02 149 5555 ถึง 60

 

อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม/ดร.แพง ชินพงศ์

บ่อยครั้งที่เราติดตามข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งโต๊ะแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาซึ่งกระทำความผิดที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม ตั้งแต่การฉกชิงวิ่งราว ฉ้อโกง ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการตั้งใจทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แล้วพบว่าผู้เกี่ยวข้องบางคนอายุยังน้อยและยังเป็นเยาวชนอยู่ มิหนำซ้ำยังมีสีหน้าเรียบเฉยไม่มีท่าทีสะทกสะท้านเสียจนเราสงสัยว่าคนเหล่านี้เติบโตมาอย่างไรถึงไม่รู้สึกผิดอะไรบ้างเลย

การตั้งข้อสงสัยว่าผู้กระทำความผิดจำนวนหนึ่งซึ่งมีท่าทีตอบสนองต่อผลของการกระทำผิดในลักษณะนี้ถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาอย่างไรนั้น มีข้อสังเกตเบื้องต้นว่าพวกเขามีแรงผลักดันที่สัมพันธ์กับ “โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม” (Antisocial Personality Disorder) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกถึงความประพฤติผิดปกติ (Conduct Disorder) ที่แตกต่างจากคนทั่วไป แม้จะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางกรรมพันธุ์หรือเกี่ยวกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่โดยมากมักให้น้ำหนักกับปัจจัยสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เวลาที่พูดถึงความประพฤติผิดปกติประเภทที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม หลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกของคนที่เกี่ยวข้องอยู่พอสมควร โดยมักเข้าใจกันว่าคนที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมจะชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวและปลีกตัวออกจากคนอื่นๆเสมอ ไม่พูดไม่เจรจาหรือเข้าพบปะคบค้าสมาคมกับใคร รวมถึงไม่ต้องการทำตามข้อกำหนดหรือกติกาทางสังคมใดๆ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้มีผลต่อการเตรียมการรับมือและแก้ไขความประพฤติผิดปกติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในวัยเด็กที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมเพิ่มพูนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในระยะยาว

อันที่จริงแล้วโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมซึ่งแสดงออกทางความประพฤติผิดปกติประเภทที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมนี้ เป็นกลุ่มอาการทางจิตที่มีลักษณะร่วมกันคือ การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆและต่อเนื่องไปโดยปราศจากการตระหนักรู้ผิดชอบชั่วดี ขาดความเคารพและเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ไม่เคยรู้สึกเสียใจต่อการกระทำที่ขัดแย้งกับความคาดหวังและบรรทัดฐานที่ดีงามของสังคมส่วนรวม จนกลายเป็นบุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัยประจำตัวไปโดยไม่รู้ตัว สามารถพิจารณาตามลักษณะการแสดงออกได้โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มที่สำคัญ กล่าวคือ

1.ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง – โดยมากผู้ที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมต่อต้านสังคมมักจะคำนึงถึงความพอใจหรือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักเสมอ เช่น อยากเที่ยวเล่นจึงไม่เข้าชั้นเรียน อยากได้สิ่งของจึงขโมยหรือบังคับเอาของคนอื่นโดยไม่รู้สึกผิดอะไร อาจเรียกได้ว่าเป็นคนที่นึกถึงแต่ตัวเองหรือมีความเห็นแก่ตัวเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนทุกการกระทำ ด้วยเหตุนี้ กฏ กติกาและบรรทัดฐานที่ดีงามและเป็นที่ยึดถือร่วมกันของคนในสังคมจึงไม่มีความสำคัญให้ต้องนำมาตีกรอบความประพฤติของตนเองแต่อย่างใด

2.หุนหันพลันแล่น – ด้วยการยึดเอาแต่ใจตัวเอง ประกอบกับการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ขาดการพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อผู้ที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมต่อต้านสังคมตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยคือ ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกฏเกณฑ์ทางสังคม ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของตัวเอง เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความคับข้องใจ รู้สึกโกรธและไม่พอใจ แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็มีโอกาสที่จะหุนหันพลันแล่นแสดงความก้าวร้าวออกมา ทำลายสิ่งของหรือทำร้ายผู้อื่นได้โดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

3.โกหกหลอกลวง – การแอบอ้าง โกหก หลอกลวง แกล้งทำ หรือใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง คำชื่นชม ความเคารพนับถือ หรือต้องการทำร้ายจิตใจของผู้อื่นเพื่อชดเชยปมปัญหาในจิตใจของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของการหลงคิดไปว่าตัวเองเป็นคนพิเศษที่มีความสามารถอยู่เหนือคนอื่นเสมอ จึงใช้จิตใจที่เย็นชาหาผลประโยชน์หรือทำร้ายจิตใจใครก็ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิดและไม่คิดว่าคนอื่นจะสามารถรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

ด้วยบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมเป็นความบกพร่องทางพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่มีผลมาจากการเจ็บป่วยทางจิต โดยมีปัจจัยสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ขาดการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจนทำให้เมื่อลูกๆโตเป็นผู้ใหญ่สภาพความบกพร่องได้ถูกสั่งสมเป็นบุคลิกภาพที่ผิดปกติจนยากที่จะแก้ไข ต่อไปนี้จึงเป็น 5 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงหลีกเลี่ยงในการเลี้ยงลูกเพื่อไม่ให้เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

1.ละเลยเวลาครอบครัว – ครอบครัวที่ต้องทุ่มเทเวลาและเหน็ดเหนื่อยไปกับการทำงานหารายได้มาเลี้ยงดูลูกๆ อาจละเลยเวลาของครอบครัวที่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อส่งมอบความรักและความอบอุ่นใจให้กัน เด็กที่รู้สึกว่าขาดสิ่งนี้ไปจะเก็บซ่อนไว้ในใจและหาทางออกให้กับตัวเองในหลายวิธีที่ไม่พึงประสงค์

2.ละเลยเพื่อนของลูก – คุณพ่อคุณแม่มักวางใจเมื่อลูกเข้าโรงเรียนซึ่งมีสังคมกลุ่มเพื่อนอยู่ในความดูแลของคุณครู แต่ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าเพื่อนแต่ละคนนั้นมีพื้นฐานทางครอบครัวที่แตกต่างกันซึ่งเด็กสามารถซึมซับ เลียนแบบ และชักชวนกันกำหนดเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้หากไม่ใส่ใจดูแลใกล้ชิด

3.ละเลยกิจกรรมทางสังคม – กิจกรรมด้านดนตรี กีฬา หรือค่ายอาสา มีประโยชน์กับการพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์และฝึกฝนการใช้ชีวิตร่วมกันคนอื่นๆในสังคม แต่หลายครอบครัวมักละเลยและปล่อยให้เด็กใช้เวลาไปกับเกมส์หรือสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไปจนขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะทางสังคม

4.ละเลยการปลูกฝังระเบียบวินัย – ระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ถึงความคาดหวังทางสังคม เริ่มต้นได้ในบ้านด้วยการมอบความรับผิดชอบต่างๆให้ทำตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย แต่บางครั้งคนในบ้านก็อาจละเลยความสำคัญตรงนี้ รวมทั้งไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีพอให้เด็กได้ซึมซับ

5.ละเลยความต้องการของลูก – ไม่ผิดอะไรหากจะมีความเข้าใจว่าถ้ามีเงินมากก็จะสามารถส่งเสียเลี้ยงดู ให้โอกาสทางการศึกษา ให้ความสะดวกสบายและทำให้ลูกมีอนาคตที่ดีได้ แต่กระนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรหลงลืมที่จะมีพื้นที่สำหรับการเปิดใจพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของลูกอยู่เสมอ

กล่าวได้ว่าปัญหาพฤติกรรมต่อต้านสังคมนั้นไม่เพียงมีผลต่อบุคลิกภาพส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความเป็นไปของสังคมโดยรวมอีกด้วย การป้องกันจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเลี้ยงดูสมาชิกวัยเด็กอย่างเหมาะสม โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ละเลยความรับผิดชอบนี้และอย่าเลี้ยงลูกให้เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

13 May 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Maneewan

Views, 9319

 

Preset Colors