02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ชี้ หากตำรวจคิดฆ่าตัวตาย มักประสบความสำเร็จสูงกว่าคนในอาชีพอื่น

จิตแพทย์ชี้ หากตำรวจคิดฆ่าตัวตาย มักประสบความสำเร็จสูงกว่าคนในอาชีพอื่น

จิตแพทย์ชี้ หากตำรวจคิดฆ่าตัวตาย มักประสบความสำเร็จสูงกว่าคนในอาชีพอื่น – BBCไทย

จดหมายสั่งลา “หมดเวลาบนโลกนี้แล้ว” กับปืนพกประจำกายที่ใช้เป็นเครื่องมือปลิดชีพหล่นทิ้งไว้ข้างกาย ภายในบ้านที่เลือกใช้เป็นสถานที่จบชีวิต…นี่เป็นเพียงคำบรรยายเหตุการณ์ตำรวจฆ่าตัวตายเหตุการณ์หนึ่งที่ตกเป็นข่าวสะเทือนใจคนทั้งประเทศเมื่อปีที่แล้ว โดยเหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ชักปืนจ่อหัว กระโดดตึก แขวนคอดับ รมควันในรถยนต์ เป็นถ้อยคำพาดหัวข่าวเหตุการณ์ตัดสินใจลาโลกของตำรวจบางนาย จนอาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตำรวจไทยเป็นอาชีพเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จริงหรือ

แพทย์หญิงฐานิยา บรรจงจิตร จิตแพทย์ผู้ชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ไม่คิดเช่นนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าคนทำงานในทุกสาขาอาชีพล้วนมีโอกาสพบเจอปัญหาทางจิตเวช อาทิ โรคซึมเศร้าได้

“การฆ่าตัวตายมีในทุกกลุ่มอาชีพ แต่ตำรวจนั้นมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จเยอะกว่า เพราะวิธีที่ใช้รุนแรงมากกว่า” เนื่องจากมีปืนใกล้ตัว และทำงานใกล้ชิดกับความรุนแรง ของคดีต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ของแผนกจิตเวชและยาเสพติด รพ. ตำรวจ เล่าว่า ตำรวจเป็นกลุ่มอาชีพที่บุคลากรมีปัญหาด้านจิตเวช แต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งจิตแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจในส่วนกลางที่มีเพียง 4 คน กับนักจิตวิทยา 8 คนนั้น ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยทั้งตำรวจ และประชาชนทั่วไป ที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน

จากผู้ป่วย โรคซึมเศร้า สู่เจ้าของคาเฟ่สุนัขที่ช่วยบำบัดจิตใจ

1 คนกับสัตว์เลี้ยง 4 ตัว คือสมการคลายทุกข์คนในงานศพ ของจิตอาสา บุญมา พึ่งตระกูล

พญ. ฐานิยา ชี้ให้ดูสถิติจำนวนคนไข้ แสดงให้เห็นถึงอีกปัญหาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น คือ ผู้ป่วยที่เป็นตำรวจหญิง มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ข้าราชการตำรวจที่ใช้บริการกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด

จำนวนตำรวจทั่วประเทศ กว่า 200,000 คน

ปี (พ.ศ.) จำนวน (ราย) ตำรวจชาย ตำรวจหญิง

2561 2,134 1,405 729

2560 2,072 1,482 580

2559 2,576 2,061 515

ที่มา: กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตร.

“ตำรวจหญิงที่เจอ ทำงานธุรการเป็นหลัก โดนกดดันจากผู้บังคับบัญชาตามงานนอกเวลาราชการ ไม่รับโทรศัพท์ทันทีก็โดนตำหนิ พอมาถึงที่ทำงานก็โดนว่าประจานต่อหน้าเพื่อน ๆ”

พญ. ฐานิยา ยกตัวอย่างว่า ตำรวจหญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล จะได้รับความช่วยเหลือประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเสนอแนะ และ ได้รับการโยกย้ายไปประจำยังสถานีตำรวจอื่น

“ติดภารกิจ มาไม่ได้จริง ๆ”

รพ. ตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสถานที่แรกที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และครอบครัวตำรวจเลือกเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค เพราะเป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้ ดังนั้นจึงมีตำรวจเข้าออกโรงพยาบาลแห่งนี้ตลอดเวลา

ต้นข้าว (นามสมมติ) นางพยาบาลที่มียศตำรวจสัญญาบัตรของ รพ. ตำรวจ เล่าว่า ตำรวจแต่ละคนเมื่อเข้ามายังโรงพยาบาลก็นำเอาความเครียด วิตกกังวล มาระบายให้ฟังบ่อยครั้งจนเธอเชื่อมั่นว่า อาชีพตำรวจน่าจะมีความเครียดค่อนข้างสูง

เหตุด่วน เหตุร้าย ตำรวจมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน

“ไหนจะความรับผิดชอบ ไหนจะครอบครัว เข้างานเข้าเวรก็ไม่เหมือนบริษัททั่วไป คนร้ายคนหนึ่งต้องดูแลถึงขึ้นศาล เป็นหน้าที่ต่อเนื่อง แต่พอป่วย ไม่ว่าทางกายหรือทางจิต เขาก็บอกว่า ต้องเข้าเวรนะ ติดภารกิจ พี่ครับมาไม่ได้จริง ๆ”

ดังนั้น เมื่อถามความเห็นถึงข่าวตำรวจเครียดจนฆ่าตัวตาย เธอจึงไม่รู้สึกแปลกใจ และยอมรับว่าตัวเองเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และคิดจบชีวิตเหมือนกัน

“มันเหมือนระเบิดเวลาที่ตั้งเอาไว้ นานวันขึ้น ความรับผิดชอบเยอะขึ้น สิ่งแวดล้อม หน้าที่การงาน เรื่องส่วนตัวด้วย ทำให้ตัวเองไม่อยากอยู่ในโลกนี้” ต้นข้าว ตอบเสียงเศร้า

“มันเหมือนระเบิดเวลาที่ตั้งเอาไว้”

ตำรวจสายปฏิบัติถือว่าสุ่มเสี่ยงมากกว่าสายอื่น เพราะเข้าถึงอาวุธได้ง่ายโดยเฉพาะปืนซึ่งเป็นอาวุธประจำกายนั้นเธอเห็นว่าไม่ต่างจากดาบสองคม คมหนึ่งไว้ใช้ทำหน้าที่ อีกคมที่บาดเข้าตัวเองได้ง่าย ๆ แล้วยังเป็นเสี้ยวความคิดที่กลับลำไม่ได้

“ตำรวจถ้าคิดจะทำอะไรแล้ว เขาคงแอบไปทำเลย และง่ายที่สุดคือใช้อาวุธปืน”

ปี 2561 ตร. เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง 65 คน

กรณีตำรวจมีอาการซึมเศร้าและลงมือฆ่าตัวตาย นอกจากจะเป็นข่าวสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์นับแต่ปลายปี 2560 แล้ว ยังเป็นแรงผลักดันให้ รพ. ตำรวจ ริเริ่มสำรวจสุขภาพจิตของตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรง และมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย

“เราไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วมองกระจกหลัง” พล.ต.ท.นพ. วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ รพ. ตำรวจ

พล.ต.ท.นพ. วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ รพ. ตำรวจ บอกกับบีบีซีไทยว่าจากการสำรวจเป็นเวลา 1 ปีเต็ม พบว่ามีตำรวจสายงานปฏิบัติมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 65 นาย ทางโรงพยาบาลมีรายชื่อทุกนายที่เข้าข่ายนี้แล้ว

สกัดอย่างไรเมื่อเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กคิดฆ่าตัวตาย? คำแนะนำจากเฟซบุ๊ก

“จากนี้เราจะส่งจิตแพทย์เข้าช่วยเหลือ คุยกับผู้บังคับบัญชา เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเหล่านี้ฆ่าตัวตายในอนาคต เราไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้น แล้วค่อยมองกระจกหลัง แต่เราควรมองกระจกหน้าป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น”

โดยปกติแล้วโรงพยาบาลตำรวจจะให้บริการตรวจสุขภาพตำรวจทั่วประเทศ แต่ขณะนี้ได้เพิ่มการสำรวจสุขภาพจิตเข้าไปด้วย โดยทำการประเมิน 3 ด้าน คือความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย สุขภาพจิตใจ และดัชนีวัดความสุข

การดำเนินงานต่อจากนี้ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดจะเทียบเคียง รายชื่อตำรวจกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย 65 นาย กับตำรวจที่มีค่าสุขภาพจิตต่ำ (เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง) ว่ามีรายชื่อตรงกันหรือไม่ เพราะหากมีรายชื่อตรงกันหมายความว่าโรคทางจิตเวชเป็นสาเหตุให้คิดค่าตัวตาย ก่อนจะเข้าให้การบำบัดต่อไป

ตำรวจไทย ไม่มีความสุข?

พญ. ฐานิยา ศึกษาตัวเลขเชิงสถิติของผลสำรวจสุขภาพจิต มองว่า จำนวนตำรวจที่เสี่ยงฆ่าตัวตายและมีอาการโรคซึมเศร้ารุนแรงตามที่ปรากฎในผลสำรวจ ถือว่าค่อนข้างน้อย สนับสนุนความเชื่อของเธอว่า ตำรวจไทยไม่ได้เครียดมากกว่าประชาชนทั่วไป แค่ปัจจัยความเครียดแตกต่างจากคนปกติเท่านั้น อาทิ การโยกย้ายตำแหน่ง หรือเจอคดีที่ลำบากใจ เป็นต้น

“ตำรวจชั้นผู้น้อย รับร้องเรียนคดีแล้วเครียด ประชาชนกดดัน ใช้คำพูดรุนแรง” ส่วนตำรวจระดับสูง “ต้องดูแลตำรวจใต้บังคับบัญชา ต้องรับโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง โทรนอกเวลางาน ตี 1 ตี 2 เสาร์อาทิตย์ก็ไม่เว้น”

ทั้งนี้ หากพิจารณาเอกสารสรุปวัดความสุขข้าราชการตำรวจแล้ว เธอวิเคราะห์ว่าตำรวจไทยจำนวนมากกว่าครึ่งมีความสุขเท่ากับคนทั่วไป

“ซึมเศร้า เราใส่ใจ“

กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ยอมรับว่าข้าราชการตำรวจยังมีมุมมองต่อการรับบริการด้านจิตเวชไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป คือเกรงว่าจะถูกมองว่าเป็นโรคจิต และเกรงว่าการเข้ารับการรักษาจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน

ดังนั้นเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงการบริการ ทางกลุ่มงานฯ ได้จัดตั้งเพจ Depress We Care (ซึมเศร้า เราใส่ใจ) ขึ้น และดำเนินงานมาครบ 1 ปีแล้ว โดยมีเบอร์โทรศัพท์สายด่วน 1559 เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวตำรวจ ขอรับคำปรึกษาแบบเร่งด่วนได้ทันทีแล้ว กับมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคอยตอบคำถาม และให้คำแนะนำ อย่างไรก็ดีผู้ใช้บริการส่วนใหญ่กว่า 70% ยังคงเป็นประชาชนทั่วไป

สุพัฒน์ โตตาบ นักจิตวิทยา เล่าประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหารายหนึ่งจนรอดพ้นจากการฆ่าตัวตายมาได้

“อันนี้เคสด่วน โทรมาตัดพ้อเสียใจนานตั้งแต่ 11 โมง ถึงบ่ายสอง คนไข้พูดตลอดว่าจะอัดยาฆ่าตัวตาย เราคนหนึ่งคุย อีกคนพยายามประสานให้คนไปตามหา สุดท้ายก็เจอตัวและส่งมารักษาที่เรา”

อย่ากลัวที่จะมารักษา

ในฐานะอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้นข้าว อยากบอกถึงเพื่อนตำรวจว่า หากเครียด คิดทำร้ายตัวเอง อย่ากลัวที่จะมารักษา เหมือนที่ครั้งหนึ่งเธอก้าวข้ามสายตาผู้อื่น เข้าหาหมอเพื่อบำบัด จนรอดจากความคิดฆ่าตัวตายมาได้

“อย่าใส่ใจสายตาผู้อื่นมาก ชีวิตเราก็ไม่ได้ดีขึ้น” ต้นข้าว (นามสมมติ) อดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

“เปิดใจยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น เหมือนเรารู้ว่าเป็นเบาหวาน โรคทางกาย โรคทางจิตก็เหมือนกัน อย่าใส่ใจสายตาผู้อื่นมาก ชีวิตเราก็ไม่ได้ดีขึ้น หมอทางกายมี หมอทางจิตก็มี และรีบเข้ารับการรักษา” นางพยาบาล ต้นข้าว แนะนำ

10 January 2562

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 3149

 

Preset Colors