02 149 5555 ถึง 60

 

ออกสเต็ปเต้น ลดภาวะสมองเสื่อม

ออกสเต็ปเต้น ลดภาวะสมองเสื่อม

"ออกสเต็ปเต้น" เป็นประจำมีความเสี่ยงทุพพลภาพลดลง

การศึกษา 2 ชิ้นเผย การเต้นอาจช่วยรักษาสุขภาพในผู้สูงวัย โดยเฉพาะลดความเสี่ยงต่อภาวะทุพพลภาพและภาวะสมองเสื่อม ชิ้นแรกได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในกีฬาแห่งสแกนดิเนเวีย ได้ศึกษาว่าการเคลื่อนไหวร่างกายหลากหลายรูปแบบส่งผลต่อผู้หญิงสูงวัยชาวญี่ปุ่น (จำนวน 1,000 คน) และความเสี่ยงในการทำให้ร่างกายพิการอย่างไร โดยให้พวกเธอตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่พวกเธอทำ และความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน อาบน้ำ และแต่งตัว

การศึกษานี้ได้เก็บข้อมูลเป็นเวลานาน 8 ปี ซึ่งระหว่างนั้นมีจำนวน 130 คน ต้องเผชิญกับภาวะทุพพลภาพอย่างรุนแรง นักวิจัยค้นพบว่าการเคลื่อนไหวร่างกายโดยทั่วไปช่วยให้ ผู้หญิงสูงวัยมีสุขภาพดีตามวัย แต่มีกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงและเห็นผลดีต่อร่างกายชัดเจน คือ การเต้น จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงสูงวัยที่เต้นเป็นประจำมีความเสี่ยงทุพพลภาพลดลงถึงร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้เต้น รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเดิน โยคะ และการออกกำลังกาย ที่ใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงต้าน (Calisthenics) เช่น วิดพื้น ซิตอัพ ก็ล้วนทำให้ร่างกายห่างไกลภาวะทุพพลภาพได้เช่นกัน

สาเหตุที่ทำให้การเต้นได้ผลมากที่สุดนั้น อาจเพราะการเต้นเป็นกิจกรรมที่ใช้ทักษะหลายด้าน และให้ประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ “การเต้นไม่เพียงใช้ทักษะการบาลานซ์ร่างกาย แต่ยังทำให้ร่างกายแข็งแกร่ง มีความอดทน ใช้ความจำ และยังสร้างสมาธิให้อยู่กับการเคลื่อนไหวและเสียงดนตรี” นักวิจัยระบุ สำหรับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมคนชราแห่งสหรัฐ โดยได้วิเคราะห์ผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางร่างกายที่มีผลต่อจิตใจจำนวน 32 ชิ้น รวมกว่า 3,500 คน ที่มีอายุ 50-85 ปี พบว่า

ไทชิ โยคะ และการเต้น ช่วยพัฒนาระบบความทรงจำในคนสูงวัย

แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงการป้องกันภาวะสมองเสื่อมและระบบความทรงจำเสื่อมถอย แต่หลังการวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว นักวิจัยเห็นด้วยว่า ผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายแบบไทชิ โยคะ และการเต้น หรือที่เรียกว่า Mind-Body Exercise ร่างกายจะพัฒนาระบบความทรงจำให้เข้มแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ทำกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากนี้ เมื่อนักวิจัยได้วิเคราะห์ลงลึกเข้าไปก็พบว่า การทำไทชิ 60-120 นาที/สัปดาห์ หรือเต้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ สามารถช่วยพัฒนาระบบความทรงจำได้ดีกว่ากิจกรรมอื่น เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทั้งการเคลื่อนไหวอย่างรู้ตัว การเปลี่ยนแปลงท่าทางตลอดเวลา การจัดระเบียบร่างกายตัวเอง ทั้งหมดล้วนกระตุ้นให้สมองได้คิดและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่แนะนำว่า การเต้นส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ มีอีกงานวิจัยหนึ่งในปี 2560 พบว่าการเต้นช่วยเพิ่มขนาดของส่วนชั้นใน (White Matter) ของสมองเล็ก (Cerebellum) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้อวัยวะต่างๆ ทำงานประสานกัน ควบคุมการทรงตัว และควบคุมการเกร็งตัวของร่างกาย ซึ่งสมองส่วนนี้จะเสื่อมลงไปตามอายุ แต่ผู้สูงวัยที่เต้นเป็นประจำจะมีสมองส่วนนี้ทำงานได้ดี นักวิจัยจึงสรุปได้ว่าการเต้นดีต่อผู้สูงวัยทั้งด้านร่างกาย สมอง จิตใจ และความทรงจำ ทั้งยังแนะนำว่าอย่าหักโหมเต้นจนได้รับบาดเจ็บ แต่ให้เต้นด้วยความสนุกสนานก็พอแล้ว

14 February 2562

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 736

 

Preset Colors