02 149 5555 ถึง 60

 

สอนลูกให้เรียนรู้ว่า...ยาเสพติดป้องกันได้

สอนลูกให้เรียนรู้ว่า...ยาเสพติดป้องกันได้

ช่วงปีที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวสารบ่อยครั้งว่าหลายประเทศพยายามยกเลิกการห้ามใช้ยาเสพติดบางประเภทด้วยเหตุผลในการรักษาโรค พ่วงด้วยรายได้ของรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันผู้ปกครองจำนวนมากเฝ้ามองด้วยความกังวลและเป็นห่วงว่าจะปกป้องลูกหลานซึ่งเป็นอนาคตของสังคมให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างไร

พื้นฐานนิสัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของวัยเด็กถึงวัยรุ่นคือ “อยากรู้อยากลอง” และ “ต้องการการยอมรับจากบุคคลรอบตัว” ประกอบกับช่องทางการเข้าถึงยาเสพติดนั้นมีมากมายหลายช่องทาง จึงไม่แปลกที่เด็กจะรับรู้แบบผิดๆว่าการดื่มแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่เหมือนที่เห็นเขาทำกันในทีวีหรือภาพยนตร์นั้นดูโก้เก๋และเป็นสิ่งที่น่าทำตาม หรือเห็นว่าการลองเสพยาเสพติดจะทำให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งเมื่อได้เสพแล้วผลที่ตามมาก็คือ

1.ปัญหาด้านสุขภาพ – มีกลิ่นตัวและกลิ่นปาก ตาแห้งแดง ผิวหนังแห้งเป็นผื่นคัน นอนหลับยาก ไม่อยากอาหาร น้ำหนักตัวลดลง เหนื่อยหอบ ร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วยง่าย ไปจนถึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

2.ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ – ยาเสพติดมีผลเสียต่อระบบประสาทซึ่งทำให้ผู้ใช้มีอารมณ์แปรปรวนและความไม่มั่นคงทางจิตใจ เริ่มแรกอาจรู้สึกผ่อนคลายแต่เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรือเศร้าเสียใจ ซึ่งกระตุ้นให้ใช้ยาเสพติดมากขึ้นและขาดแรงจูงใจที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ

3.ปัญหาด้านพฤติกรรม – อารมณ์ที่ไม่มั่นคงทำให้ขาดความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ขาดเรียนบ่อยจนทำให้ผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน บางกรณีต้องการใช้เงินมากขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่การลักขโมยหรือการหาเงินในทางที่ผิดกฎหมาย

การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในวัยเด็กนั้นแม้จะเป็นไปเพื่ออยากลองหรือให้ได้รับการยอมรับ สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองพึงตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่เด็กจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาได้ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

1.ความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนระหว่างผู้ปกครองและเด็กจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานความคิดและการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต แม้เด็กวัยนี้จะยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ผู้ปกครองควรปลูกฝังเรื่องการกินอยู่อย่างมีสุขภาพดี แนะนำการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย การเล่นและออกกำลังกายเพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่างๆอย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องการคิด การตัดสินใจ และการรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ

2.เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนแล้ว เป็นเวลาที่เด็กเริ่มมีความสนใจหาความรู้และข้อมูลในเรื่องต่างๆมากมาย ผู้ปกครองสามารถให้ความรู้และคำแนะนำที่มีความเฉพาะเจาะจงเรื่องยาเสพติดได้ โดยให้รู้จักยาเสพติดประเภทต่างๆ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด โดยไม่จำเป็นต้องแต่งเรื่องเพื่อหลอกให้เด็กเกิดความกลัว แต่พยายามให้เด็กมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนให้เด็กสามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่ายาเสพติดมีผลเสียอย่างไรจึงไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวด้วย

3.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยผู้ปกครองและบุคคลใกล้ชิดจำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก เช่น ไม่สูบบุหรี่ หรือไม่เสพยาเสพติด หรือหลีกเลี่ยงที่จะพาเด็กไปยังสถานที่ๆมีโอกาสพบเห็นการใช้ยาเสพติด ทั้งนี้ ผู้ปกครองยังควรให้คำแนะนำแก่เด็กอย่างใกล้ชิดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ภาพยนตร์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เด็กสามารถพิจารณาแยกแยะเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสมในโลกความเป็นจริงกับพฤติกรรมที่เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงได้

4.ตั้งกฏระเบียบของครอบครัวและบทลงโทษที่ชัดเจนกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกครอบครัวทุกคนที่จะหลีกเลี่ยงยาเสพติด เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงความรับผิดชอบในการทำตามและรักษากฏระเบียบของครอบครัว ซึ่งช่วยป้องกันให้เด็กสามารถหลีกเลี่ยงกับสถานการณ์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ดีขึ้น

5.ผู้ปกครองจำเป็นต้องสนับสนุนและเสริมสร้างการรับรู้คุณค่าในตนเองให้กับเด็กผ่านการให้ความรักและความเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเองและรับรู้ว่าคนในครอบครัวพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างตนเองเสมอยามเมื่อเกิดปัญหาในชีวิต นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรเสริมสร้างทักษะการตัดสินใจและการรู้จักปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดีให้กับเด็ก เพื่อไม่ให้หวั่นไหวไปกับการชักจูงไปในทางที่ไม่ดีจากกลุ่มเพื่อนหรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ

6.ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การคบหาเพื่อน นอกจากนี้ การสนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการเล่นกีฬา ดนตรี หรือศิลปะ จะช่วยให้เด็กใช้เวลาอย่างมีคุณค่าและได้เข้าสังคมที่หลากหลาย และเป็นเรื่องดีหากได้รู้จักใกล้ชิดกับเพื่อนของเด็กและผู้ปกครองอื่นเพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

จากแนวทางดังที่กล่าวมานั้น นอกจากผู้ปกครองจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจและเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว หัวใจในการป้องกันให้เด็กห่างไกลจากยาเสพติดคือ ผู้ปกครองต้องมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้สึกได้ถึงความรักและความห่วงใยที่มีให้เสมอ คอยรับรู้และรับฟังความในใจของเด็ก รวมทั้งเปิดช่องทางในการสื่อสารและเปิดใจพูดคุยกันระหว่างเด็กและผู้ปกครองอยู่เสมอ

17 December 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 6844

 

Preset Colors