02 149 5555 ถึง 60

 

สร้างภูมิชีวิตทางใจป้องภัยโรคซึมเศร้าให้ลูก

สร้างภูมิชีวิตทางใจป้องภัยโรคซึมเศร้าให้ลูก/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่ใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นทุกขณะ

ปัจจุบันโรคซึมเศร้าได้รับการพูดถึงบ่อยมากและเป็นที่แพร่หลาย ผู้คนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย และพบว่าคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในบ้านเรา

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเมื่อปี 2559 คนไทยฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นและสวีเดน และปี 2561 บ้านเรามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน โดยทุก ๆ 2 ชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน สัดส่วนผู้ชายฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง และทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน

ประเทศญี่ปุ่นเผชิญปัญหานี้อย่างมาก เมื่อปี 2559 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการระยะยาว 10 ปี ตั้งเป้าว่าจะลดอัตราฆ่าตัวตายลงให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2569 มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งที่ปรึกษาพิเศษประจำโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อคอยสอดส่องดูแลและรับฟังปัญหาของเด็ก รวมทั้งเปิดบริการสายด่วนให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนประเทศเกาหลีก็มิใช่น้อย มีการทำผลสำรวจตั้งแต่ปี 2014 พบว่ามากกว่าครึ่งของวัยรุ่นเกาหลีเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยจำนวน 1 ใน 3 บอกว่าเคยรู้สึกซึมเศร้าอย่างมาก

นักจิตวิทยาเกาหลีได้ตำหนิถึงโครงสร้างทางสังคมที่สร้างให้มีคนป่วยเพิ่มมากขึ้น วัยรุ่นรู้สึกทุกข์ทรมานกับแรงกดดันในเรื่องการเรียน มีทักษะทางสังคมต่ำ นำมาสู่อัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในชาติที่สูงจนเกินรับได้ ซึ่งสาเหตุหลักการตายของกลุ่มประชากรอายุ 15-24 คือ การฆ่าตัวตาย แทนที่จะตายด้วยอุบัติเหตุหรืออื่น ๆ

ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีเด็กและเยาวชนที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลในสหรัฐฯ เนื่องจากพยายามฆ่าตัวตายจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ผลการศึกษาโรงพยาบาล 31 แห่งทั่วสหรัฐฯ พบว่า มีผู้ป่วยที่เป็นเด็กและเยาวชน 35,000 รายที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt) รัฐเทนเนสซี ชี้ว่าการคิดหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตายมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง และจะลดลงในช่วงฤดูร้อน ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะเด็ก ๆ มีความกดดันในช่วงเปิดภาคเรียนมากกว่าตอนปิดเทอม

รายงานของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กวัยรุ่นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากอุบัติเหตุ และการถูกฆาตกรรม

โรคนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปแล้ว

เพราะนับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที และกำลังกลายเป็นปัญหาสังคมในระดับรุนแรงไปทั่วโลกหากไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งในสภาวะสังคมแห่งการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

เด็กและเยาวชนยิ่งมีความเสี่ยงมาก !

เพราะเด็กยุคนี้มีความกดดันสูงต่อการแข่งขันรอบตัว ทั้งเรื่องการเรียนที่ต้องเรียนหนักและต้องเรียนดี การแข่งขันสูงตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นว่าต้องเก่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ยังไม่นับรวมปัญหาสังคมที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างความเครียดให้กับเด็กยุคนี้รายวัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง การถูกรังแก ความรัก ฯลฯ

ยิ่งยุคนี้เราให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนวิชาการ การแข่งขัน ยุคที่เราเน้น IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา มากกว่า EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ และให้ความสำคัญในเรื่องของรูปร่างภายนอก หรือภาพลักษณ์มากกว่าคุณค่าจากด้านใน ฯลฯ

หรือแม้แต่ความรักของพ่อแม่ที่คอยประคบประหงม ตามใจลูก ไม่อยากให้ลูกลำบาก คิดและตัดสินใจให้ลูก ด้วยเหตุผลว่ารักลูก ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายลูก ทำให้ลูกขาดทักษะการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง หรือสามารถจัดการปัญหาเมื่อเกิดความผิดหวังในชีวิตได้

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า เด็กมีความเสี่ยงต่อสภาพปัญหา คนเป็นพ่อแม่จะรอคอยความหวังจากนโยบายของผู้ที่เกี่ยวข้องคงไม่ทันการณ์ แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถลงมือปกป้องลูกของเราได้ด้วยการสร้างภูมิชีวิตทางใจป้องภัยโรคซึมเศร้าให้ลูกตั้งแต่เล็ก

ประการแรก - สมหวังได้ก็ผิดหวังได้

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าความผิดหวังเป็นบทเรียนที่ดีของชีวิต ทุกคนมีทั้งความสมหวังและผิดหวัง ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อผิดหวังแล้วเราจะทำอย่างไร จึงจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นได้ และสามารถแปรเป็นพลังให้สามารถลุกขึ้นได้ใหม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ ยิ่งสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูงในทุก ๆ ด้าน จำเป็นที่ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตอย่างรอบด้าน สอนให้ลูกรู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล ควรฝึกให้ลูกมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์

ประการที่สอง - เสริมพลังบวกสร้างกำลังใจ

กำลังใจและคำพูดด้านบวกมีพลังเสมอที่จะช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็ง การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ควรสนับสนุนให้ลูกเห็นคุณค่าจากด้านใน

ยิ่งถ้าลูกอยู่ในสภาวะจิตใจที่อ่อนแอ ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติมหรือด้านลบ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อปัญหาหรือผู้อื่น พยายามใช้คำพูดด้านบวกและชี้ให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ทุกคนล้วนมีปัญหา แต่ต่างกันตรงที่จะแก้ปัญหาแบบมีสติได้อย่างไร

ประการที่สาม - ปัญหามีให้แก้ไม่ใช่มีให้แบก

ชีวิตมีหลายด้านที่ต้องเรียนรู้ และระหว่างทางของชีวิตก็มีปัญหาและอุปสรรคได้เสมออยู่ที่มากหรือน้อย และทัศนคติต่อการใช้ชีวิตว่าพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคเสมอ ควรทำให้เขาเรียนรู้ว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติดหรือคิดว่าชีวิตหมดหนทาง ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งเท่านั้นที่จะได้การยอมรับ แต่เก่งทางด้านอื่น หรือถนัดในด้านอื่นก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน

ประการที่สี่ - ฝึกให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง

เด็กทุกคนต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ จากคนที่เขารัก แต่กลับมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกน้อยใจในโชคชะตา ไม่มีคนรัก บางคนรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในครอบครัวต่อไป อาจเป็นผลมาจากการขาดความอบอุ่น ความรัก ซึ่งอาจเกิดจากครอบครัวแตกแยก หรือไม่มีเวลาให้กัน

สิ่งที่คนในครอบครัวควรปฏิบัติต่อกัน ต้องเริ่มจากการพูดจาดีต่อกัน การให้กำลังใจ และให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งต้องเริ่มจากพ่อแม่

ประการที่ห้า - พร้อมรับฟังด้วยหัวใจ

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเริ่มจากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ขาดการพูดคุย ปรึกษาหารือกัน ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของกันและกัน เวลาลูกประสบปัญหา เขาจะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ของเขา เพราะเขายังขาดประสบการณ์ชีวิต และเมื่อเขาไม่สามารถพูดคุยหรือระบายให้คนในครอบครัวได้ ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

ฉะนั้น ควรจะสร้างบรรยากาศและให้ลูกคิดเสมอว่าพ่อแม่พร้อมรับฟังปัญหาเขาทุกเรื่องและทุกเมื่อ ที่สำคัญต้องรับฟังด้วยหัวใจ เพราะเด็กสัมผัสได้ว่าพ่อแม่รับฟังเขาด้วยความตั้งใจ เข้าใจ หรือรับฟังเฉย ๆ ในยามลูกทุกข์ การรับฟังด้วยหัวใจมีความสำคัญมาก

ประการที่หก - สังเกตพฤติกรรมของลูก

ถ้าพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจของลูกได้เร็ว ก็จะทำให้มีโอกาสรับมือและพยายามหาทางช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที แต่หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ หรือไม่ตระหนักต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้

ประการที่เจ็ด - อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว

เมื่อลูกตกอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หรือประสบภาวะผิดหวัง พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดต้องไม่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว อยู่เป็นเพื่อนแบบห่วงแบบห่าง ๆ ก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เขารู้ว่าเรารักและห่วงเขาเสมอ และพร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ อาจชวนทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่าปล่อยให้จมปลักกับความผิดหวังในขณะนั้น ควรสร้างบรรยากาศของการไปนอกบ้าน ไปสถานที่ที่เขาชอบก็ได้

ประการสุดท้าย - ลูกขาดทักษะชีวิต

ประเด็นนี้นับเป็นประเด็นใหญ่ และกลายเป็นปัญหาหนักสุด เพราะเด็กในยุคปัจจุบันได้รับการเลี้ยงดู และเติบโตขึ้นมาด้วยการถูกบ่มเพาะให้เป็นเด็กเก่ง เด็กเรียนดี และมักมีการแข่งขันในทุกเรื่องของชีวิต เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาด้วยการเก่งวิชาการอย่างเดียว จึงมักทำให้ชิวิตขาดทักษะในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการปรับตัว ความอดทน ความเข้มแข็ง ฯลฯ

เรามักจะได้ยินเสมอ ๆ ว่า เด็กปัจจุบันรอคอยไม่เป็น ชอบงานสบาย ส่วนหนึ่งเพราะเด็กขาดโอกาสเรียนรู้ทักษะชีวิตในด้านอื่น ๆ เช่น การแก้ปัญหา การต่อสู้กับชีวิตจริง หรือการมีทักษะชีวิตอย่างรอบด้าน

เพื่อให้ลูกมีทักษะการใช้ชีวิตให้เป็น !

ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญกว่ามิติชีวิตในทุกด้าน

การทำ “ด้านในของชีวิต” ให้เต็มสำคัญกว่าอื่นใด เมื่อสร้าง “ทักษะ” เช่นนี้ได้เสียแล้ว โรคซึมเศร้าก็จะไม่เข้าใกล้ลูก !!

21 March 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 3183

 

Preset Colors