02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดคำถามยับยั้งฆ่าตัวตาย ช่วยนศ.ที่ป่วยซึมเศร้าได้

เปิดคำถามยับยั้งฆ่าตัวตาย ช่วยนศ.ที่ป่วยซึมเศร้าได้

สัปดาห์นี้แนะวิธีสังเกตคนใกล้ชิดป่วยซึมเศร้า สถิติน่าตกใจคนไทย 100 คน มีน้อยกว่า 10 คนที่พบหมอ เข้าใจกันใหม่ซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต หาหมอเร็วรักษาหายหยุดยาได้

เห็นข่าวล่าสุดกรณีนักศึกษาสาวกระโดดชั้น 8 อาคารเรียน ม.เกษตรศาสตร์จนเสียชีวิต และได้ทิ้งข้อความในมือถือถึงพ่อแม่ว่า “ขอโทษหนูเหนื่อย และผิดที่ไม่เข้มแข็งพอ ขออโหสิกรรม” ทำให้รู้สึกและเกิดคำถามขึ้นว่า...ทำไมช่วงวัยมหาวิทยาลัยถึงได้เกิดเรื่องทำนองนี้บ่อยนัก

โดยแฟนเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุ ความชุกของโรคซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์ 0.52 ต่อพันคน/ปี และมีนักศึกษาแพทย์ป่วยโรคนี้ในความดูแลประมาณ 100 คนทุกปี

เราไปดูอาการของโรคซึมเศร้ากันก่อน โดยคุณหมอได้สรุปไว้ 9 ข้อ ไล่เลียงดังต่อไปนี้

อันดับแรก 1.อารมณ์ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อ ท้อแท้ เครียด หงุดหงิด และเศร้า 2.หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร 3.เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก (หรือบางคนกินมาก เพื่อให้หายเครียดจนน้ำหนักเพิ่มขึ้น) 4.หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชม. แล้วนอนต่ออีกไม่ได้ (บางคนนอนมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากทำอะไร นอนแต่ก็ไม่หลับ) 5.เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร 6.ความคิดช้า การเคลื่อนไหวช้า 7.สมาธิความจำเสีย ตั้งใจทำงานไม่ได้ ลังเลตัดสินใจลำบาก 8.คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี และ 9.คิดอยากตายและฆ่าตัวตาย

ดังนั้นถ้าเราสงสัยว่า...คนใกล้ชิดมีอาการโรคซึมเศร้า...ควรถามอาการ 9 ข้อนี้ เขาจะรู้สึกดีมีคนห่วงใยและมีที่พึ่ง ซึ่งถ้ามี 5 ข้อขึ้นไปหรือมีข้อท้ายๆ คือรู้สึกไร้ค่าเบื่อชีวิต ให้สงสัยว่า...จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบจิตแพท

“คำแนะนำท้ายสุดคือการให้มาพบจิตแพทย์เพื่อรักษา การรักษาเร็วได้ผลดีกว่าการรักษาช้า โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดอยากตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย การแนะนำให้รักษาจะเป็นเหมือนการช่วยชีวิตทีเดียว”

อาการของโรคมักเริ่มจากเป็นน้อยๆ แต่อาจมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยมีหรือไม่มีสาเหตุจากการสูญเสียหรือความเครียดทางจิตใจก็ได้ ถ้ามีสาเหตุทางจิตใจ มักเป็นความเครียดในชีวิต เช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน หรือความสูญเสียในชีวิต (สอบตก อกหัก คนรักเสียชีวิต หย่าร้าง ตกงาน ฯลฯ)

คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายนั้น บางทีส่งสัญญาณเตือน เช่น กังวลง่ายมากกว่าเดิม เครียดเรื่องเล็กน้อย ถอดใจไม่สู้ ขอลาออก ทำไม่ได้ เปรยๆ ให้คนใกล้ชิดฟัง เช่น “รู้สึกเบื่อจัง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” พูดเป็นเชิงฝากฝัง สั่งเสีย ลาออก ซึ่งใครมีพฤติกรรมเหล่านี้ ควรสอบถามอาการของโรคซึมเศร้า ไปจนถึงข้อสุดท้าย คือ “ความคิดอยากตาย”

ถ้าสงสัยว่ามีความคิดฆ่าตัวตาย ควรถามเรื่องการฆ่าตัวตายหรือไม่???

นพ.พนม บอกว่า บางคนกลัวว่าการถามเรื่องการฆ่าตัวตาย จะไปกระตุ้นให้คนคิดฆ่าตัวตาย หรือเป็นการกระตุ้นคนที่คิดอยากตายอยู่แล้วให้ทำจริงๆ แต่การถามอย่างถูกวิธีไม่ได้กระตุ้นให้คิดหรือทำ และถ้าคนนั้นคิดจะทำอยู่แล้ว จะรู้สึกดีขึ้นจนไม่ฆ่าตัวตาย ถ้าสงสัยว่าจะมีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย ให้ถามนำเป็นขั้นบันได ดังนี้

เริ่มจากอาการเบื่อ ถ้ามีอาการเบื่อ ให้ถามต่อว่าอาการเบื่อนั้น “มีไหมที่ถึงกับเบื่อชีวิต” ถ้ามีเบื่อชีวิตถามต่อว่า “เคยมีความคิดว่า ตัวเองผิดไร้ค่าไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นภาระแก่คนอื่นไหม” ถ้ามีถามต่อว่า “เคยเบื่อมากจนคิดอยากตายไหม” ถ้ามี “เคยคิดฆ่าตัวตายไหม” ถ้ามีถามต่อว่า “เคยทำบ้างไหม เมื่อไหร่ ทำอย่างไร”

คำถามท้ายควรถามว่า “อะไรที่ทำให้ยับยั้งใจจนไม่ได้ทำ” คำถามนี้จะแสดงปัจจัยป้องกันของคนนั้นออกมา เช่น คิดถึงพ่อแม่ คนสำคัญ ศาสนา ควรชมที่เขายั้งคิดได้ ถ้ามีความคิดอยากตายขึ้นมาอีก จะได้ใช้ความคิดนี้อีก

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าบางคนไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รักษา บางคนกลัวการพบจิตแพทย์ และมองว่าจะเป็นโรคจิตโรคประสาท ความจริงแล้วโรคซึมเศร้า “มิใช่โรคจิต โรคประสาท” เพียงแต่เป็นโรคทางอารมณ์รักษาหายได้เหมือนเดิมและหยุดยาได้ คนไทยที่ป่วย 100 คน มีน้อยกว่า 10 คนที่พบแพทย์และรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายขึ้น แต่ถ้ารักษาอาการลดลง ความคิดฆ่าตัวตายจะหายไป การรักษาจึงเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตาย

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้วรักษาหาย อาจกลับเป็นซ้ำได้อีก คนใกล้ชิดควรเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการอีกให้รีบกลับไปรักษาเหมือนเดิม อย่าประมาทเพราะอาจเป็นมากจนคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นการป้องกันการเป็นซ้ำทำได้โดยการกินยาป้องกันในการรักษาครั้งแรกให้นานพอควร อย่ารีบหยุดยาก่อนแพทย์สั่งให้หยุด ตอนหยุดยาควรลดขนาดลงช้าๆ การไม่กินยาสม่ำเสมอทำให้อาการซึมเศร้ากลับไปกลับมาและรักษายากขึ้น

สำหรับบทบาทของอาจารย์มีดังต่อไปนี้ 1.เตรียมอาจารย์ ให้รับทราบ และจัดอาจารย์ที่เข้าใจ มีระบบดูแลจิตใจในภาควิชา 2.สังเกตพฤติกรรม การเขียนรายงาน การปฏิบัติงาน ถ้าเริ่มมีปัญหาหรือมีอาการให้สอบถาม รับฟัง ประเมิน 3.ใช้การสื่อสารด้านบวก รับฟัง เข้าใจ สะท้อนความรู้สึก การตำหนิ ยิ่งทำให้ รู้สึกผิด และอาการเศร้ามากขึ้น 4.ประสานภายในภาควิชา ที่อาจารย์ผู้รับผิดชอบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ลำดับถัดไป 5.การจัดกิจกรรมและประเมินผล ให้เหมือนนักศึกษาอื่นๆ อาจยืดหยุ่นแต่ไม่ลดมาตรฐาน ช่วยแบบมีขอบเขต 6.ถ้ามีอาการมากให้หยุดทำงาน รีบส่งปรึกษาจิตแพทย์ 7.สังเกตพฤติกรรมนักศึกษา นึกถึงโรคซึมเศร้าเสมอ เพื่อค้นหาผู้ที่เริ่มเป็นใหม่ ถ้าพบควรให้คำแนะนำเบื้องต้น และส่งปรึกษา เน้นไม่ใช่โรคจิตประสาท รักษาได้หายเหมือนเดิม และการเก็บความลับ และ 8.ส่งปรึกษาจิตแพทย์ ในระบบการช่วยเหลือ

สรุปแล้วโรคซึมเศร้าพบบ่อย และเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตาย เราทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันได้ โดยสังเกตตนเองและคนใกล้ชิด และแนะนำว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาท รักษาหายจนเป็นปกติได้เหมือนเดิม และถ้าพบผู้ป่วยซึมเศร้า ให้แนะนำมาพบจิตแพทย์เพื่อการรักษาโดยเร็ว.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/696903

11 March 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 30776

 

Preset Colors