02 149 5555 ถึง 60

 

โตไปไม่ Hate Speech! "บุ๋ม ปนัดดา" ดึงสติพ่อแม่-ครูหยุดวาจาทำร้ายใจเด็ก

โตไปไม่ Hate Speech! "บุ๋ม ปนัดดา" ดึงสติพ่อแม่-ครูหยุดวาจาทำร้ายใจเด็ก

ในยุคที่ Hate Speech เกลื่อนโซเชียลฯ เพราะแค่ความไม่เหมือนตนเอง จึงแสดงความคิดเห็นแบบไม่แคร์ความรู้สึกคนอื่น เกิดเป็นการสื่อสารสร้างความเกลียดชังผ่านคำพูด หรือตัวอักษรด้วยอารมณ์ทางลบ อคติ ตีตรา เหมารวม ต้องการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลหรือกลุ่มคนให้ลดลง นำไปสู่การรังแกกันบนโลกไซเบอร์ที่รุนแรง และน่ากลัวตามมา

แน่นอนว่า ครอบครัวคือต้นทางสำคัญในการเพาะบ่มคนให้มีคุณภาพ ประเด็น Hate Speech ก็เช่นกัน พ่อแม่หลายคนยังไม่เข้าใจ และมักแสดงทัศนคติในด้านลบที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมจนหลุดใช้วาจาไม่ดีในบ้าน หรือทำร้ายใจลูกเพื่อหวังกระตุ้นให้เป็นไปตามความคาดหวังของพ่อแม่ แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการสร้างพื้นฐานการพูดจาภาษาเกลียดชังในตัวลูกโดยไม่รู้ตัว

ความน่าเป็นห่วงนี้ ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พิธีกร และนักแสดงในฐานะแม่ และผู้ที่เคยเป็นเหยื่อของการพูดจาภาษาเกลียดชัง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์บนเวทีสัมมนาสาธารณะ "Hate Speech บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ" จัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่บมจ.อสมท เมื่อเร็วๆ ว่า ต้องให้ความสำคัญ และร่วมกันแก้ปัญหาโดยเริ่มจากครอบครัว

"บางครั้งในครอบครัว เรามักจะโดนคนที่เรารัก พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พูดกับเราว่า..มันโง่ มันเรียนไม่ได้หรอก ขี้เกียจ เป็นการใช้คำด่าโดยคิดว่าคำพูดแบบนั้นจะเป็นแรงกระตุ้น หรือบางครั้งใช้คำพูดว่า ทำตัวแบบนี้ไม่รักหรอก โตมาเป็นแบบนี้เอาขี้เถ้ายัดปากไปนานแล้ว เนี่ย! ไปเก็บแกมาจากกองขยะ ซึ่งคำพูดในลักษณะนี้มันฝังไปในหัวของเด็ก เป็นการสะกดจิตเด็กโดยไม่รู้ตัว หรือเอาความรักมาเป็นเครื่องต่อรอง นี่คือการรังแกในครอบครัวโดยที่หลายคนไม่รู้ตัว"

นอกจากนั้น ยังแสดงความเป็นห่วงในการใช้คำพูดของครูบางคนที่มักจะเรียกจิกเด็ก โดยไม่จำชื่อของเด็ก แต่จำลักษณะที่แย่ๆ ของเด็ก เช่น อ้วน ดำ ตุ๊ด กะเทย เป็นต้น ซึ่งถ้าปล่อยให้บ้าน และโรงเรียนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ "ความรุนแรง" เด็กมีความเสี่ยงที่จะพูดจาภาษาเกลียดชังผู้อื่น หรือกลุ่มคนในสังคมโดยไม่รู้ตัว

"เราต้องสร้างมุมมองในสังคมใหม่ ทุกคนมีลักษณะด้อย และลักษณะเด่นของตัวเอง เราถึงต้องมาคอยสร้างกำลังใจ สร้างความมั่นใจในเด็กแต่ละคนว่า โตขึ้นหนูจงมั่นใจในสิ่งที่หนูเป็น โตขึ้นหนูจงภูมิใจในสิ่งที่หนูเป็น และอย่าไปดูถูกคนอื่น เพราะทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน" บุ๋ม ปนัดตาเผย

อย่างไรก็ดี นอกจากพ่อแม่ และครูในโรงเรียนแล้ว พิธีกรและนักแสดงชื่อดัง ยังดึงสติทุกคนในสังคมให้รู้เท่าทัน และใช้งานโซเชียลฯ อย่างมีสติ อย่าอ่อนไหวไปตามกระแสโซเชียลฯ

"บางทีต้องมีการกลั่นกรองและรอพิสูจน์ความจริง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัวควรมีบทบาทสำคัญ และวันนี้ถึงเวลาที่สังคมไทย จะร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัญหา Hate Speech ที่เกิดขี้นไม่ได้แค่การทำลายสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังคือการสร้างข่าวสารเท็จทำร้ายผู้อื่น หลายคนอาจจะมองว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายกันแต่การทำร้ายโดยโซเชียลนั้นเป็นการทำลายชื่อเสียงของเขา กลายเป็นแผลและตราบาปที่จะอยู่ในโซเชียลไปอีกนาน"

ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วย Hate Speech เราอยากเห็นเด็กเติบโตเป็นคนแบบไหน คำตอบอยู่ที่ทุกฝ่ายในสังคมว่าจะจริงจัง และให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

25 June 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1186

 

Preset Colors