02 149 5555 ถึง 60

 

ภาวะซึมเศร้าของคุณไม่ได้เป็นภาระ "อาร์ม-กัมปนาท พนัสนาชี" แร็ปผู้ร่ายเพลงปลดโรคซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าของคุณไม่ได้เป็นภาระ "อาร์ม-กัมปนาท พนัสนาชี" แร็ปผู้ร่ายเพลงปลดโรคซึมเศร้า

เปิดเส้นทางบทเพลง “SOS” ท่วงทำนองขับขานช่วยเหลือโรคซึมเศร้าที่กลั่นจากประสบการณ์จริงในห้วงนาทีแห่งความเป็นตาย

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

“อาร์ม-กัมปนาท พนัสนาชี” หรือ AKA (also known as) “36 MAN” เด็กหนุ่มผู้แต่งเพลงแร็ปจากประสบการณ์ชีวิตของคนในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าทำร้ายตัวเองเกือบเสียชีวิต

จนบทเพลง “SOS” ที่ได้รับการยอมรับทั้งจากกลุ่มคนที่ป่วยโรคซึมเศร้าและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมคำกล่าวชมเนื้อร้องที่ไล่เรียงตั้งแต่ วิธีการสังเกตผู้ป่วยหรือไม่ป่วย ลักษณะอาการป่วย แนวทางการดูแลรักษา รวมไปถึงการให้กำลังใจอย่างลงตัว

บางคนบอกว่าเป็นดั่งบทกวีที่ต่อเติมกำลังใจและยาชูผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางคนก็กล่าวถึงการเป็นบทเพลงที่ครบครันด้วยข้อมูลและให้ความรู้ในการรักษาโรคซึมเศร้า แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันคือเรื่องราวดีๆ ที่ใครคนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อเติมสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

จุดประกาย “SOS” สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

“ต่างประเทศมีคนทำเพลงแบบนี้ แล้วมีคนโทรเข้าไปหาสายด่วน 1-800-273-8255 ของศิลปินที่ชื่อว่า Logic ที่เกี่ยวกับเบอร์สายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตาย เราก็อยากให้เมืองไทยมีบ้าง เพราะตอนนี้มันใกล้ตัวเรามากแล้ว ข่าวมันก็เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ” กัมปนาทบอกถึงสาเหตุของการทำเพลง SOS ที่นอกจากเพื่อรักษาอาการน้องสาวที่ยังคงต่อสู้กับโรคดังกล่าว ผู้ป่วยคนอื่นๆ อีกมากและคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

“เราก็เลยทำเพลงระหว่างคนที่ป่วยหรือไม่ป่วยให้เข้าใจกัน เหมือนกับการส่งเสริมกัน เพื่อเป็นตัวแทนการสื่อสารว่ามีคนอยู่ข้างพวกคุณ คุณไม่ได้เดียวดาย เป็นการให้กำลังใจกึ่งเนื้อหาให้ข้อมูลหว่างคนทั่วไปและคนที่ป่วย ซึ่งคนที่ป่วยก็ทักมาบอกว่าขอบคุณมาก พูดแทนเขาได้หมดเลย เป็นเรื่องที่อึดอัดไม่เคยพูดกับใครได้แต่เพลงนี้พูดแทนได้”

ซึ่งนอกจากเพลง SOS ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เร็วๆ นี้เขาก็กำลังจะปล่อยเพลงให้กำลังใจและให้ความเข้าใจโรคซึมเศร้าเพิ่มอีกด้วย โดยเขาให้เหตุผลว่าเพราะ ‘สังคม’ ที่ดีจะนำพาทุกอย่างไปสู่ทางที่ดียิ่งขึ้น

“ปลาที่แข็งแรงลงไปอยู่ในน้ำเน่าก็คงไม่รอดไม่ว่าใคร แต่ในทางกลับกันปลาที่ป่วยแต่ไปอยู่สภาพแวดล้อมดีๆ ก็เป็นปลาที่กลับมาแข็งแรงได้ ดังนั้นทุกคนมีสิทธิหายและทุกคนต้องพยายามดึงตัวเองกลับมา ไม่มีใครไร้ค่า ไม่มีใครอยากป่วย อยากให้คนทั่วไปเปิดใจฟังเพลงนี้ เขากำลังบอกอะไรคุณ เขาต้องการให้คุณช่วยอยู่หรือเปล่า และคุณต้องทำอย่างไร ต้องคนละครึ่งทางเปิดใจเข้าหากกัน สังคมดีเกิดจากครอบครัวดี ครอบครัวดีเกิดจากจิตใจดี ทุกอย่างเชื่อมโยงกันผมเชื่ออย่างนั้น วันที่วันนี้น้องผมอาการดีขึ้นจากโรคซึมเศร้า”

การเดินทางมาของ “โรคซึมเศร้า”

อาร์ม-กัมปนาทเกิดและเติบโตเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวฐานะปานกลาง การศึกษาระดับปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รักชื่นชอบการทำเพลงแร็ปตามอย่างชีวิตวิถีวัยรุ่นสมัยใหม่ เชื่อมั่นใจตัวเอง มีแนวทางชัดเจน ปรับรับอะไรใหม่ๆ ได้ทันเทรนด์สมัย แต่ใครเล่าจะคิดว่าชีวิตจะมาพลิกเพราะ ‘โรคซึมเศร้า’ ที่พึ่งรู้จัก

“ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่เข้าไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าน้องป่วย แต่ตอนแรกท่านไม่ได้เข้าใจมากกว่าว่ามันคือโรคอะไรในตอนนั้น แต่น้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นและได้ทำแบบทดสอบตอบคำถามโรคซึมเศร้าพร้อมเข้ารับการรักษากับแพทย์ด้วยตัวเอง แต่ยาที่เขาได้รับมันทำให้เขาทำงานไม่ได้ปกติเหมือนเดิมเพราะมีอาการง่วงตลอด พอหยุดกินเพื่อทำงานสารเคมีในสมองก็เลยไม่ปกติ เป็นจุดเริ่มให้อาการป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มระดับขั้นขึ้น”

ซึ่งเมื่อบวกเข้ากับช่วงปลายปี 2560 ความตื่นตัวต่อโรคซึมเศร้านับว่ายังคงเป็นปรากฏการณ์ใหม่เมืองไทย หลายๆ คนจึงค่อนขอดผู้ป่วยด้วยโรคนี้หาใช่เกิดสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ แต่เป็น “จิตใจ” สำออย หรือ อ่อนแอ

“พอน้องสาวไม่ได้ทำงานฟรีแลนซ์ก็มีความเครียดกับปัจจัยรอบด้าน พ่อแม่ก็มีบ่นๆ ตามประสาเรื่องหนี้สินให้ได้ยิน แล้วเขาก็ไปคิดว่าตัวเขานั้นเป็นภาระไร้ค่า เพราะเขาไม่สามารถทำงานแล้วหาเงินมาให้ที่บ้านได้เหมือนกับตอนที่เขาเคยทำ เขาก็เลยยิ่งคิดว่าตัวเองไร้ค่าไปใหญ่ คืนวันก่อนกรีดข้อมือหรือทำร้ายร่างกายครั้งแรกวันนั้นพ่อพูดว่าแค่นี้ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หาย พูดเรียบๆ ธรรมดา ไม่ได้มีการขึ้นเสียงหรือตะคอกแต่อย่างใด แค่นั้นมันจะทำให้น้องตัดสินใจทำร้ายร่างกายตัวเอง”

รุ่งเช้าข้อมือทั้ง 2 ข้าง แห้งเกรอะกรังไปด้วยรอยเลือดสีแดงอมม่วง พ่อกับแม่ก็ได้แต่ถามว่าทำไปทำไม?

“ผมก็รู้แล้วละว่าไม่อยากทำแต่เป็นคนป่วย ก็เลยได้แต่ถามว่ามันเจ็บไหม เช็ดเสร็จก็บอกแม่ว่าอย่าไปว่าน้องเพราะน้องเขาป่วย”

กัมปนาทบอกว่าในตอนนั้นความ ‘เข้าใจ’ ของเขาก็แต่เพียงผิวเผินได้มาจากการติดตามข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แต่ไม่คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นใกล้ตัวโดยเฉพาะกับคนในครอบครัวของตัวเอง

“ทุกคนคิดว่าเรามีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าน้อง เพราะเราไม่คุยกับพ่อแม่เลย ผิดกับน้องสาวที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ระบายทุกเรื่องกับพ่อแม่ มันก็เลยทำให้เห็นว่าโรคซึมเศร้ามีโอกาสป่วยเป็นกันได้กับทุกคน เราเห็นคนดีๆ หัวเราะร่าเริงจู่ๆ ไปฆ่าตัวตาไม่มีทางที่เพราะป่วยโรคซึมเศร้านั้นคือผิด ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นได้ทุกคนมีสิทธิเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าในขั้นแรกก่อนเป็นโรคซึมเศร้าได้ อกหัก หรือ หมดไฟในการทำงาน ปัญหาหนีสินและความกดดันจากครอบครัว กระทั่งพันธุกรรม ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการผลักจากภาวะซึมเศร้าเข้าสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า”

‘ร้าย’ หรือ ‘แรง’ อยู่ที่ความเข้าใจในพื้นฐานโรค

ตลอดระยะเวลาของการป่วยของน้องสาวอาร์มผ่านการทำร้ายตัวเองตกเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นอย่างต่ำๆ และเหตุการณ์ความรุนแรงในการพยายามฆ่าตัวตายยังยิ่งค่อยๆ เพิ่มระดับ จากการกรีดข้อมือลงมาที่ข้อเท้าและไล่ขึ้นหน้าท้อง พร้อมกับล็อคประตูห้องน้ำปิดกั้นการช่วยเหลือ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี ที่ป่วยเท่านั้น

“พื้นฐานของการพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าครั้งนี้ไม่สำเร็จครั้งต่อไปก็จะยิ่งวางแผนให้สำเร็จจนได้ และมันก็จะทวีความรุนแรงขึ้น” อาร์มเปิดเผยก่อนจะเล่าต่อถึงลำดับขั้นในการรักษาจากแพทย์ที่ทำให้นอกจากช่วยให้น้องสาวดีขึ้นแล้ว ยังเป็นเสมือนใบเบิกทางทำให้อาร์มและครอบครัวได้เข้าใจพื้นฐานโรคซึมเศร้าซึ่งนำมาสู่การเข้าถึงความรู้สึกของผู้ป่วย

“หลังจากแอดมิทหมอแจ้งว่าน้องมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย ทางผู้ปกครองจะยินยอมให้ทำการรักษาหรือไม่ น้องต้องเข้าแผนกจิตเวชที่มันเป็นแผนกที่มีความลำบากสำหรับคนทั่วไป แม่สงสารกลัวว่าจะกินไม่ได้นอนไม่ได้ เราอยู่ตรงนั้นด้วยไปยืนคุยกับแม่ก็นับว่าเป็นคำพูดตัดสินใจที่ลำบากที่บอกแม่ว่าอยากเห็นน้องลำบากหรืออยากให้น้องมีชีวิตอยู่ ถ้าอยากให้มีชีวิตก็เซ็นต์ แต่ถ้าปฏิเสธก็เหมือนเราเซ็นต์ใบเบิกทางให้น้องกลับไปฆ่าตัวตายอีกครั้ง”

โดยสรุปหลังแม่ตัดสินใจก็เซ็นต์รับการรักษาทั้งข้อมูลจากแพทย์และนักจิตวิทยากระทั่งรวมไปจนถึง ‘บำบัดร่วมกัน’ ทั้งครอบครัว ทำให้รู้ถึงวิธีป้องกันเป็นยาขนานเอกก็คือ “การเปิดใจ”

“หมอเขาเข้าใจพื้นฐานของโรครู้ว่าผู้ป่วยกำลังป่วย ไม่ใช่ว่าอ่อนแอหรือดัดจริต แต่คืออาการป่วยของสารเคมีในสมองผิดปกติ ซึ่งหากเราไม่เข้าใจจริงๆ ก็จะเป็นอย่างที่คนป่วยเขาคิดว่าคนไม่ป่วยไม่มีทางเข้าใจ ถ้าไม่จริงใจเข้าไปหาไม่เปิดใจที่จะฟังเขาจริงๆ เขาก็จะรู้แล้วว่าไม่มีทางเข้าใจเขาจริงๆ ด้วยพื้นฐานของโรค แล้วก็คนที่ไม่ป่วยก็จะคิดว่าตัวเองแข็งแกร่งและบอกคนอื่นอ่อนแอ มันก็เลยเป็นเหมือน 2 อย่างที่มันแข็งชนกันก็กลายเป็นแรงปะทะหนัก”

แร็ปเปอร์หนุ่มกล่าวยืนยันว่า ภาวะของโรคจะหนักหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับจุดนี้ นั้นเพราะพอเข้าใจผู้ป่วยเขาก็จะรับรู้ถึงการเปิดใจจริงของเราที่ต้องการจะช่วยและผู้ป่วยจะบอกสัญญาณสื่อความรู้สึก

“เพราะพอคนป่วยเปิดใจเราก็เข้าใจสัญญาณที่เขาสื่อออกมา การสื่อสารแค่บอกสบายดีแล้วก็จบเรื่อง มันก็ไม่ช่วยอะไร แต่มันอาจจะแค่บอกให้เราสบายใจ แต่จริงๆ เขากำลังไม่สบายใจอยู่ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนไข้เวลาเขาทำอะไรเขาไม่รู้ตัว แทบจะจำไม่ได้ด้วยว่าทำร้ายตัวเองลงไปทำไม เวลาเขาร้องไห้ไม่มีเหตุผล นอนไม่หลับ ทุกคนก็จะเข้าไปกอดแทนเพื่อให้กำลังใจน้องกันมากขึ้นหรือเริ่มจะทำร้ายตัวเองเราก็จะอยู่ข้างๆ เขาตลอด บ้านที่คนป่วยมีบอกว่ามันกลายเป็นบ้านที่ไม่ใช่เซฟโซน การที่เราเรียนรู้ว่าพื้นฐานของโรคนี้มันเป็นอย่างไรก็จะช่วยได้”

สำคัญที่ครอบครัว

จากงานวิจัยพบว่า 50% ของผู้ที่ฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้าในครั้งแรก มักมีภาวะซึมเศร้าซ้ำอีกหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น และอีก 80% ของคนที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นถึงสองครั้ง

“เพราะครอบครัวคือสิ่งแวดล้อมปราการด่านแรกของจิตใจ ถ้าไม่ช่วยกันหรือทำพฤติกรรมเดิมๆ สภาพแวดล้อมหรือจิตใจแย่ลงก็ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้”

ซึ่งในช่วงการฟื้นฟูเวลานั้นในช่วงเช้าแม่ได้พาน้องไปวิ่งออกกำลังกายตามคำแนะนำแพทย์เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ส่วนตัวเขานั้นจะเป็นพ่อครัวคอยทำอาหารที่น้องอยากทานในทุกเมื่อเพื่อให้กินยาได้ ส่วนหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตั้งแต่เก็บของมีคมหรือสิ่งที่จะเป็นอันตรายจากการทำร้ายตัวเองเป็นของพ่อ

“ถามว่าเหนื่อยไหมมันก็เหนื่อย เราก็ทำทุกทางแล้วเมื่อไหร่น้องจะหาย แต่เราไม่เคยเหนื่อยที่จะช่วยเขา ทุกคนรักลูก รักครอบครัวหมด แต่วิธีการแสดงออกมันห้วนๆ ซึ่งเราก็ต้องปรับเพื่อให้เขาไม่มองว่าตัวเองเป็นภาระ ดูเป็นภาระ คือเราก็ต้องเหมือนเราต้องสู้ไปพร้อมกับเขา”

“ดูแลเขาอย่างที่เราดูแลคนรักของเรา” แร็ปเปอร์หนุ่มเผยความรู้สึก หลังอาการปัจจุบันน้องสาวอยู่ในระดับดีขึ้นสามารถกลับมาทำงานและใช้ชีวิตได้ระดับหนึ่ง

“เราก็ต้องดูแลกันตลอดและสังเกตอาการตลอด โรคพวกนี้สามารถกลับมาเป็นได้ตลอด ขึ้นอยู่กับปัจจัย ถ้ามีปัจจัยมากระตุ้นก็มีโอกาสเสี่ยงมาเหมือนเดิมได้ แต่ถ้ากินยาเข้ากับตัวพร้อมกับออกกำลังกายสม่ำสเมอและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความคิดกลับมาคิดแง่บวกได้ มีคนรอบข้างอยู่ พูดง่ายๆ มันก็คือพื้นฐานครอบครัวที่ดีไม่ต่างกัน ครอบครัวดี คนดี สังคมดี โลกดี วนอยู่อย่างนี้”

7 March 2562

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1686

 

Preset Colors