02 149 5555 ถึง 60

 

รักลูกแค่ไหนไม่ทำร้ายลูก

รักลูกแค่ไหนไม่ทำร้ายลูก !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เวลาพูดถึง “ความรัก” เราไม่สามารถวัดขนาดของมันได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ประเภทครอบครัวไหนจะรักลูกมากกว่าครอบครัวนั้น ครอบครัวนี้ เราคงไม่มีมาตรวัดขนาดของความรักได้

ยิ่งเป็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกยิ่งปราศจากเงื่อนไข จึงมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของความรัก

และความรักแบบนี้นี่แหละที่มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถนำไปสู่การสร้างโลก หรือทำลายล้างได้เช่นกัน

แต่สิ่งที่พอจะประเมินความรักของพ่อแม่ได้ อาจดูที่ผลลัพธ์จากตัวลูก ว่า เป็นผลผลิตของความรักแบบไหน เขาเติบโตขึ้นไปเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เช่นไร

แล้วจึงจะสะท้อนได้ว่าเป็นผลผลิตจากความรักที่ถูกวิธีหรือไม่ ถูกเลี้ยงดูมาแบบรักมากเกินไป รักน้อยเกินไป รักถูกวิธี หรือรักแบบขาดความรู้ เพราะเรื่องความรัก นอกจากต้องใช้สัญูชาติญาณของความเป็นพ่อแม่ในการเลี้ยงดู ก็ต้องมีความรู้ควบคู่ความเข้าใจด้วยจึงจะเหมาะสม

มิเช่นนั้นแล้ว “รักนั้น” อาจกลายเป็นทำร้ายลูกก็ได้

เด็กทุกคนจะรู้ว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของพ่อแม่ ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวที่มีความพร้อม เขายิ่งสามารถรับรู้ได้ การแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกเป็นเรื่องที่ควรกระทำและจำเป็น ควรให้ลูกได้รับรู้ว่าพ่อแม่รักลูกเสมอ แต่ก็ต้องอธิบายด้วยว่าบางเรื่องก็ต้องมีเหตุผลมากกว่าจะยอมลูกเพราะความรักเพียงอย่างเดียว ลูกจำเป็นที่จะต้องถูกปฏิเสธในบางเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม โดยมีพ่อแม่คอยอธิบาย และลูกก็ไม่จำเป็นต้องได้ทุกเรื่องที่อยากได้ ทุกคนสามารถพบกับความผิดหวังได้

ลองสำรวจความรักของพ่อแม่ว่า แล้วรักลูกแค่ไหนไม่ทำร้ายลูก !

ประเภทแรก - แค่ไม่กลัวลูกลำบาก

เพราะพ่อแม่ที่กลัวว่าลูกจะลำบาก กลัวลูกอด กลัวลูกเจ็บ ฯลฯ กลัวไปซะทุกเรื่อง ไม่ยอมให้ลูกลำบากตรากตรำ คอยปรนนิบัติพัดวีให้ทุกอย่าง เมื่อมีปัญหาใด ๆ ก็มักจะยื่นมือไปช่วยเหลือในทันที แทบจะไม่ปล่อยให้ลูกเผชิญกับปัญหาหรือความลำบากเลย ถ้าเป็นลูกเล็ก แม่ก็จะคอยอุ้มอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยยอมปล่อยให้ไปคลุกดินคลุกทราย พอเริ่มโต ก็จะคอยเดินตามประกบทุกฝีก้าว และเมื่อเด็กพลาดล้มก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปทันที

ประเภทที่สอง - แค่ไม่ขีดเส้นให้ลูกเดิน

พ่อแม่ประเภทนี้มักเชื่อว่าตัวเองได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยที่จะพูดย้ำๆ กับลูกอยู่เสมอว่า ที่พ่อแม่ทำอย่างนี้ เพราะพ่อแม่รักลูก ถึงเลือกเส้นทางชีวิตเช่นนี้ให้ลูก โดยไม่ฟังเสียงของลูก เช่น อยากให้ลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ ก็วางเส้นทางเพื่อให้ลูกเดินตามรอยที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ได้ดูความถนัด หรือความชอบของลูกเลย ปัจจุบันเด็กไทยประสบปัญหานี้อย่างมากในแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเรียน ที่เด็กมักเลือกเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการมากกว่าที่จะรู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร หรือมีเป้าหมายชีวิตของตัวเองชัดเจน

ประเภทที่สาม - แค่ไม่ตามใจทุกอย่าง

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่พยายามหาทุกสิ่งอย่างที่ลูกอยากได้มาให้ลูกไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีราคาแพงหรือหามาด้วยความลำบากขนาดไหน หรือการเอาใจลูกไม่ว่ากล่าวดุด่าแม้กระทั่งรู้ว่าลูกทำผิด จนทำให้เด็กไม่รู้ว่าพฤติกรรมไหนเรียกว่าถูกผิดล่ะก็ เตรียมรับผลของมันเมื่อลูกเริ่มโตได้เลย เพราะการตามใจลูกมากเกินไป เมื่อเวลาเขาทำผิดพลาดก็ไม่คิดว่าตัวเองผิดแต่กลับไปโทษคนอื่น หากพ่อแม่ให้ความรักแบบนี้จนทำให้ลูกติดนิสัย จะกลายเป็นปัญหาต่อการเข้าสังคมของลูกได้ในอนาคต

หากลูกของเราเข้าข่ายเอาแต่ใจตัวเอง หรือถูกสปอยมาตั้งแต่เล็ก และคุณกำลังหาทางจัดการปัญหานี้อยู่ในหลากหลายวิธีแต่ยังไม่ได้ผล บางทีอาจต้องลองวิธีนี้ที่อาจได้ผลก็คือ “หูทวนลม” บางสถานการณ์พ่อแม่ต้องทำเป็นไม่สนใจ ทำหูทวนลมซะ ก็จะช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกได้ เช่น ถ้าลูกแสดงอาการอาละวาด หรือนอนดิ้นกับพื้น เพื่อต้องการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ แม้ใจจริงพ่อแม่อยากจะให้ลูกขนาดไหน ก็ต้องใจแข็ง และบอกกับตัวเองว่าต้องผ่านไปให้ได้ เพื่อสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกของเรา

ประเภทที่สี่ - แค่ไม่เข้มงวดเกินไป

พ่อแม่ประเภทนี้มักจะไม่ยอมให้ลูกอยู่นอกสายตา ไม่ว่าลูกทำอะไรจะคอยกำกับอยู่เสมอ จะไม่ยอมให้ออกนอกลู่นอกทางเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะมีกฎเกณฑ์กติกาและตารางชีวิตสำหรับลูก และมักไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวโดยลำพังไม่ว่ากับใครก็ตาม พ่อแม่ต้องไปด้วย ไม่ค่อยผ่อนปรน สิ่งใดที่ไม่เห็นด้วยจะไม่ยอมให้ลูกทำเด็ดขาด สุดท้ายลูกจะอึดอัด และมักนำไปสู่การโกหกพ่อแม่

ประเภทที่ห้า - แค่ไม่ปกป้องตลอดเวลา

พ่อแม่ประเภทนี้เป็นพ่อแม่ที่ปกป้องลูกตลอดเวลา ไม่ว่าลูกจะมีปัญหาอะไรกับใคร หรือมีปัญหากับสมาชิกในครอบครัว พ่อแม่ก็มักปกป้องลูกอยู่ดี ลูกฉันไม่เคยผิด แม้ลูกจะทำผิดก็โทษผู้อื่นเสมอ เวลาลูกมีปัญหากับใคร พ่อแม่ก็มักออกโรงปกป้องเต็มที่ ซึ่งหารู้ไม่ว่าลูกประเภทนี้มักจะมีปัญหาเมื่อเขาเติบโตขึ้นเสมอ

ประเภทที่หก - แค่ไม่ทะนุถนอมเกินเหตุ

เป็นความรักที่พ่อแม่มอบให้ลูกอย่างเต็มที่ แต่การปกป้องประคบประหงมลูกมากเกินไป ไม่กล้าปล่อยให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง เลี้ยงดูลูกแบบทำให้ทุกอย่างและจัดการชีวิตลูกหมดทุกเรื่อง ความรักแบบนี้จะทำให้ลูกขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความกล้าที่จะตัดสินใจ กลายเป็นเด็กขี้กลัว ขี้กังวล คอยแต่ให้พ่อแม่ทำให้ทุกเรื่องจนกลายเป็นนิสัยติดไปจนโต ถ้าเป็นเด็กผู้ชายลูกอาจมีนิสัยขี้อาย ขี้ขลาด ไม่มีความเป็นผู้นำ ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง ก็จะมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ชอบให้คนมาเอาอกเอาใจ และเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงในอารมณ์ได้

ประเภทที่เจ็ด - แค่ไม่รักลูกแบบลำเอียง

ความรักแบบนี้จะเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน เป็นความรักที่พ่อแม่แสดงออกต่อการรักลูกไม่เท่ากันและมักจะเปรียบเทียบ เช่น รักลูกคนโตมากกว่าคนอื่น รักลูกชายมากกว่าลูกสาว รักลูกที่เรียนเก่งมากกว่า ฯลฯ พฤติกรรมการแสดงออกในความรักที่ลำเอียงของพ่อแม่ จะส่งผลเสียต่อลูกที่ไม่ได้รับความรักเป็นอย่างมาก การได้รับความรักที่ไม่เท่าเทียมจากพ่อแม่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด ขี้น้อยใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น และอิจฉาพี่น้องคนอื่น ซึ่งอารมณ์แบบนี้จะส่งผลต่อเด็กในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะทำให้เขากลายเป็นคนขี้อิจฉาเมื่อเห็นใครดีกว่า หรือแม้แต่ลูกคนที่ได้รับความรักที่ถูกแสดงออกว่าลำเอียงมากกว่าก็มีปัญหาไปอีกแบบ

ประเภทที่แปด - แค่ไม่กลัวลูกเหลิง

พ่อแม่ประเภทนี้ไม่ยอมแสดงความรักที่มีต่อลูก รวมไปถึงไม่ยอมชื่นชมหรือให้กำลังใจเมื่อลูกทำสิ่งใดได้ เพราะกลัวว่าลูกจะเหลิง เข้าข่ายรักนะแต่ไม่แสดงออก วิธีคิดแบบนี้ ลูกอาจจะคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก และหันออกไปหาความรักนอกบ้าน จากเพื่อนหรือคนอื่น ๆ ที่แสดงความรักและเห็นว่าเขามีคุณค่า ซึ่งหากเขาพบคนที่ดีก็โชคดี แต่ถ้าเจอคนที่มาหลอกลวงนำพาไปสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอันตรายยิ่ง

ทั้ง 8 ประการนี้ขึ้นต้นว่า “แค่ไม่...” ก็เพื่อสื่อความหมายว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำไม่ได้ ขอเพียงแต่ให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตด้วยตัวเขาเองบ้างโดยมีเราดูอยู่ ไม่ใช่ลงไปจัดการให้ทุกเรื่อง

10 May 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 3543

 

Preset Colors