02 149 5555 ถึง 60

 

ความรู้สึกต่ำต้อยที่ไม่ด้อยค่า

ความรู้สึกต่ำต้อยที่ไม่ด้อยค่า

ความรู้สึกต่ำต้อย รู้สึกว่าไม่เก่ง ไม่ได้เป็นเรื่องที่ฉุดให้ชีวิตตกต่ำ และไม่ได้เป็นปมที่กดชีวิตให้ย่ำแย่อย่างที่คนหลายคนเข้าใจ

เป็นเรื่องธรรมดาที่บางช่วงของชีวิต ลูกเราจะมีความรู้สึกว่า เค้าด้อย เก่งไม่พอ สู้เพื่อนไม่ได้ แต่คุณทราบมั้ยคะว่า นักจิตวิทยา Alfred Adler (1870-1937) เคยกล่าวไว้ว่า ความรู้สึก"ด้อย"ไม่ได้เป็นปมด้อยเลย แถมยังเป็นตัวผลักดันให้ก้าวหน้าเสียอีก ความรู้สึกต่ำต้อย หลายครั้งเป็นตัวผลักดันให้ คนเราลุกขึ้นสู้ หาทางแก้ และอดทนให้ชีวิตดีกว่าเดิม

ความรู้สึกด้อย (Inferiority feeling) คืออารมณ์ปกติมนุษย์ ตอนเราเป็นเด็ก เราอยากตัวสูงเหมือนผู้ใหญ่ อยากเป็นหมอ อยากเป็นต่างๆ นานา บางครั้งเรารู้สึก "ด้อย"ที่ตัวไม่สูง ยังไม่แข็งแรงก็พยายามเล่นกีฬา มีพลัง มีความหวังว่าสักวันจะทำได้ จึงมีการต่อสู้ เราเอาชนะความกลัว และพัฒนาตัวเองมากขึ้นทุกวัน ๆ ความรู้สึกด้อยหากได้รับการผลักดันอย่างถูกวิธีจะเป็นตัวสร้างพลังบวก เสริมความก้าวหน้าในชีวิตได้ เด็กจะต้องการเรียน มีคำถามสงสัย และให้ความร่วมมือกับคุณครู

ตรงข้ามกับการมีปมด้อย (Inferiority Complex) ปมด้อย เกิดจากความซับซ้อนของปัญหาในชีวิต บางครั้งเกิดการใช้ชีวิตไม่มีคุณค่ามาเป็นเวลานาน หรือนิยามคำว่า "ความสุข" ตื้นเกินไป เด็กจะมีอาการเก็บตัว ไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ต่อสู้ ต้องการคำยกยอปอปั้น และขี้เกียจ

การเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง ความต้องการให้ลูกมี "ความสุข" กับความต้องการให้ลูกใช้ชีวิตที่มีความหมาย แตกต่างกันมาก ทั้งแนวทางการสอน และการดำเนินชีวิต ชีวิตที่มีความสุข (Happy Life) ความสุขเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ได้เที่ยวก็ร่มรื่นหัวใจ อยากไปอีก พอไม่ได้ไปความสุขก็หายไป

แต่ชีวิตที่มีความหมาย คือความสุขที่ลึกลงไป ชีวิตแบบนี้ได้ความเก่ง ได้ทักษะในการเดินไปข้างหน้า มีเป้าหมายชัดเจน และมีใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ จึงทำให้เด็กที่ใช้ชีวิตมีค่า สามารถสร้างความวิเศษ (transcendence) ให้กับโลกของเรา จากความสามารถของเค้าเอง

ชีวิตที่มีความหมายควรประกอบไปด้วย

1. ความรู้สึกเข้าถึงสิ่งที่ทำ (Belonging) มีการฝึกปรือจนเชี่ยวชาญ เกิดความผูกพันธ์

2. มีเป้าหมายที่ชัดเจน (purpose) พร้อมมีเหตุผลรองรับ เช่น อยากเรียนบริหาร เพราะต้องการเก่งเหมือน...

3. ประสบการณ์ ที่ได้จากการฝึกฝน (transcendence) หรือ "มีของ" ซึ่งเป็นความพิเศษที่ได้มาจากการฝึกฝน อดทนต่อสู้ สั่งสมมาในชีวิต เด็กที่ไม่เคยฟันฝ่ากับการเรียน จะให้สอบเข้าคณะคะแนนสูงต้องได้รับการฝึกความคิดเป็นอย่างมาก และก็ควรให้เค้าเริ่มต่อสู้ ไม่ใช่แนะนำ โดยการสร้างปมด้อย เช่น "เราหัวไม่ดี อย่าสอบเลย"

4. มีการพูดคุยกัน (story telling) การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ เมาท์มอยกันระหว่างครอบครัว เป็นการคุยเล่นเชิงสร้างสรรค์ที่พ่อแม่สามารถผลักดันคำติเชิงสร้างสรรค์เพิ่อใช้พัฒนาลูกได้

ความรู้สึกด้อย คือ กระบวนการหนึ่งของการวิเคราะห์ของมนุษย์ ว่าเรายอมรับความจริง และเราต้องการเดินไปข้างหน้า ดังนั้นจึงพร้อมลุย โดยหาตัวช่วย เด็กเรียนเก่ง มักเป็นเด็กที่ชอบมานั่งระบายความทุกข์กับคุณครูที่กำลังช่วย แต่สิ่งที่อันตรายคือ เด็กมีปมด้อย คือ เด็กที่ไม่พร้อมสู้ ไม่พร้อมแก้ ไม่อยากได้ยินคำสอนใด ๆ อีก เพราะมองว่านั่นคือคำซ้ำเติม กดปมด้อยให้หนักเข้าไปอีก สิ่งที่ช่วยได้ คือ การให้กำลังใจ อย่างจริงใจ ชมจุดเด่นของเค้าจากความจริง

ตามหลักจิตวิทยาของ Alfred ได้แบ่งลักษณะวัยรุ่นมี 4 ลักษณะคือ

1. ruling คือ เด็กที่ชอบควบคุม จึงกลายเป็นคนตามใจตัวเอง เมื่อประสบปัญหา จะกลายเป็นคนก้าวร้าว ดื้อเงียบ

2. leaning คือ เด็กที่ชอบพึ่งพาคนอื่น หากมีปัญหา จะกลายเป็นคนไม่มั่นใจ อ่อนไหวง่าย

3. avoiding คือ เด็กที่ชอบหนีปัญหา เมื่อหนีมาก ๆ เข้า จะทำให้เป็นคนเก็บตัว ซ่อนเร้นปัญหา จนกลายเป็นคนเครียด

4. Socially useful คือ เด็กที่มีประโยชน์ต่อสังคม ช่างซักช่างถาม ชอบการคิดแก้ไข เรียนรู้สิ่งใหม่ คนแบบนี้คือ คนสุขภาพจิตดี ไม่อวดเก่ง แต่มั่นใจ จึงพร้อมต่อสู้ และมีพลังชีวิตเหลือเฟือ

สุดท้าย เรามาช่วยเติมเต็มพลังชีวิตให้ลูกหลานเรา ผลักดันให้หลุดจากความด้อย กลายเป็นความหวังกันเถอะค่ะ

26 February 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 5548

 

Preset Colors