02 149 5555 ถึง 60

 

“โรคซึมเศร้า” กับการเอาชีวิตรอด!

“โรคซึมเศร้า” กับการเอาชีวิตรอด!

“...โรคซึมเศร้านั้นมักเกิดควบคู่ไปกับการคิดฆ่าตัวตาย...”*****************************************

ในช่วงนี้มีข่าวหลายชีวิตที่จากไปด้วยโรคซึมเศร้า สร้างความสะเทือนใจและทั้งสะเทือนขวัญ...

ชื่อโรคแค่ฟังก็ดูหดหู่ ทั้งซึมและทั้งเศร้า และท้ายที่สุดทำให้คนใกล้ชิด-คนในครอบครัวต้องช็อก! กับการตัดสินใจ

จึงเป็นอีกโรคที่ไม่อาจมองข้าม เพราะบางทีไม่แน่คุณหรือใคร...อาจกำลังเป็นโรคนี้อยู่โดยที่ไม่รู้ตัว...

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความรู้เพื่อบอกเล่าให้เข้าใจโรคนี้ว่า โรคซึมเศร้า สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือโรคซึมเศร้าในเด็ก

อาการของโรคอาจดูคล้ายกับอาการเสียใจทั่วๆ ไป แต่ผลกระทบนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นยาวนานกว่า ซึ่งผู้ป่วย คนในครอบครัว หรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตเห็น

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า มารู้อีกทีอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว

ปัจจุบันคนไทยมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากปัจจัยการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันที่แสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นมักเกิดควบคู่ไปกับการคิดฆ่าตัวตาย โดยในแต่ละปีมีการฆ่าตัวตายเฉลี่ย6คนต่อปีจากประชากร1แสนคน ถือว่าเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วง

แน่นอนว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นเกิดจากปัญหาทางจิตเวชเดิมด้วย

** รู้จักกับ “โรคซึมเศร้า”

โรคซึมเศร้าส่งผลให้มีอาการทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ รู้สึกตัวเองดูไร้ค่า อยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง วิตกกังวลตลอดเวลา

อาการทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ และเป็นตลอดทั้งวันหรือทุกวัน อาจทำให้เสียสมรรถภาพในการเรียนและทำงาน

หากเราสงสัยว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถทำแบบสอบถามโรคซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิตได้ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ เพราะการพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การคิดว่าใครไปพบจิตแพทย์แสดงว่าเป็นบ้านั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง

นพ.วรตม์ กล่าวว่า โรคซึมเศร้าอาจไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ก็มีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดด้วยกันดังนี้

- ความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า “เซโรโทนิน” มีปริมาณลดลงจนเสียสมดุลทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย หงอยเหงา จนส่งผลกระทบการใช้ชีวิต

- กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง เคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาก่อนตัวเราก็อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

- ใช้สารเสพติดและติดแอลกอฮอล์ โดยคิดว่าพึ่งพาสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลืมความเจ็บปวด ลืมความเสียใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นจะมีภาวะติดเหล้าหรือยาเสพติดด้วย

- กลุ่มเสี่ยงที่อาจนำสู่การฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประวัติทางจิตเวช มีอาการซึมเศร้ารุนแรง มีประวัติครอบครัวมีอาการทางจิตเวช สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือกลุ่มคนที่ใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด หรือแม้แต่เป็นคนที่เคยสูญเสียคนที่รักจากโรคซึมเศร้ามาก่อน ซึ่งหมอมองว่าคนที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การสูญเสียคือผู้รอดชีวิต หากเราไม่ให้กำลังใจ พูดคุยอยู่เป็นเพื่อน คนนั้นอาจจะกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าต่อไป

สิ่งหนึ่งที่คุณหมอวรตม์อยากฝากให้เราช่วยกันว่า โรคซึมเศร้านั้นสามารถป้องกันได้ด้วย

- การใช้ชีวิตให้แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ เพราะกายและจิตสื่อถึงกัน หากเราทำร่างกายให้อ่อนแอจิตก็จะสั่งให้เราอ่อนแอสิ้นหวัง แต่ถ้าเราทำกายให้แข็งแรงจิตใจเราก็ผ่องใส สุขภาพดีสุขภาพจิตก็ดีตาม ออกกำลังกาย

-สำรวจความเครียดของตัวเองบ่อยๆ ประเมินภาวะซึมเศร้าจะทำให้เราเข้าถึงการรักษาได้เร็ว สามารถทดสอบแบบประเมินของกรมสุขภาพจิตได้ ระบายความเครียดที่มีด้วยการทำสิ่งที่ชอบ หรือออกไปท่องเที่ยวพักผ่อน ออกจากจุดที่มีความเครียด อาจจะเป็นเรื่องยากในสภาพสังคมปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องทำให้ได้

-หางานอดิเรกทำ เพื่อให้เราเกิดสมาธิ ทำให้จดจ่อกับสิ่งต่างๆได้มากขึ้น

-ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ พบจิตแพทย์ จุดนี้คนไทยยอมรับมากขึ้นที่จะเข้าไปรับการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยลดภาวะการคิดฆ่าตัวตาย หรือกลับมาเป็นโรคซึมเศร้าน้อยลง

-การให้กำลังใจจากคนในครอบครัวเพื่อนฝูงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะถือเป็นเกราะป้องกันโรคซึมเศร้า การรับฟังเสียงของคนในครอบครัว สนใจกัน เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการ...

21 February 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 11611

 

Preset Colors