02 149 5555 ถึง 60

 

เด็กดื้อด้านต่อต้าน พ่อแม่อย่าเกียจคร้านหมั่นพาเช็กสุขภาพจิต

เด็กดื้อด้านต่อต้าน พ่อแม่อย่าเกียจคร้านหมั่นพาเช็กสุขภาพจิต (1)

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล sopitasavang2010@gmail.com ภาพ : อภิชิต จินากุล

พลิกหน้าข่าวที่เกี่ยวกับสุขภาพ มาเจอกับข่าวที่ออกมาจากกรมสุขภาพจิต เรื่องเด็กดื้อด้านต่อต้านที่ต้องพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อทำการบำบัดรักษา ก็ยิ่งมีความเป็นห่วงเด็กๆ ยุคนี้เสียจริง

ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ครั้งล่าสุดปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้าน ร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 8 หมื่นคนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 ส่วนเด็กหญิงพบร้อยละ 1.7 ซึ่งโรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อนและสภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่ที่น่าเป็นห่วง

พบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา โดยให้การดูแลตามความเชื่อ คือ 1.ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง 2.ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน 3.ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย 4.ส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีกจึงขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน

ในรายงานข่าวบอกว่า น.ต.นพ.บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น แม้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น คือการปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กให้น้อยลง ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญที่สุด โดยได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ ในการปรับลดพฤติกรรมอย่างถูกวิธีและทำให้เด็กหายป่วย

ส่วน พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือการลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้นก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพ และติดสารเสพติดได้ง่าย

หากผู้ปกครองพบว่า ลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย

สำหรับโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน หรือโอดีดี (Oppositional Defiant Disorder - โอดีดี) ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ แต่ยังเข้ารับบริการรักษาจากจิตแพทย์ยังมีน้อย

สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้ให้นิยามโรคดื้อและต่อต้านนี้ว่า “เป็นรูปแบบพฤติกรรมต่อเนื่องจากการไม่เชื่อฟังและแสดงออกด้วยอารมณ์โกรธเป็นหลัก รวมถึงดื้อต่อต้านกับพ่อแม่เป็นประจำในระดับที่มากเกินกว่าเด็กปกติทั่วไป สังเกตจากภายนอกง่ายๆ คือเด็กจะแสดงอาการดื้อและโกรธง่าย ซึ่งอาการนี้มักจะพบในเด็กที่อายุ 8 ขวบขึ้นไป เด็กที่มีภาวะโรคดื้อต่อต้านเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานกว่า

ข้อมูลจากเว็บไซต์หาหมอ (haamor.com) มีบทความวิธีดูแลเด็กดื้อต่อต้าน (How to care oppositional defiant disorder child) เขียนโดย พรทิพย์ วชิรดิลกและ พ.ท.หญิง สาวิตรี แย้มศรีบัว อาจารย์พยาบาล สาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต (เด็ก) ให้ความรู้ถึงโรคนี้ว่า ภาวะดื้อต่อต้าน เป็นความผิดปกติในเด็กที่มีลักษณะเด่น คือ ดื้อ ต่อต้าน ไม่เป็นมิตร โมโหง่าย ไม่ควบคุมอารมณ์ จนพ่อแม่ทนไม่ได้ จนมีผลกระทบต่อการเรียน เป็นอยู่นานติดต่อกันเกิน 6 เดือน แต่พฤติกรรมข้างต้นต้องไม่มีเรื่องที่เด็กถูกละเมิดสิทธิ์ หรือกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างรุนแรง และไม่ได้เกิดในช่วงเด็กดื้อตามปกติในเด็กอายุ 2-3 ขวบ

จากเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตามระบบ DSM-IV (Diagnostic and statistical manual to mental disorders-IV) พบภาวะเด็กดื้อในทั่วโลกได้ประมาณ 2-16% หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 6% อายุน้อยที่สุดที่พบคือ 3 ขวบ ส่วนมากเริ่มเป็นก่อนอายุ 8 ขวบ และไม่เกินวัยรุ่น แต่โดยเฉลี่ยจะเริ่มแสดงอาการตอนอายุ 6 ขวบ ซึ่งช่วงก่อนวัยรุ่นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าในเด็กผู้หญิง ในอัตราส่วนชายต่อหญิงเท่ากับ 2 : 1และเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้วพบในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงพอๆ กัน

สำหรับประเทศไทย พบภาวะนี้ได้ประมาณ 3% ของเด็กที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 เมื่อแยกตามภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีความชุกสูงสุด 5.5% โดยพบในเด็กชาย 8% และเด็กหญิง 3% ด้วยอัตราส่วนเด็กชายต่อเด็กหญิงคือ 2.6 : 1

เพราะฉะนั้นในสังคมสมัยใหม่ สถานการณ์เด็กไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุคดิจิทัลที่เด็กถูกเลี้ยงมาพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นเด็กดื้อด้านต่อต้านพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น ตอนหน้ามาดูถึงสาเหตุกัน

18 March 2562

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 6407

 

Preset Colors