02 149 5555 ถึง 60

 

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

“ไม่เจอกันแป๊บเดียว โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว!”

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคงเคยได้ยินคนใกล้ชิดทักทายบรรดาลูกๆของเราด้วยประโยคข้างต้นอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยความที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เคยชิน หรือเห็นว่าลูกยังเป็นเด็กอยู่เสมอและไม่ได้สังเกตอย่างจริงจังว่าลูกๆเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวข้ามจากวัยเด็กเข้าสู่วัยแรกรุ่น ซึ่งนอกจากจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายแล้วยังรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและจิตใจด้วย

การเข้าสู่วัยแรกรุ่นของเด็กแต่ละคนและแต่ละเพศอาจไม่พร้อมกัน บางคนเร็วกว่า บางคนช้ากว่าเพื่อนๆในรุ่นเดียวกัน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล วัยแรกรุ่น (Puberty) เป็นช่วงวัยของการเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ โดยมากจะอยู่ในช่วงอายุ 8-9 ปี ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 13-14ปี คาบเกี่ยวและสัมพันธ์กับช่วงอายุวัยรุ่น (13-19 ปี) ที่มีการแสดงออกและมีพฤติกรรมแตกต่างออกไปจากช่วงวัยเด็กที่คุณพ่อคุณแม่คุ้นเคย

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของลูกๆในช่วงวัยแรกรุ่นนี้ สามารถสังเกตได้ค่อนข้างเด่นชัดและมักเกิดขึ้นในเด็กหญิงก่อนเด็กชายประมาณ 1-2 ปี โดยเริ่มจากหน้าอกเริ่มขยายขึ้น แขน ขาและลำตัวยาวขึ้น ขณะที่สะโพกและต้นขาขยายออก เริ่มเกิดสิวบริเวณใบหน้า จนถึงการมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก

สำหรับเด็กชายนั้นมักเริ่มจากแขน ขาและลำตัวยาวขึ้น มีการสร้างมัดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและหัวไหล่ เสียงเปลี่ยน มีโอกาสเป็นสิวบริเวณใบหน้ามากขึ้น มีเหงื่อออกมากและมักมีกลิ่นตัว

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายนี้นอกจากจะต้องเพิ่มการดูแลเอาใจใส่ทางร่างกายแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องเพิ่มการดูแลเอาใจใส่ทางอารมณ์และความรู้สึกของเด็กด้วย เด็กผู้ชายบางคนกระตือรือร้นที่จะได้เรียนรู้การใช้ใบมีดโกน เด็กหญิงบางคนตื่นเต้นกับการได้เลือกใช้เสื้อชั้นในตามแบบผู้ใหญ่ บางคนอาจมีความกังวลและไม่ชอบใจในรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป บางคนรู้สึกไม่สบายใจ เขินอายหรือประหม่าเมื่อต้องพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตนเองให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นคนเก็บตัวก็เป็นได้

นอกจากนี้ เด็กวัยนี้จะเริ่มรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงต้องการเป็นอิสระจากการควบคุมของคุณพ่อคุณแม่ ประกอบกับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เด็กต้องใช้ชีวิตกับกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน จึงทำให้กลุ่มเพื่อนเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมการแสดงออกของลูกๆมากกว่า ดังนั้น ตราบใดที่คุณพ่อคุณแม่ยังเห็นลูกๆเป็นเด็กที่โตแต่ตัวนั้น อาจทำให้ต้องรับมือกับช่วงเวลาของความไม่ลงรอยกันภายในบ้าน เพราะบ่อยครั้งที่วิธีการเข้าหาลูกหรือการดูแลลูกของคุณพ่อคุณแม่ในรูปแบบเดิมๆอาจทำให้ลูกรู้สึกเบื่อ ลูกจึงขัดขืนเพราะรู้สึกว่าเป็นการเข้ามายุ่งวุ่นวายในชีวิตซึ่งเขาไม่ต้องการเหมือนตอนเป็นเด็กเล็กๆอีกแล้ว

มีข้อแนะนำบางประการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปฏิบัติต่อลูกในวัยนี้ คือ

1. ไม่บังคับจิตใจของลูกมากจนลูกไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรให้ลูกต้องฝืนทำอะไรตามใจพ่อแม่เพียงอย่างเดียว เช่น การบังคับให้ต้องทำกิจกรรมที่เขาไม่ชอบ เด็กบางคนไม่อยากเรียนพิเศษทางวิชาการในวันหยุดแต่อยากไปเล่นกีฬา ไปเรียนเต้น ไปเล่นดนตรี คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจัดตารางกิจกรรมอย่างเหมาะสม โดยการคุยกันกับลูกว่าหากเรียนพิเศษเสริมความรู้ทางวิชาการสัก 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบต่อจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หรือหากลูกอยากทำอะไรที่คุณพ่อคุณแม่พิจารณาแล้วว่าไม่ได้มีความเสียหายอะไรก็ควรให้ลูกได้ทำบ้าง เช่น ลูกขอไปนัดเจอเพื่อในวันหยุด ลูกขอไปดูคอนเสิร์ตที่ชอบ คุณพ่อคุณแม่สามารถอนุญาตให้ลูกไปได้และดูแลอยู่ห่างๆ โดยการไปรับไปส่ง หรือกำหนดเวลาตามแต่สมควรในแต่ละกิจกรรม ก็จะทำให้ลูกรู้สึกมีอิสระแต่ก็อุ่นใจว่าพ่อแม่ก็เข้าใจในความต้องการของเขา

2. ไม่พูดคำหรือประโยคที่ซ้ำซากกับลูก เด็กที่เริ่มโตจะรู้สึกรำคาญและต่อต้านเวลาถูกสั่ง ถูกต่อว่าหรือถูกสอนด้วยคำหรือประโยคเดิมๆ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่บอกหรือสั่งให้ลูกทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเขาไม่ทำตาม อาจต้องใช้วิธีการพูดคุยด้วยประโยคสนทนาทั่วไป เช่น คุณพ่อคุณแม่สั่งให้ลูกเก็บของในห้องที่รกอยู่ให้เรียบร้อยแล้วลูกไม่ยอมเก็บเสียที คุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยในลักษณะว่า “แม่เก็บของที่ไม่ใช้แล้วรวบรวมจะเอาไปบริจาคในสัปดาห์หน้า ลูกมีของอะไรที่ไม่ใช้แล้วจะเอาบริจาคบ้างหรือไม่ ลองเก็บๆดูนะ จะได้เอาไปทำบุญกัน” ดีกว่าที่จะพูดว่า “เก็บของรึยังๆๆๆ” “บอกให้เก็บของทำไมไม่ทำๆๆๆ”

ต่อไปนี้เป็น 3 คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการรับมือกับช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงของลูก

1. สร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ลูก - การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์นั้นอาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและไม่มั่นใจในตนเอง การสร้างทัศนคติหรือมุมมองที่ดีต่อตนเองสามารถทำได้โดยการให้คำแนะนำเรื่องการรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าและจุดซ่อนเร้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสิวและกลิ่นตัว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ตลอดจนพักผ่อนให้เพียงพอจะส่งผลให้สุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง การเลือกใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและสมส่วน จะช่วยให้ดูดีและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก เมื่อลูกมั่นใจในความเปลี่ยนแปลงของตนเอง ก็จะทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

2. ใส่ใจใกล้ชิดลูก - การสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญเสมอสำหรับเด็กในทุกช่วงวัย การปฏิบัติต่อกันแบบผู้ใหญ่กับเด็กด้วยความเคยชินล้วนเป็นสาเหตุให้ลูกๆปิดบังปัญหา ข้อสงสัย หรือความไม่สบายใจต่างๆที่ควรได้พูดคุยกัน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องปรับตัวให้ทันกับช่วงวัยของลูกและสร้างช่องทางการสื่อสารที่ต่อเนื่องโดยหาโอกาสใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจในการพูดคุย สอบถาม รับฟังและแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันและกัน

3. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูก - เด็กในวัยนี้มักเลือกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนสนิทรับรู้มากกว่าจะเป็นคนในครอบครัวเพราะรู้สึกว่ามีความเข้าใจในกันและกัน ดังนั้น การสร้างสังคมกลุ่มเพื่อนที่ดีในช่วงวัยเดียวกันเป็นสิ่งจำเป็นต่อความเชื่อมั่นในตนเองและการก้าวเดินไปอย่างถูกต้องสำหรับเด็กวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยคัดกรองสิ่งแวดล้อมโดยการทำความรู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและผู้ปกครองคนอื่นเพื่อช่วยดูแลเอาใจใส่เด็กของกันและกัน

แม้ความเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยแรกรุ่นจะเป็นเรื่องปกติที่เด็กทุกคนต้องผ่านเพื่อไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรละเลยและพึงตระหนักว่าเด็กๆล้วนต้องการความดูแลเอาใจใส่ การให้คำปรึกษาและคำแนะนำอย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนความคาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาวะทางร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปจากคุณพ่อคุณแม่อย่างดีเสมอไม่ว่าเขาจะเติบโตไปอีกนานแค่ไหนก็ตาม

24 December 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 4773

 

Preset Colors