02 149 5555 ถึง 60

 

“ฝันกลางวัน” โรคอันตรายที่หอมหวานและน่าหลงใหล

“ฝันกลางวัน” โรคอันตรายที่หอมหวานและน่าหลงใหล

ถ้าพูดถึงการ “ฝันกลางวัน” หลายคนคงนึกถึงการใจลอย คิดเพ้อฝันไปเหมือนนางเอกในนิยาย และเชื่อว่าคงมีหลายคนที่มีอาการเดียวกันนี้ และคงมีไม่น้อยที่คิดว่ามันคือเรื่องปกติ

แต่หากว่าการฝันกลางวันนี้มันเกิดขึ้นบ่อยเกินไป ก็อาจเข้าข่าย “โรคฝันกลางวัน (Maladaptive Daydreaming)” โรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่ต่างจากโรคซึมเศร้าเลยทีเดียว

เจย์น บีเกลเซน (Jayne Bigelsen) นักวิจัยสาวชาวอเมริกัน เธอได้ศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้มานาน เพราะเธอเองก็เคยประสบกับโรคนี้มาด้วยตัวเอง

เธอเล่าว่าตั้งแต่ 8 ขวบ ทุกครั้งที่มีเวลาว่างเธอจะเริ่มจินตนาการถึงซีรีส์ต่างๆ ที่เธอชอบ แต่แทนที่เธอจะรอดูตอนต่อไปในโทรทัศน์ เธอกลับสร้างตอนใหม่ขึ้นมาในหัว เธอบอกว่าภาพในหัวเธอนั้นมันชัดเจนมากราวกับกำลังนั่งดูซีรีส์จริงๆ แถมบางครั้งมันยังสนุกกว่าเรื่องต้นฉบับอีกด้วย

เธอกล่าวว่าทุกครั้งที่เธอมีอาการฝันกลางวันนี้ เธอจะเดินวนไปวนมา หรือกำบางอย่างไว้ในมือเพราะมันทำให้มีสมาธิและภาพชัดขึ้น เจย์นดำเนินชีวิตไปแบบปกติ เธอรู้ตัวตลอดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเธอนั้นมันคือความฝันที่ไม่ได้เป็นจริง แต่เธอก็ยังคงหลงใหลที่จะฝันกลางวันแบบนี้ต่อไป

จนขึ้นไฮสกูล เธอเริ่มรู้สึกใช้ชีวิตลำบากขึ้น เพราะไม่ว่าจะทำอะไร โลกความจริงและโลกจินตนาการก็มักจะเชื่อมโยงเข้าหากันโดยที่เธอควบคุมไม่ได้ เธอเล่าว่าเธอเคยนั่งน้ำตาไหลในห้องเรียนเพราะเรื่องในจินตนาการของเธอดำเนินไปถึงจุดดรามา เจย์นพยายามปรึกษาพ่อแม่ที่เป็นหมอแต่ก็ไม่ช่วยอะไร จนเมื่อเริ่มมีอินเทอร์เน็ตเธอก็พบว่าบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เธอที่กำลังประสบปัญหาฝันกลางวัน

เจย์นพยายามหาว่าสิ่งที่เธอเป็นมันคืออะไร แต่เพราะในทางการแพทย์ยังไม่มีการวิจัยไว้อย่างชัดเจนด้วยความที่เป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ เธอตระเวนเข้ารับการบำบัดอยู่นานจนเธอพบว่ามียาชนิดหนึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการของเธอได้

เจย์นค้นพบว่า การแชร์ประสบการณ์กันระหว่างผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวัน เป็นเหมือน “ยาที่ดีที่สุด” และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเผยแพร่เรื่องราวของตนเอง แม้ว่าโรคฝันกลางวันนี้จะเป็นโรคใหม่ แต่ปัจจุบันก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้มีการรวบรวมข้อมูลที่มาที่ไป อาการ รวมถึงการรักษาเบื้องต้นของโรคนี้ไว้ด้วย

ลองมาดูกันว่าคุณมีอาการที่บ่งชี้ถึงการเสี่ยงเป็นโรคนี้หรือไม่

1.ใจลอยเป็นงานประจำ แม้ว่าการใจลอยจะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เป็น แต่หากคุณใจลอยบ่อยและนานจนกระทบต่อการใช้ชีวิตของคุณ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนก็เป็นได้

2.ความรุนแรงในวัยเด็ก การเคยเจอความรุนแรงในวัยเด็ก เช่น การถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ อาจทำให้คุณสร้างโลกอีกใบขึ้นมาเพื่อหลบหนีจากความเจ็บปวดนั้น

3.ย้ำคิดย้ำทำ พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำมักจะเกิดขึ้นเมื่อคุณกำลังอยู่ในโลกจินตนาการ ทั้งการเดินวนไปมา โยนของ หรือหมุนสิ่งที่อยู่ใกล้มือ

4.ภาพคมชัดระดับ HD ผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวันมักจะเห็นภาพในหัวชัดเจนจนน่าตกใจ บางครั้งก็จมอยู่กับมันได้นานหลายนาที บางคนถึงขั้นหลายชั่วโมง ราวกับคุณกำลังนั่งดูหนังอยู่ในโรงภาพยนตร์

5.เพ้อฝัน ไม่ถึงขั้นบ้า แม้ว่าคุณจะหลงใหลการฝันกลางวันมากเพียงใด แต่คุณก็มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่ามันคือความฝัน แต่คุณกลับไม่สามารถหยุดคิดถึงมันได้เลย

วิธีป้องกัน และบรรเทาอาการฝันกลางวันเหล่านี้ นอกจากยาแล้วคุณยังสามารถใช้วิธีอื่นๆ ช่วยได้อีกด้วย

1.จดบันทึก ถือเป็นวิธียอดฮิตเลยก็ว่าได้ เพราะการกลั่นกรองสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นตัวอักษร มันทำให้คุณมีสมาธิมากขึ้น

2.ใช้ประโยชน์จากมันซะ การฝันกลางวันกำลังบอกว่าคุณมีจินตนาการที่ดีมาก (อาจจะมากเกินไป) ก็นำสิ่งเพ้อฝันนั้นมาใช้งานเสียเลย ถ้าคุณชอบขีดๆ เขียนๆ ล่ะก็คงได้พล็อตดีๆ มากมายเชียวล่ะ

3.หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ถ้าคุณรู้ตัวว่าอะไรที่กระตุ้นให้คุณเดินเข้าไปสู่โลกของจินตนาการ ก็เลี่ยงมัน หรือคิดถึงเรื่องน่ากลัวที่ทำให้คุณไม่อยากจินตนาการต่อ

4.อย่าว่างเกินไป หากคุณไม่มีเป้าหมาย หรือสิ่งที่อยากทำ หัวคุณจะว่างและจะทำให้คุณหลุดเข้าไปในโลกความฝัน ดังนั้นคุณจึงความสร้างเป้าหมาย อย่างน้อยก็เป้าหมายในแต่ละวัน

5.หาพรรคพวกในออนไลน์ คุณจะได้พบคนที่มีอาการเดียวกันกับคุณ การได้แลกเปลี่ยนความคิดของคนที่มีหัวอกเดียวกันจะทำให้คุณรู้ว่าคุณไม่ได้กำลังเผชิญปัญหานี้คนเดียว

6.ปรึกษาจิตแพทย์ หากคุณคิดว่าอาการมันเริ่มหนักจนทนไม่ไหวแล้วก็ควรเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อหาทางออกที่ดีต่อไป

7 March 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 31806

 

Preset Colors