02 149 5555 ถึง 60

 

ควัน "บุหรี่" ก่อฝุ่น PM2.5 สูงกว่าไอเสียรถ ดูด "บุหรี่ไฟฟ้า" ค่าฝุ่นพิษลมหายใจพุ่ง 15 เท่า

ควัน "บุหรี่" ก่อฝุ่น PM2.5 สูงกว่าไอเสียรถ ดูด "บุหรี่ไฟฟ้า" ค่าฝุ่นพิษลมหายใจพุ่ง 15 เท่า

อาจารย์แพทย์ มศว เผยงานวิจัยพบ "บุหรี่" ก่อฝุ่น PM2.5 มากกว่าควันดำรถดีเซล ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าเข้าปอดพบ ค่าฝุ่น PM2.5 ในลมหายใจสูงถึง 151 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าค่าปลอดภัยรายปี 15 เท่า ทดสอบอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าในกล่องอะคริลิกปิด ค่าฝุ่นสูงเกินกว่า 500 มคก./ลบ.ม. ซ้ำยังตกค้าหลังจากควันจางหาย สะท้อนชัดร้ายกาจกว่า อยู่ใกล้ตัวกว่า

วันนี้ (30 ม.ค.) รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวในงานแถลงข่าวถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว ว่า ปัญหาของฝุ่น PM2.5 หลายคนมองว่ามาจากรถดีเซลที่ปล่อยควันดำ ส่วนบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นควันสีขาวนั้นไม่เกี่ยว ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ความดำและควันขาวล้วนก่อให้เกิดฝุ่น PM2'5 เหมือนกัน ซึ่งมีผลการวิจัยเทียบกันง่ายๆ ระหว่างควันบุหรี่กับไอเสียรถยนต์ โดยทดลองนำรถดีเซลที่เป็นรถปิกอัพเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี เข้ามาในโรงจอดรถแบบปิด ขนาด 60 ตารางเมตร โดยจอดสตาร์ททิ้งไว้นาน 30 นาที เทียบกับบุหรี่ 3 มวน ที่จุดทิ้งไว้ในโรงรถขนาดเดียวกันต่อเนื่อง 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า บุหรี่ 3 มวน ก่อให้เกิดค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าไอเสียจากรถยนต์ โดยสูงถึง 591.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่ไอเสียรถยนต์ดีเซลสูง 250.8 มคก./ลบ.ม.

"เรียกว่าบุหรี่ให้กำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเยอะกว่าท่อไอเสียมาก และทุกวันนี้คนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ย 10.9 ล้านคน หรือทุกๆ 6 คน จะมีคนไทยสูบบุหรี่ 1 คน อยากให้ลองคิดว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้นควันจะเยอะมากแค่ไหน ส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคนมักจะเรียกว่า ไอ และมีความปลอดภัยกว่า จริงหรือไม่นั้น ก็มีการศึกษาเช่นกัน โดยมีนักวิจัยไปเก็บข้อมูลงานโปรโมตขายบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งมีผู้สูบประมาณ 59-86 คน ที่เดินเข้าออกอีเวนต์ฮอลล์ ขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตร โดยวัดค่า PM2.5 ใน 3 ช่วง คือ 1 วันก่อนจัดงาน วันจัดงาน และ 1 วันหลังจัดงาน" รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ผลปรากฏว่า ช่วงก่อนวันจัดงานค่า PM2.5 เป็นปกติ แต่ขณะจัดงานค่าฝุ่นสูงมากกว่า 800 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยรายปี 10 มคก./ลบ.ม.ถึงกว่า 80 เท่า ขณะที่หลังจากจัดเสร็จงานเสร็จ ก็พบว่าค่าฝุ่นยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า ยังมีการตกค้างหลงเหลือในสิ่งแวดล้อมที่อีเวนต์ฮอลล์นั้นอยู่ บ่งชี้ว่า ไอของบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสามมีอยู่จริง และเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ ขณะที่การทดสอบอาสาสมัครที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสูบแล้ววัดระดับ PM2.5 ในลมหายใจพบว่า สูงถึง 151.7 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าถึง 15 เท่า และเมื่อทดสอบด้วยการอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าภายในกล่องอะคริลิก แล้ววัดค่า ปรากฏว่า เกินกว่า 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่เครื่องมือวัดได้ และหลังจากดูดควันออกจากกล่อง และเช็ดทำความสะอาดแล้ว ค่าฝุ่น PM2.5 ยังสูงถึง 130 มคก./ลบ.ม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน ยังมีการทดลองอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าเข้ากล่องอะคริลิกและวัดค่าให้เห็นชัดๆ โดยปรากฏว่า ก่อนที่จะปล่อยไอควันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป ค่าฝุ่น PM2.5 ในห้องอยู่ที่ประมาณ ราว 70 มคก./ลบ.ม. แต่เมื่อเริ่มปล่อยควันค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อนื่องเกินกว่า 420 มคก.-ลบ.ม. ทั้งที่เครื่องวัดยังอยู่ภายนอกกล่องอะคริลิก และเมื่อนำเครื่องเข้าไปในกล่อง ปรากฏว่า ขึ้นสูงสุดไปถึง 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดของเครื่องที่วัดได้

31 January 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1956

 

Preset Colors