02 149 5555 ถึง 60

 

ฆ่าตัวตายกันถี่เกินไป กรมสุขภาพจิต จับมือ 50มหาวิทยาลัย เซ็นเอ็มโอยู วางมาตรการเฝ้าระวัง

ฆ่าตัวตายกันถี่เกินไป กรมสุขภาพจิต จับมือ 50มหา'ลัย เซ็นเอ็มโอยู วางมาตรการเฝ้าระวัง

19 มี.ค.62- กรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรมรณรงค์ “สุขใจ...ไม่สูญเสีย” เนื่องในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวันความสุขสากล นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องในวันความสุขสากล กรมสุขภาพจิตจึงขอส่งต่อความสุขแก่ประชาชนคนไทยด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ “สุขใจ...ไม่สูญเสีย” เพื่อให้คนไทยมีความสุขมากขึ้นในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเพื่อลดความสูญเสียให้น้อยลงจากความเครียด ปัญหาด้านสุขภาพจิต และปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เกิน 400 ราย ขณะที่เดือนอื่นๆประมาณ 300 กว่าราย สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป ที่ต้องมีการเฝ้าระวังมี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยจิตเวชบางโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท 2.ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้สารเสพติดปริมาณมากมานาน เช่นสุรา ยาบ้า 3. กลุ่มที่มีการสูญเสีย 4.กลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น 5.กลุ่มที่มีประวัติการทำร้ายตัวเองซ้ำๆ หรือฆ่าตัวตาย และ6.กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการแก้ไขการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตจะมีการดำเนินการที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การจัดสัมมนาเครือข่ายในวันที่ 27 มี.ค. ที่กรมสุขภาพจิต ผู้ร่วมสัมมนา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา มหาวิทยาลัย 50 แห่ง ในเดือน เม.ย. 2562 และกรมสุขภาพจิตยังมีแนวคิดที่จะลงนามความร่วมมือ ( MOU) ร่วมกับ 50มหาวิทยาลัย ที่มีนักศึกษามากกว่า 10,000 คน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้วางมาตรการในการเฝ้าระวังดูแลภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ซึ่งการเฝ้าระวังเป็นมาตรการที่ดีที่สุดซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 60 % โดยทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการออกแบบบริการอาจจัดตั้งเป็นคลินิก เพื่อให้มีศักยภาพในการคัดกรองมากขึ้น ซึ่งสามารถเฝ้าระวังได้โดยใช้หลัก 3 ส คือ 1.สอดส่องมองหา 2.ใส่ใจรับฟัง และ 3.ส่งต่อ กรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้

นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย สนับสนุนงานประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในจังหวัด สนับสนุนการเกิดมาตรการลดการเข้าถึงอุปกรณ์วิธีการฆ่าตัวตาย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการประเมินความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายด้วยแบบทดสอบต่างๆ เพื่อพิจารณารูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลพบว่าในแต่ละปีจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย และในปี 2561 พบว่ามี 4 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ได้แก่ 1.จ.แม่ฮ่องสอน มีการฆ่าตัวตาย 17.55 รายต่อแสนประชากร 2.พัทลุงมีการฆ่าตัวตาย 11 รายต่อแสนประชากร 3.สระแก้ว มีการฆ่าตัวตาย 10.23 รายต่อแสนประชากร และ 4.กาฬสินธุ์ มีการฆ่าตัวตาย 8.9 รายต่อแสนประชากร ทั้งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 10 รายต่อแสนประชากร

20 March 2562

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1200

 

Preset Colors