02 149 5555 ถึง 60

 

ค่าฝุ่นเพิ่มขึ้น ทำอายุขัยสั้นลงเกือบปี จี้ปรับค่ามาตรฐานใหม่ตาม WHO ช่วยอายุยืนขึ้น

ค่าฝุ่นเพิ่มขึ้น ทำอายุขัยสั้นลงเกือบปี จี้ปรับค่ามาตรฐานใหม่ตาม WHO ช่วยอายุยืนขึ้น

อาจารย์แพทย์ มช. เผย ค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก./ลบ.ม. ทำอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี เพิ่มการเสียชีวิตที่ไม่ทราบสาเหตุรายวัน ป่วยรุนแรงเข้า รพ. เพิ่มขึ้น ท้วงไทยใช้ค่ามาตรฐานต่ำกว่า WHO ทั้งที่ปอดคนไทยเหมือนคนชาติอื่น อย่าแค่เอาใจเศรษฐกิจ ชี้ ปรับค่ามาตรฐานลงรายปีเหลือ 10 มคก./ลบ.ม. อายุยืนเพิ่มขึ้น 4% ต่อปี คน กทม. อายุยืนขึ้น 2.4 ปี ภาคเหนืออายุยืนอีก 4-6 ปี “หมอฉันชาย” จี้ปรับเกณฑ์มาตรฐาน หลังไม่ปรับเลยเกือบ 10 ปี

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธิ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ขณะนี้ถ้ามองจากดาวเทียม จะพบว่า กระจายรุนแรงขึ้น และฝุ่นนี้เล็กมากจนสามารถแทรกลมหายใจเข้าไปในปอด และถุงลมได้ รวมถึงสามารถผ่านเข้าไปในเส้นเลือด จึงเป็นปัญหาความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ จากการสอบถามเครือข่ายแพทย์ใน 10 คลินิกของ กทม. พบว่า คนไข้มาพบแพทย์มากขึ้น 3 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กทั้งนั้น ที่สำคัญ ปัญหาฝุ่นทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก อย่างเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน สูญเสียถึง 625 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1% ของจีดีพีที่เซี่ยงไฮ้ ส่วนประเทศไทยเรามีงบรวมประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ถ้าสังคมไทยยังไม่ตระหนักปัญหานี้ ตัวเลขงบรักษาพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาล ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้เป็นโรค ถึง 91% เกิดจากฝุ่นและมลพิษ ถ้าสามารถทำให้อากาศอยู่ในระดับปกติได้ ไม่มากกว่า 15 มคก./ลบ.ม. ประชาชนบริเวณนั้นจะอายุยืนขึ้น 20 เดือน

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ มีมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น มาตรการที่ใช้อยู่ยังไม่เพียงพอหรือเรียกว่า ล้มเหลว ซึ่งค่าฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 ด้าน คือ 1. ทำให้อายุขัยสั้นลง ซึ่งมีการศึกษาจากประเทศจีน ว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อปี จะทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี หากเทียบกับจำนวนประชากรโลกที่มีหลายพันล้านคน ก็พบว่า ประชากรโลกอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.8 ปี ขณะที่อินเดียอายุขัยสั้นลง 6 ปี ส่วนประเทศไทยพบว่า พะเยา ที่มีปัญหาฝุ่นควันพิษอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 5.6 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยได้ยินจากภาครัฐเลย ส่วนสาเหตุที่ทำให้อายุขัยสั้นลง มาจากการตายของหลายโรคที่องค์การอนามัยโลกเอามาเป็นตัวชี้วัด คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน โรคมะเร็งปอด และโรคปอดบวม ซึ่ง 4 โรคดังกล่าวติด 5 อันดับตายสูงสุดของประเทศไทย รองจากอุบัติเหตุ และมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ อย่างของประเทศไทยก็จะชัดเจนว่า การเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ภาคเหนือตอนบนตายมากสุด ภาคใต้น้อยที่สุด ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์กับการจุดเผา

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า 2. การเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้น ได้มีการศึกษาในปี 2016-2018 โดยพบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. คนเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตรายวันโดยไม่ทราบสาเหตุที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและการฆาตกรรม เพิ่มขึ้น 1.6% ใน 1 สัปดาห์ เฉพาะที่ อ.เชียงดาว ตายรายวันเพิ่มขึ้น 3.5% ผู้ป่วยแอดมิด รพ.เชียงดาว เนื่องจากนอนรักษาโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ สัมผัสทั้งวันทั้งคืน อัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15% ในทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. ที่เพิ่มขึ้น และ 3. การเจ็บป่วยรุนแรงที่สูงขึ้น ทั้งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดอักเสบ หลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่กำเริบต้องมา รพ. มากขึ้น ซึ่งปัญหาคือ การกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศของไทยยังต่ำกว่าองค์การอนามัยโลก ทั้งที่เราก็มีปอดเหมือนคนต่างชาติทั่วๆ ไป เช่นนี้เหมือนเอาใจภาครัฐ เศรษฐกิจ มากกว่าสุขภาพของประชาชน และเป็นการลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ยังไม่อันตราย ทำให้ประชาชนไม่ป้องกันตนเองและครอบครัว

“เกณฑ์มาตรฐานอากาศจริงๆ แล้ว ไม่มีคำว่าเซฟตีเลเวล เพราะมากกว่า 0 ก็มีค่าเสี่ยงทั้งนั้น แต่องค์การอนามัยได้ทบทวนแล้วประกาศค่าปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนมากที่สุด คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 รายวัน ต้องไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี ต้องไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม. ซึ่งประเทศสมาชิกควรใช้ตามไกด์ไลน์นี้ ส่วนประเทศไทยสูงกว่า 2 เท่า โดยค่ารายวันอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. และรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. และไม่เคยปรับค่าใหม่เลย ทั้งที่ประเทศที่มีมลภาวะสูงมากอย่างอินเดีย บังกลเทศ จีน กำหนดเป้าหมายตามลำดับ โดยเบื้องต้นค่ารายปีจะต้องไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ระยะกลาง 25 มคก./ลบ.ม. และระยะท้าย 15 มคก./ลบ.ม. เพื่อลดความสูญเสีย” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า ทั้งนี้ มีการศึกษาค่าความเข้มข้นรายปีของฝุ่น PM 2.5 ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ พบว่า การลดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 รายปีให้เหลือ 35, 25, 15 และ 10 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ จะลดการสูญเสียการตายก่อนวัยอันควรได้ทั้งหมดจาก 1.2 ล้านคน เหลือแค่ 4 แสนคน ถ้าไทยลดค่าฝุ่น PM2.5 รายปีลงเหลือ 15 มคก./ลบ.ม. การมีชีวิตรอดจะเพิ่มขึ้น 3% ถ้าลดเหลือ 10 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มการมีชีวิตรอด 4% ต่อปี โดยชาวพะเยาจะอายุยืนขึ้น 5.6 ปี ภาคเหนือเฉลี่ย 4-6 ปี อีสาน 2-4 ปี กทม. 2.4 ปี ภาคตะวันออก 1-3 ปี อย่างไรก็ตาม การเตือนค่าฝุ่นละอองจะต้องเตือนทั้งค่ารายวัน ราย 1-3 ชั่วโมง รวมถึงต้องบอกข้อมูลแบบเรียลไทม์ และมีเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลเดียวที่แสดงให้เห็นชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน อย่างของเชียงใหม่เรามีการทำค่าดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ว่าฯ เชียงใหม่สนับสนุน โดยติดตั้งเซนเซอร์และแจ้งค่าฝุ่นทั้งหมด 25 อำเภอ ส่วน ก.พ. นี้ จะติดตั้งทุกตำบลใน รพ.สต. ซึ่งประชาชนจะเห็นและทราบทันทีว่าวันนี้ค่าอากาศเป็นสีอะไร เพื่อเตรียมความพร้อม

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า ล่าสุด มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเชิญคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเข้าหารือในวันที่ 4 ก.พ. นี้ ก็ต้องรอดูว่าจะมีผลอย่างไรออกมา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องชัดว่า สาเหตุฝุ่นจิ๋วมาจากอะไร และควรมีแหล่งข้อมูลหลักจากแหล่งเดียว และจะแก้ไขอย่างไร โดยต้องดูว่าผลกระทบต้องชัด เช่น ผลกระทบเฉียบพลัน หากฝุ่นสูงมากๆ จะเฉียบพลัน เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แต่ผลจากระยะยาว ซึ่งวัดค่าเฉลี่ยรายปี อย่างค่าสูงเกิน 30-40 มคก./ลบ.ม. จะไม่มีอาการ แต่จะส่งผลระยะยาว เช่น มะเร็ง สมองเสื่อม พัฒนาการเด็ก ทั้งนี้ ไทยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ตั้งต่ปี 2553 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี คือ ค่าเฉลี่ยรายวันไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. และรายปีไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่มีการปรับปรุงในแต่ละปีเลย มีแต่การตื่นเต้นเป็นครั้งคราว ดังนั้น เราต้องมีข้อมูลวิชาการว่า ค่ารายวันรายปี จะทำอย่างไรให้อยู่ในค่ามาตรฐาน และต้องมีการปรับปรุงทุกปี

“ตัวอย่างในสิงคโปร์ ตั้งไว้รายปีค่าเฉลี่ย 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งก็ยังสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอยู่ดี เราต้องมาปรับตรงนี้ว่าจะอย่างไรกันแน่ ดังนั้น การดูแลผลกระทบจากฝุ่นจิ๋ว ควรต้องดูแลระยะสั้น และระยะยาวด้วย อย่างคนไข้หลายคนเป็นมะเร็งปอด โดยไม่ได้สูบบุหรี่ ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแน่ๆ ตรงนี้ก็ต้องมีการติดตามเพื่อให้ได้ผลระยะยาวด้วย ดังนั้น รัฐต้องมีเป้าให้ชัด วัดให้ได้ และไปให้ถึง อย่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลายคนก็มีเป้าหมายที่อาจไม่ตรงกับสุขภาพ ซึ่งตอนนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีพรรคการเมืองไหนเอาเรื่องนี้ขึ้นเป็นนโยบายว่า PM2.5 ในกี่ปีจะเหลือเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ทางการแพทย์ เป้าสำคัญ คือ สุขภาพของประชาชน นั่นคือ ผลระยะยาว แต่หากใครจะเอาผลทางธุรกิจ มันคือระยะสั้น ซึ่งในระยะยาวเจ๊งแน่นอน และทุกวันนี้ประชาชนจะหาข้อมูลบางทีก็มาจากหลายแหล่ง ต้องมีเว็บไซต์ทางการที่อัพเดตข้อมูลเท่าทันกับของโลกด้วย นักวิชาการต้องมาคุยกันว่า เราจะใช้เว็บไซต์ไหนวิธีการวัดอย่างไร ได้มาตรฐานหรือไม่ และจะใช้ตัวเลขค่ามาตรฐานที่เหมาะสมอย่างไร จริงๆ โมเดลเชียงใหม่น่าจะดี และควรนำมาปรับใช้ด้วย” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกิน 70 ฉบับ เรามีความสามารถในการออกกฎหมาย แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เราจะต้องทำอย่างไร ลดการใช้เชื้อเพลิง เราจะทำอย่างไรอย่างโรงเรียนหนึ่ง เด็กๆ จะใส่หน้ากากหมด แต่พ่อแม่ยังขับรถไปส่งรถหน้าโรงเรียน เราต้องกล้าปิดโรงเรียน เราต้องกล้าบังคับใช้เรื่องควบคุมต่างๆ ด้วย และในเรื่องการจัดการเรื่องงบประมาณ จริงๆ เรามี พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2535 มีการเก็บภาษีน้ำเสียจากโรงงาน เราน่าจะเอาตรงนี้มาทำในเรื่องฝุ่นได้ด้วย อย่างเรื่องภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยจูงใจเรื่องมาตรการภาษี หากมีการปล่อยมลพิษมากก็มีการปรับภาษีมาก เพื่อนำเงินตรงนี้มาชดเชยผู้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เหมือนการเก็บภาษีบุหรี่เพื่อมาส่งเสริมสุขภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดีและควรทำ แต่ก็ต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมด้วย ซึ่งเดนมาร์คใช้ภาษี 8% ในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

31 January 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2175

 

Preset Colors