนส สนามกีฬา หรือพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยงานแพทย์ฉุกเฉิน ก็ควรจะมีเครื่อง AED ติดเอาไว้

เพราะหากมีคนเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน หรือหัวใจล้มเหลว เครื่อง AED จะช่วยกระตุ้นหัวใจ ให้กลับมาเต้นเป็นปกติ ด้วยไฟฟ้ากระแสตรง และสามารถช่วยให้ผู้ป่วย ฟื้นกลับมาได้ถึง 70% แต่หากไม่มีเครื่อง AED การฟื้นกลับมาของผู้ป่วยจะมีเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น มี 2 ประเภท คือแบบที่จำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า กับแบบไม่ต้องการเครื่องช่วย” ประธานคณะกรรมการโครงการช่วยฟื้นคืนชีวิต อธิบาย

แพทย์ แนะนำ วิธีใช้ AED ย้ำ มีคำอธิบายภายในกล่อง

ประธานคณะกรรมการ โครงการช่วยฟื้นคืนชีวิต โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวต่อว่า เมื่อพบเจอผู้ที่มีอาการหัวใจหยุดเต้น ต้องนำเครื่อง AED มาถึงจุดที่ปั๊มหัวใจภายใน 3-5 นาที เพราะถ้าใช้เวลามากกว่านี้การทำ CPR โดยไม่ใช้อุปกรณ์ AED จะทำให้สมองขาดเลือดมากเกินไป ก่อนจะใช้เครื่อง AED แม้มีอุปกรณ์พร้อมใช้งาน แต่การโทรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ โทรสายด่วน 1669 เพื่อบอกพิกัดขอความช่วยเหลือ คือขั้นตอนแรกที่ควรทำ

“ขั้นตอนต่อ คือ การทำ CPR เป็นจังหวะ 30 ครั้ง ให้ออกซิเจน 2 ครั้ง ติดแผงนำไฟฟ้าที่หัวไหล่ขวา และใต้ราวนมซ้าย เครื่อง AED จะวัดชีพจรและวิเคราะห์ขั้นตอนช่วยเหลือออกคำสั่งผ่านลำโพง ผู้ช่วยเหลือต้องปั๊มหัวใจและให้ออกซิเจนผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเครื่องจะออกคำสั่งให้ช็อตหัวใจด้วยไฟฟ้า วิธีเหล่านี้จะมีกระดาษบอกวิธีการใช้บอกอยู่ภายในกล่อง” นพ.ปริญญา แนะนำขั้นตอนการใช้ AED

เครียด กดดัน พักผ่อนน้อย หรือ นักกีฬา ก็มีโอกาสหัวใจล้มเหลวได้

นพ.ปริญญา กล่าวต่อว่า อย่างที่ทราบกันว่า กลุ่มคนที่มีอาการเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายเฉียบพัน คือ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันสูง และไขมันในเลือดสูง แต่..ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคดังกล่าวก็ใช่ว่าจะรอดจากการป่วยโรคหัวใจไปได้ หากมีสภาวะเครียด กดดัน พักผ่อนน้อย หรือเป็นนักกีฬา ก็สามารถเกิดสภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน

และที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หรือ แม้แต่ในโรงเรียน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีโครงการเปิดสอนวิธีใช้เครื่อง AED กับนักเรียน หรือ พนักงาน เช่น พนักงาน รถไฟฟ้า พนักงาน เซเว่น โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 โรงเรียน และองค์กร อื่นๆ

ขณะที่ ต่างประเทศมีการใช้โดรนบินส่งเครื่อง AED เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ส่วนในประเทศไทยตอนนี้มีแอปพลิเคชัน I Lert you เป็นแอปพลิเคชันขอความช่วยเหลืออุบัติเหตุ เหตุด่วนเหตุร้ายต่างๆ ส่งพิกัดดาวเทียมผ่านทาง โทรศัพท์สมาร์ทโฟน

“ที่ผ่านมาทางสถาบันได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ทั้งทางภาครัฐ และภาคประชาชน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมอบรมได้ และได้ย้ำว่าอยากให้มีการติดตั้งในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน หรือในสถานที่เสี่ยง เช่น บนดอย ตามเกาะต่างๆ เพราะเมื่อเกิดเหตุจะได้มีการช่วยเหลือได้ทัน” นพ.ปริญญา กล่าว

ทั่วประเทศไทยมี 30,000 เครื่อง พบอัตรารอดชีวิตจาก AED จำนวนมาก

นพ.อนุชา เศณษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในประเทศไทย มีเครื่อง AED ประมาณ 30,000 เครื่อง และมีการรอดชีวิตจากเครื่อง AED เป็นจำนวนมาก โดยการเสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย มีอัตราใกล้เคียงกับการถูกรถชน ทำให้ในอนาคตจะมีประกาศบังคับให้ติดตั้งเครื่อง AED ภายในอาคาร ซึ่งล่าสุดทางเซเว่นได้ทดลองติดไปแล้ว 3-4 แห่ง และได้จัดอบรม CPR และ AED ให้กับพนักงานที่เรียนสถาบันปัญญาภิวัฒน์ด้วย

นอกจากนี้ ทางสภาปฏิรูปได้มีการยื่นเรื่องไปให้รัฐบาล ขอให้มีการเรียนการสอน เครื่อง AED อยู่ในหลักสูตร โดยทางสถาบันการแพทย์แห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการได้ทำ MOU ในเรื่องนี้ เพื่อต้องการให้คนมีความรู้ในด้าน CPR หรือ AED เพราะหากพบเห็นเหตุการณ์ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือทันที

ร่างกายเหมือน "คอมพิวเตอร์" หัวใจหยุดเต้นเหมือน "ปลั๊กหลุด"

ทีมข่าวยังได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมการทำ CPR ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคนเข้าร่วมประมาณ 200-300 คน โดยคนที่มาให้ความรู้มีทั้งแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครกู้ชีพ

นพ.อรรถสิทธิ์ โคมินทร์ อาสาสมัครกลุ่ม CPR ในสวน กล่าวว่า การแพทย์ของประเทศไทยมีการพัฒนาไปไกล และสิ่งที่สำคัญในประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้น โดยมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์การช่วยเหลือน้อย ดังนั้น น้อยคนที่จะรู้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ จะมีแค่แพทย์ และพยาบาลเท่านั้นที่รู้

สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ ก็คือ ต้องมีประชาชนคอยช่วยปั๊มหัวใจ และสามารถใช้เครื่อง AEDในการช็อตหัวใจได้ หากช็อตเร็วโอกาสรอดก็จะมากเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังขาดความรู้เรื่องนี้อีกมาก

"เปรียบเทียบว่า ร่างกายของเราเหมือน เครื่องคอมพิวเตอร์ การที่หัวใจหยุดเต้นก็เหมือน ปลั๊กที่หลุด ดังนั้น การทำ CPR และใช้เครื่อง AED ก็เหมือนการเสียบปลั๊ก รีสตาร์ตคอมพิวเตอร์ เวลาเครื่องรวน ให้กลับมาใช้งานได้ปกติ เพราะฉะนั้น การปั๊มหัวใจกับเครื่อง AED ควรจะอยู่คู่กันเสมอ" นพ.อรรถสิทธิ์ อธิบาย

จัดอบรม 2 ปี มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ทำโครงการ CPR ในสวนนี้มา 2 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 3,500-4,000 คน ความตั้งใจแรก คือ ทำในสวนเป็นหลัก ช่วงหลังเริ่มมีการเข้ามาจัดกิจกรรมตามที่ต่างๆ เช่น ช่างชุ่ย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขณะที่ ต่างจังหวัดจะมีหลายทีมได้ไปจัดกิจกรรมนี้ด้วย

สำหรับการเข้าอบรมการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED นั้น สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศทุกวัย ไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดงาน หากมีหน่วยงานอื่นที่สนใจอยากให้มีการจัดอบรม สามารถติดต่อไปที่มูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนครั้งหน้าจะมีจัดกิจกรรมที่ไหนสามารถเข้าไปดูในเพจ CPR ในสวนได้

"อยากฝากกับทุกๆ คน เรื่องภาวะหัวใจหยุดเต้นเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนสามารถเป็นได้ และเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราได้เรียนไว้ รู้ไว้ จะได้เอาไว้ใช้ช่วยเหลือคนรอบตัวได้ หรืออาจจะเป็นคนที่ผ่านไปมาได้ ซึ่งหมอคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากทุกคนสามารถทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ อยากให้หน่วยงานราชการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปั๊มหัวใจ การใช้เครื่อง AED คิดว่าเครื่อง AED ควรมีอยู่ในที่สาธารณะที่มีคนผ่านไปมา เป็นมาตรฐาน" นพ.อรรถสิทธิ์ อาสาสมัครกลุ่ม CPR ในสวน กล่าว

12 December 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 4619

 

Preset Colors