02 149 5555 ถึง 60

 

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็ก LD

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็ก LD

หนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับทุกครอบครัวคือ เวลาที่สมาชิกตัวน้อยต้องห่างจากคุณพ่อคุณแม่เพื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน ทุกคนต่างก็มีความคาดหวังไม่เพียงแค่ว่าลูกๆจะสามารถอ่านออก เขียนได้ แต่ต้องสามารถทำได้ดีและมีผลการเรียนที่ดีด้วย

แต่ในความเป็นจริง ช่วงเวลาที่ลูกเข้าโรงเรียนและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กๆในช่วงวัยเดียวกัน เป็นทั้งช่วงเวลาที่จะบอกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบได้ว่าลูกของตัวเองมีความถนัดและความสนใจในด้านใดเป็นพิเศษ ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพไปในทิศทางที่ถูกต้อง และอาจเป็นเวลาที่พบได้ว่าเด็กมีความผิดปกติบางประการที่ส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างเหมาะสม

“ความบกพร่องทางการเรียนรู้” (Learning Disabilities: LD) เป็นหนึ่งในความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ซึ่งมักพบได้อย่างเด่นชัดเมื่อเด็กเริ่มเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกัน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเด็กแทบไม่ได้มีลักษณะและการแสดงออกภายนอกที่มีความแตกต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ แต่เมื่อเข้าชั้นเรียนที่ต้องฝึกการอ่าน เขียนและการคิดคำนวณ สภาพความผิดปกติจะถูกเผยออกมาอย่างชัดเจน

คุณพ่อคุณแม่โดยมากมักไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับการพบข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงตีความพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน อาทิ เขียนหนังสือไม่ถูก อ่านหนังสือไม่ออก คิดเลขผิดเป็นประจำ จนทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนและผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ว่ามีความตั้งใจและความพยายามไม่มากพอ จึงยิ่งสร้างความกดดันให้กับเด็กด้วยการบังคับให้เพิ่มความเข้มข้นในการทบทวนบทเรียน

ผลที่ตามมาคือ ไม่ว่าจะพยายามเรียนมากขึ้นเท่าไร เด็กก็ยังคงเรียนไม่ทันเพื่อนเช่นเดิม ตรงกันข้าม กลับมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น อาทิ แยกตัวเองออกจากกลุ่มเพื่อน เหม่อลอยและขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่อยากไปโรงเรียน โดยมักอ้างภาวะความเจ็บป่วย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้องเป็นประจำ หรือแม้แต่มีพฤติกรรมหงุดหงิด ก้าวร้าว ซึ่งเป็นผลจากความเครียดและความกดดันจากสภาพแวดล้อม

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจคือ การที่เด็กเรียนไม่ทันเพื่อนอาจเป็นผลมาจากการที่เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติทางสมองบางประการจนทำให้เกิดความบกพร่องในกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อความสามารถและความเข้าใจในการใช้ภาษา โดยเฉพาะด้านการอ่าน การเขียนและการสะกดคำ รวมถึงทักษะในการคิดคำนวณตัวเลขทางคณิตศาสตร์ หรือมีกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์อายุ

ลักษณะโดยทั่วไปของเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้มักมีความสามารถทางการเรียนรู้ในระดับที่ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นเรียนขึ้นไป โดยสามารถพิจารณาได้ใน 3 ด้านที่สำคัญ ซึ่งอาจมีความบกพร่องเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจพบหลายด้านพร้อมกันก็ได้ กล่าวคือ

1.ความบกพร่องทางการอ่าน - ความผิดปกติในด้านนี้มักเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดแสดงออกมาโดยการอ่านหนังสือไม่ค่อยออกหรืออ่านได้ค่อนข้างช้า อ่านแล้วไม่เข้าใจเนื้อความ ไม่สามารถจับใจความที่ต้องการสื่อถึงได้ มีข้อจำกัดในการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่สามารถจดจำหรือแยกแยะรูปแบบตัวหนังสือ ทั้งพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ได้ รวมถึงขาดทักษะในการเรียบเรียง สะกดคำ ผสมคำที่มีการสลับตัวอักษรไปมาในรูปแบบต่างๆได้อย่างถูกต้อง จึงต้องใช้เวลาในการคิดเรียบเรียงตัวหนังสือหรือสะกดคำเป็นเวลานาน จนไม่สามารถให้ความสนใจกับการพิจารณาความหมายของข้อความที่อ่านได้

2.ความบกพร่องทางการเขียน - ความผิดปกติในด้านนี้มักสัมพันธ์กับความบกพร่องทางด้านการอ่าน เนื่องจากไม่สามารถจดจำหรือแยกแยะรูปแบบตัวหนังสือ ทั้งพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ได้ รวมถึงขาดทักษะในการเรียบเรียง สะกดคำและผสมคำ จึงทำให้เขียนได้ช้า เขียนตกหล่นหรือจัดวางรูปแบบอักษรสลับกันไปมา ไม่สามารถเขียนหนังสือให้ถูกต้องได้ ทั้งในส่วนที่เขียนเป็นคำศัพท์ การเขียนให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ หรือการเว้นวรรคตอนให้เหมาะสม จนผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อความได้

3.ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ - เด็กในกลุ่มนี้มักขาดทักษะและความเข้าใจในการนับจำนวนและค่าของตัวเลข ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการบวก ลบ คูณ หาร หรือแม้แต่หลักต่างๆ ของตัวเลข บางคนมีความเข้าใจหลักการของตัวเลข แต่ไม่สามารถแปลงโจทย์ปัญหาเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้ ทำให้ไม่สามารถหาคำตอบจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้เลย ความบกพร่องในด้านนี้ยังมีผลต่อตรรกะทางความคิดหรือความสามารถในการลำดับเหตุผลของเด็กด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับสาเหตุของการเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้นั้นยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่มีการพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความผิดปกติของสมอง ซึ่งประกอบด้วย การที่สมองมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่คนในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวข้อง รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวพันกับสภาพการเลี้ยงดูและภาวะทางโภชนาการที่ทำให้การพัฒนาสมองทำได้ไม่สมบูรณ์

ด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่แน่ชัดจึงทำให้ยังไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลให้ลูกสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเริ่มต้นจากการปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำในการดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง การทำความเข้าใจกับทางโรงเรียนและคุณครูเพื่อรับรู้ถึงความแตกต่างและข้อจำกัดของเด็ก ทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดเตรียมแผนการเรียนที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ที่บกพร่องสำหรับเด็กได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนได้เป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่น

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรักและความเข้าใจจากครอบครัว ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจและมีกำลังใจที่จะเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้เพื่อแก้ไขความบกพร่องของตัวเองได้ในที่สุด

23 June 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1283

 

Preset Colors