02 149 5555 ถึง 60

 

เด็กมะกันหลายรายเกิดอาการ "ลมชัก" หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า อย.สหรัฐฯ ชี้ มาจากพิษนิโคติน เร่งสอบสวนโรคแล้ว

เด็กมะกันหลายรายเกิดอาการ "ลมชัก" หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า อย.สหรัฐฯ ชี้ มาจากพิษนิโคติน เร่งสอบสวนโรคแล้ว

อย.สหรัฐ เร่งสอบสวน หลังพบเด็กและเยาวชนมะกัน 35 ราย เกิดโรคลมชักหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผอ.อย.สหรัฐฯ ชี้ อาการโรคลมชักมาจากผลข้างเคียงจากพิษของนิโคติน ด้านหมอรามาฯ ยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อเด็กและเยาวชน แต่พยายามโฆษณาว่าช่วยลดอันตรายจากบุหรี่

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์พิเศษเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจทำให้เกิดโรคลมชัก หลังมีรายงานเข้ามาที่ อย.สหรัฐฯ จำนวน 35 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน โดยผู้ใช้เกิดอาการชักหลังจากสูบบุหรี่ไฟฟ้า

นายสก็อต ก็อตตลิเอบ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุว่า อาการของโรคลมชักเป็นผลข้างเคียงที่สำคัญที่เกิดจากพิษของนิโคติน ซึ่งขณะนี้ อย.สหรัฐฯ กำลังทำการสอบสวนว่าการเกิดโรคลมชักในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับรายงานว่าสัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร และได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันส่งข้อมูลอันตรายที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาให้กับทาง อย.สหรัฐฯ เนื่องจากคาดว่าจำนวนที่รายงานเข้ามาน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ นายสก็อต ยังได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวจากบุหรี่ไฟฟ้า แต่ข้อมูลจากการศึกษาในปัจจุบันกลับมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ถึงสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นชนิดเดียวกับที่พบในบุหรี่มวน

นายแมทธิว เมเยอร์ (Matthew L Myers) ประธานโครงการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในเด็ก หรือ Campaign for Tobacco-Free Kids ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันปกป้องเยาวชนจากภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเน้นให้ทุกประเทศมีการตรวจสอบความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมในหมู่เยาวชน และทำให้เยาวชนเสพติดจากสารนิโคตินที่มีปริมาณสูง โดยยกตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้า JUUL ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน พบว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1 หลอดมีปริมาณนิโคตินสูงเท่ากับบุหรี่ 20 มวน

นายแมทธิว ได้เรียกร้องให้ FDA ประเทศสหรัฐอเมริกาเร่งดำเนินการให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทต้องผ่านการตรวจสอบของ FDA ก่อนที่จะวางจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าใดได้รับการรับรองจาก FDA และได้กล่าวย้ำว่ามาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยควบคุมกลิ่นและรสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงพอที่จะปกป้องเด็กและเยาวชน โดยพบว่าขณะนี้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังใช้กลยุทธ์ที่บริษัทบุหรี่เคยใช้เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชนให้เสพติด เช่น การใช้ดาราที่มีอิทธิพลกับวัยรุ่น การให้สปอนเซอร์จัดงานคอนเสิร์ตหรือแข่งกีฬา รวมทั้งการใช้กลิ่นสีรสชาติที่ดึงดูด

ขณะที่ พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกโดย ดร.วีรา ลิวซ่า ดา คอสตา เลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ได้ออกมาเตือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทบุหรี่นำมาแต่งตัวใหม่ โดยพุ่งเป้าหมายไปที่เยาวชน ที่บริษัทบุหรี่พยายามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดอันตรายจากบุหรี่ แต่จริง ๆ แล้วกลับทำอันตรายต่อเด็กและเยาวชนโดยนำพาพวกเขาไปสู่สารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูงที่สุด คือ นิโคติน ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลายประเทศตระหนักถึงอันตรายของเรื่องนี้และได้ดำเนินการออกมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ฮ่องกง อินเดีย และรัฐซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

5 April 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1529

 

Preset Colors