02 149 5555 ถึง 60

 

การเมืองเรื่อง (ไม่) เครียด

เหตุการณ์กำลังคร่ำเคร่ง หัวข้อสนทนาเลยเครียด สำรวจความเป็นไปว่าด้วยปรากฎการณ์สุขภาพจิตที่แปรผันกับเรื่องการเมือง

“หากไม่อยากเสียมิตรภาพ 3 เรื่องที่ไม่ควรโต้เถียงกันเลยคือ 1…, 2…, และ 3.การเมือง”

ใครต่อใครก็คงจะเคยได้ยินถ้อยความข้างต้น มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการถูกพร่ำสอน คำตักเตือนที่ว่านี้ราวกับว่าเรื่อง ‘การเมือง’ คือเรื่องแหลมคมอันตราย ที่หากพูดไม่ดี มีหวังความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนาจะจบลงดื้อๆ

ถึงเช่นนั้น อริสโตเติล นักปราชญ์ชื่อดังก็เคยบอกไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง และมนุษย์จะพัฒนาความเป็นมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมารวมตัวกันเป็นสังคม เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ที่มาอยู่รวมกันเป็นเมืองเป็นสังคม และการเป็นรัฐเองก็ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สังคมของมนุษย์เกิดขึ้น

เมื่อเป็นสมาชิกของสังคม เราจึงหนีไม่พ้นกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกคนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อสร้างผลกระทบทุกคนจึงมีสิทธิ์แสดงออก ไม่ว่าจะผ่านการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง พิมพ์ข้อความบนช่อง Status หรือกดฟังเพลง ‘ประเทศกูมี’

‘เครียด’ เพราะ ‘ซีเรียส’

ถ้าการเมืองมันเรียบง่ายก็คงจะดี หากแต่ความจริงมันไม่มีทางจะเป็นเช่นนั้น เพราะความหลากหลายย่อมทำให้ทุกๆ แนวทางที่เกิดขึ้นในโลกของการเมืองมีทั้งผู้ที่เห็นต่างและผู้ที่เห็นด้วย

โดยเฉพาะในสังคมไทยห้วงยามนี้ เกิดปรากฏการณ์ Political Stress Syndrome (PSS) ซึ่งใช้เรียกกลุ่มอาการเครียดที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาด้านอารมณ์และการใช้ความคิดในหมู่คนที่มีความตื่นตัวหรือมีความสนใจในด้านการเมืองมากเป็นพิเศษเกิดขึ้น

อาการนี้มักเกิดขึ้นจากคนที่มีความเอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต (Anticipatory Anxiety) เพราะคาดการณ์ไม่ได้ว่าวันต่อๆ ไป จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับฝ่ายที่ตนสนับสนุนอยู่ และความกระวนกระวายใจจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดคะเนได้เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเครียดที่แสดงอาการออกมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียวัยกลางคนรายหนึ่งยอมรับว่า ตัวเองนอนไม่ค่อยหลับหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อคืนวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผลลัพธ์ที่เผยแพร่ตามข่าวอธิบายได้ความต้องการของประชาชนไม่เหมือนที่เขาคุ้นเคย โดยเฉพาะการเห็นความแตกต่างระหว่างช่วงวัยที่ทำให้พ่อแม่กับลูก มองการเมืองคนละแบบ กลายเป็นปัญหาระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนที่มาก่อน และคืนนั้นเองเขานอนไม่ค่อยหลับเพราะเอาแต่คิดว่า การเมืองไทยหลังจากวันนี้จะเป็นอย่างไร

ขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เล่าว่า ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงวันนี้ ญาติผู้ใหญ่ของเขามักส่งคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพรรคการเมืองหนึ่งมาเสมอ พร้อมกับบอกทำนองว่า “ต้องดูนะ เดี๋ยวไม่รู้ทัน” ทั้งๆ ที่เขาดูคลิปนั้นมาหลายครั้งแล้ว และเนื้อหาที่ถูกส่งมาไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์สแปลกใหม่อะไร

“ผมรู้อยู่แล้วว่าคนในคลิปเขามีที่มาอย่างไร ไม่ใช่เพิ่งมารู้ แต่ผู้ใหญ่คงเพิ่งเห็น แล้วมาแชร์กัน ส่งต่อให้ไม่เลิกสักที”

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า การติดตามข่าวสารมากจนเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตได้ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ ส่วนอาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการวิตกกังวลครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย มีปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น โดยเฉพาะการโต้เถียง ต้องการเอาชนะทางความคิด/ต้องการให้คนอื่นคิดเช่นตน ไม่อยากติดต่อกับคนที่คิดต่างจากตน

“การติดตามข่าวมากไปก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองให้ห่างไกลความเครียดนั้น ให้ใช้หลัก 5 วิธีที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ 1.แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี โดยการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะจะทำให้เครียดมากขึ้น

2. การทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ หันเหความสนใจจากข่าวสารไปเรื่องอื่น 3. เคารพความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย 4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งการพักผ่อนจะทำให้ความเครียดลดลง และ 5. การผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นต้น”

อารมณ์หลังเลือกตั้ง

เอาเข้าจริงความเครียดหลังการเลือกตั้งไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในที่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเพราะก่อนหน้านี้สำนักข่าวในสหรัฐอเมริกาก็เคยรายงานถึงปรากฎการณ์ Post-Election Stress Disorder หรือภาวะความเครียดหลังการเลือกตั้งภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธาธิบดีเมื่อปี 2016

แม้จะยังไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากบทความ, Memeในโลกออนไลน์ ที่ตามมาหลังการเลือกตั้งก็สะท้อนความรู้สึกของคน 2 กลุ่มใหญ่ที่มีความแตกต่างกันคนละขั้ว มองความจริงกันคนละชุด ถึงขนาดตั้งธงว่าหากอีกฝ่ายขึ้นมามีอำนาจคือการพาประเทศถอยหลัง

นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ ‘จ่าพิชิต ขจัดพาลชน’ แอดมินเพจ Drama-addict กล่าวว่า จากที่เฝ้าติดตาม การพูดคุยเรื่องการเมืองในโลกโซเชียล ก็เห็นบางคนมีภาวะเครียดจริงๆ บางคนถึงขนาดกินข้าวไม่อร่อย นอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิด

บางคนถึงขนาดขู่ทำร้ายถ้าเจอตัวจริงๆ ซึ่งที่ว่ามาก็เข้าเกณฑ์การมีปัญหา อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันได้ และต้องส่งเสริมให้พูดคุยกันด้วยซ้ำ แต่ต้องมีการควบคุมบางระดับ ทั้งอารมณ์ตัวเอง และคู่สนทนา มิเช่นนั้นเราจะกลายเป็นพาตัวเองไปสู่การเผชิญหน้า มองว่าอีกฝ่ายที่เห็นต่างไม่ใช่คนดี กลายเป็นคนชั่ว ใช้ Hate Speech กันไปมา

นอกเหนือจากการใช้อารมณ์ สิ่งที่น่ากังวลคือ 1. เรื่อง Echo chamber (การเสพข่าวด้านใดด้านหนึ่ง) ของ Facebook ซึ่งทำให้เราอยู่ในแวดล้อมข่าวสารไปในทางเดียวกัน เมื่อเจอผู้ที่เห็นต่างจึงคิดว่าเขามีความคิดที่ไม่เข้าท่า ล้าหลัง ต้องทำลาย

2. เรื่อง Fake news (ข่าวเท็จ) ที่จนถึงขณะนี้ยังควบคุมไม่ได้ มีเรื่องที่ไม่ได้คัดกรอง เช่น การโพสต์ภาพบัตรเลือกตั้ง แล้วบอกมีการโกงเลือกตั้งทั้งที่ในวันนั้นยังไม่ตรวจสอบแต่ก็มีการแชร์ไปถึง 20,000 ครั้ง หรือในกรณีการปลอมตัวไปเป็นคนที่เราไม่ชอบ เพื่อไปโพสต์ใส่ร้ายอีกคนหนึ่งเพื่อต้องการให้เขากลับมารุมด่าคนที่เราไม่ชอบ

“การเมืองคุยกันได้แน่นอน แต่ต้องอยู่ในระดับที่มันโอเคหน่อย ในมุมมองของผม ผมว่ามันก็น่ากังวลจริงๆ ทั้งในแง่ของอารมณ์ และสิ่งที่เราไมได้ตั้งใจให้มันเกิด อย่างการเจอคนที่มีความเห็นเหมือนกันหมดในหน้าฟีดส์ นี่ค่อนข้างน่ากลัว เพราะความคิดแบบกลุ่มเดียวกันก็จะทำให้เกิดอคติ เรื่อง Echo chamber มันเป็นความผิดของแอพพลิเคชันเฟซบุ๊คเอง แล้วในประเทศไทยก็ต้องมีการแก้ไขตรงนี้ อย่างที่นิวซีแลนด์ ซึ่งเกิดการกราดยิงในมัสยิด ส่วนหนึ่งคนที่ตั้งใจเขาก็ใช้วิธีการเข้าไปอยู่ในเว็บบอร์ด แล้วปล่อยประเด็นที่สร้างความเกลียดชัง อย่างการเหยียดเชื้อชาติมุสลิม วันนี้ถึงมีการเรียกร้องให้มีการกรองสื่อบ้างในบางระดับ ผมยืนยันว่าเราต้อง Free Speech แต่ถ้าเรารับฟังข้อมูลด้านเดียวมันน่ากลัวเกินไป” นพ.วิทวัส กล่าว

การเมืองเรื่องต้องพูด

แม้การเสพข่าวการเมืองจะนำมาซึ่งความเครียด แต่ถึงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้ เพราะนี่คือเสรีภาพทางการพูด ที่สามารถแสดงความคิดเห็น ถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสาธารณะ ซึ่งคือหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ความไม่เห็นพ้องต้องกันของคนในสังคมคือเรื่องปกติแสนธรรมดา และการถกเถียงด้วยข้อเท็จจริงคือเรื่องที่พึงมี ถกเถียงได้ พักได้ แล้วก็กลับมาคุยต่อ

แบบฝึกหัดต่อจากนี้ของสังคมไทยคือการยอมรับความแตกต่าง รู้จักอดทน และหยุดสร้างวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังให้กับอีกฝ่าย เหยียดหยามลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะการ Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ล่าแม่มดผู้ที่มีความเห็นต่าง

บทความเรื่อง ‘ความขัดแย้งและการแก้ปัญหา’ โดยศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ซึ่งเผยแพร่ในเว็ปไซต์สถาบันพระปกเกล้า ระบุตอนหนึ่งที่เข้ากับประเด็นการถกเถียงและเสพข่าวการเมืองในช่วงนี้ว่า สังคมที่มีการพัฒนาแล้วจะต้องมีการจัดระเบียบการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและมีความชอบธรรมทางการเมือง สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

เมื่อใดก็ตามที่ปัญหาความขัดแย้งไม่สามารถจะแก้ไขได้โดยระเบียบการเมืองที่มีอยู่ ก็จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการปฏิรูประเบียบการเมืองนั้น มิฉะนั้นความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปในลักษณะคาราคาซัง ซึ่งจะทำให้ผืนใยของสังคมและเศรษฐกิจเปราะบางและขาดวิ่นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงจุดที่ไม่สามารถจะนำมาปะผุหรือใช้ประโยชน์ได้

ขณะที่หลักการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ก็มีถ้อยความหนึ่งที่เรารับเอามาใช้ซึ่งบอกว่า ระหว่างที่โต้เถียงเพราะความเห็นที่ต่างกัน ลองหาจุดร่วมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก่อน

ถึงตรงนี้คงไม่มีบทสรุปที่โรแมนติกแสนหวาน แต่ก็อยากยกถ้อยคำที่ได้ยินกันชินหูว่า ถ้าไม่อยากเสียมิตรภาพอย่าคุยเรื่อง 'การเมือง'

11 April 2562

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1916

 

Preset Colors