02 149 5555 ถึง 60

 

สสส.ปลุกพ่อแม่ร่วมแก้เด็กติดจอมือถือพุ่ง 9 ชั่วโมง/วัน

สสส.ปลุกพ่อแม่ร่วมแก้เด็กติดจอมือถือพุ่ง 9 ชั่วโมง/วัน

สสส.จับมือบุ้คสเคป กูเกิ้ล และยูทูป เปิดมุมมองใหม่ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อรับมือกับปัญหาเด็กติดจอ ติดเน็ต สมาร์ทโฟน โดนรังแกบนโลกไซเบอร์ เพิ่มความฉลาดรู้ในการท่องโลกออนไลน์ หลังผลสำรวจพบคนไทยใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 9 ชั่วโมง /วัน

ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ และ workshop WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ตว่า สสส.ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดทำโครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ซึ่ง 1 ในประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญคือ ผลกระทบต่อวัยรุ่นที่เกิดจากโลกสังคมออนไลน์ รายงานสุขภาพคนไทยปี 2562 ระบุว่าคนไทยใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ไม่ต่างกันกับผลสำรวจของ We Are Social ซึ่งรายงานว่าประเทศไทยติดอันดับการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน เฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คนไทยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยชมสื่อบันเทิงต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตประมาณ 4 ชั่วโมง 3 นาที และมีอัตราการเข้าอินเทอร์เน็ตทุกวันถึงร้อยละ 90

“สสส.พยายามขับเคลื่อนองค์ความรู้ใหม่ๆ สู่สังคมไทย โดยมุ่งเป้าที่เด็ก เยาวชน เติบโตเป็นคนไทยในยุคดิจิทัลที่ได้รับการติดอาวุธทางปัญญาพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ การจัดงานครั้งนี้จะช่วยตอบโจทย์การสร้างความเข้าใจและรู้เท่าทันคนในโลกออนไลน์ โดยผู้ทำงานด้านเด็กเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย นักกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันต่ออันตรายและความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ เช่น การรังแกบนโลกไซเบอร์ (cyberbullying) การเสพติดออนไลน์ ดังนั้น เครื่องมือ องค์ความรู้ที่นำมาปรับใช้นี้จะทำให้เกิดความเข้าใจทั้งโอกาส ความเสี่ยง และแนวทางในการรับมือกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชน เพื่อการใช้ประโยชน์ ตลอดจนศึกษาเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารและทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนอย่างได้ผล” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถานำ “ความท้าทายใหม่เรื่องโซเชียลมีเดียกับเด็กเยาวชน”ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรทำความเข้าใจคือ พฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลของวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติที่เราเองก็เคยเป็น คือ การเข้าสังคม การได้รับการยอมรับ ต้องการมีเพื่อน เพราะมนุษย์มีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม เพียงแต่ยุคนี้มีเครื่องมือใหม่ในการเข้าสังคมเท่านั้นเอง มันไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความเข้าใจแบบนี้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ลดความตึงเครียดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อน เพราะการเข้าสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประเด็นสำคัญคือผู้ใหญ่เราจะใช้สื่อโซเชียลร่วมกับเด็กอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ซึ่งความเข้าอกเข้าใจและความเมตตา จะช่วยให้เรากับเด็กปรับตัวอยู่ร่วมกับโลกยุคใหม่ได้ดี

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลีสถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า โลกดิจิทัลเป็นปัจจุบันและอนาคตที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บทบาทของกสทช. คือทำอย่างไรให้ทุกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ และใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดียอย่างเข้าใจ ทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ดังนั้น กสทช.จึ้งสนับสนุนให้ทุนในการศึกษาวิจัยในทุกมิติของสังคมอย่างรอบด้าน เพราะหากสังคมตัดสินว่า โซเชียลมีเดียไม่ดี ไม่ได้ใช่งาน ในขณะที่ทั่วโลกหมุนไปตามเทคโนโลยี เราก็จะเป็นผู้เสียโอกาส

ทั้งนี้ ในงานมีการเสวนาสาธารณะ WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต และ สัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “HOW WE POST:เข้าใจเครื่องมือและชุดทักษะในการทำงานกับวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต” จาก กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด และ Youtube Thailand โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอบรมกว่า 100 คน

21 May 2562

ที่มา บ้านเมือง

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana/Maneewan

Views, 931

 

Preset Colors