02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ชี้ “อิทธิพลเพื่อน-เมา” ทำแก๊งโจ๋รุมทำร้ายนักเรียน-ครู-ผอ.มัธยมวัดสิงห์

จิตแพทย์ชี้ “อิทธิพลเพื่อน-เมา” ทำแก๊งโจ๋รุมทำร้ายนักเรียน-ครู-ผอ.มัธยมวัดสิงห์

จิตแพทย์ชี้กลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุทำร้ายนักเรียน-ครู-ผอ.มัธยมวัดสิงห์ เป็นอุทาหรณ์ ทุกคนมีโอกาสใช้ความรุนแรงได้ ต้องฝึกการจัดการความเครียด เผยปัจจัยก่อพฤติกรรมอาจมาจากอิทธิพลเพื่อน ฝูงชนพาไป ทำสูญเสียควบคุมตนเอง ส่วนมาจากการเลี้ยงดูหรือไม่ ต้องดูเป็นรายๆ

วันนี้ (25 ก.พ.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มวัยรุ่นงานบวชเมาบุกทำร้ายนักเรียน ครู และผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ขณะกำลังจัดสอบ GAT/PAT และมีการลวนลามนักเรียนหญิง โดยไม่พอใจหลังถูกเตือนให้เบาเสียงว่า จากเหตุการณ์นี้อยากให้มองว่าทุกคนในสังคมสามารถใช้ความรุนแรงได้ ถ้าเราเก็บความสะสมความว้าวุ่น ความคับข้องใจ ความเครียดมากเกินไป ดังนั้น ต้องรู้จักจัดการความเครียดเพื่อป้องกันความรุนแรง เช่น ฝึกคลายเครียดวิธีต่างๆ ออกกำลังกาย ฝึกหายใจคลายเครียด ฝึกสมาธิ พวกนี้ก็จะลดความเครียดได้ หากเรามีความเครียดสะสมมาก โอกาสเกิดความรุนแรงก็มากขึ้น อย่างกรณีนี้ทางจิตวิทยาชี้ว่าคนที่ก่อความรุนแรงมักจะมีความว้าวุ่น คับข้องใจสะสมมากด้วย

“กรณีนี้อาจมีปัจจัยเสริมที่ทำให้กลุ่มวัยรุ่นก่อพฤติกรรมเช่นนี้ คือ อาจอยู่ภายใต้การสูญเสียการควบคุมตัวเอง เช่น อิทธิพลเพื่อน ทำให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง และอาจทำให้คนที่ไม่มีความรุนแรงมาก แต่มีกลุ่มเพื่อน กลุ่มฝูงชนพาไป เห็นได้บ่อยจากการใช้ความรุนแรงหมู่ การข่มขืนหมู่ ฯลฯ และยังมีอิทธิพลจากสุรา และยาเสพติด พวกนี้ก็ทำให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง ดังนั้น นอกเหนือจากการสะสมความเครียดแล้ว ก็ยังมาจาการสูญเสียการควบคุมตัวเองด้วย แต่ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับผลร้ายจากการกระทำของเขา ก็จะถูกดำเนินคดี เรื่องนี้จึงอยากให้เป็นอุทาหรณ์ ว่าเราก็มีโอกาสเกิดความรุนแรงได้ เราต้องรู้จักจัดการความเครียดตัวเอง อย่าไปมองว่าคนกลุ่มนี้ทำไม่ดี และแสดงความไม่พอใจ หรือเล่นงานคนที่เป็นข่าว ไม่ใช่แค่กรณีนี้เท่านั้น สิ่งสำคัญเราต้องคิดป้องกันตัวเราเองไม่ให้เกิดความรุนแรงลักษณะนี้” นพ.ยงยุทธ กล่าว

เมื่อถามว่าวัยรุ่นที่ยกพวกเข้าทำร้ายคนในโรงเรียน พฤติกรรมเช่นนี้มาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กหรือไม่ นพ.ยงุยทธ กล่าวว่า ต้องพิจารณาเป็นเคสไป เพราะหากตามที่เป็นข่าวก็พิจารณาหรือพูดได้กว้างๆ อย่างการสูญเสียการควบคุม ทั้งอิทธิพลเพื่อน การดื่มสุรา หรืออาจมาจากปัจจัยอื่นๆ แต่ที่แน่ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่ดี หากทำไปก็จะก่อผลต่อตัวเอง เกิดเป็นคดีความ

เมื่อถามว่ากรณีเด็กนักเรียนสอบ จำเป็นต้องใช้ความสงบใช่หรือไม่ นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ใช่ เพราะมีผลต่อสมองทางความคิด ดังนั้น ในหลายพื้นที่การอยู่ในพื้นที่สงบ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดที่ดีได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันพบเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นได้ง่าย สะท้อนว่าสังคมไทยกำลังมีปัญหาหรือไม่ นพ.ยงยุทธกล่าวว่า แต่ละคนมีเรื่องคับข้องใจ ความว้าวุ่นใจ ความใจร้อน ไม่ได้มาจากเรื่องส่วนตัวอย่างเดียว สังคมก็เป็นตัวกำหนดสุขภาพจิตด้วย โดยมีการศึกษาว่ามีผลมาจากทั้งเรื่องของการเลี้ยงดู เรื่องการศึกษา เรื่องได้รับ รายจ่าย ช่องว่างความรวย ความจน รวมถึงปัญหาทางการเมือง ความมีธรรมาภิบาลทางการเมือง ถ้าปัจจัยเหล่านี้เป็นไปในทางบวกก็จะทำให้ความคับข้องใจ ความขัดแย้งของคนลดลง ถ้ามองในเชิงความหวังวันนี้ประเทศไทยยังต้องพัฒนาเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นไปอีก

26 February 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 668

 

Preset Colors