02 149 5555 ถึง 60

 

การช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

การช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

วัยรุ่นมักเขียนระบายความรู้สึกลงใน social media ควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หากเขาเขียนข้อความในลักษณะความหมายที่ก่อให้เกิดการฆ่าตัวตาย เช่น พูด เขียน เอ่ยถึงเรื่องการตาย เป็นต้น

ตระหนักถึงสัญญาณเตือน

ผู้ที่มีลักษณะเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการฆ่าตัวตายแน่นอน แต่เป็นสิ่งบอกว่าเขาเหล่านี้มีความทุกข์ทรมานใจที่ต้องการความใส่ใจอย่างจริงจัง

- มีอาการซึมเศร้า นิ่งเฉย ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว

- แยกตัวจากเพื่อนฝูง พี่น้องครอบครัว

- พูด เขียน เอ่ยถึงเรื่องการตาย

- พูดถึงความท้อแท้สิ้นหวัง

- พูดว่าทุกข์ทรมานมาก หรือตนเองเป็นปัญหา ภาระแก่คนอื่น

- พูดเป็นนัย เช่น ทนไม่ไหวอีกแล้ว เดี๋ยวปัญหาก็จบแล้ว

- มีการสั่งเสีย พูดลา หรือมอบสิ่งของให้ผู้อื่น

ปัจจุบันวัยรุ่นมักเขียนระบายความรู้สึกลงใน social media ควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หากเขาเขียนข้อความในลักษณะดังกล่าวข้างต้น โพสต์ภาพหรือแชร์เรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายถี่ ๆ โดยเฉพาะหากเขาเขียนในทำนองว่าได้เตรียมการแล้ว ต้องรีบไปพบเขาทันที

การช่วยเหลือเบื้องต้น

จุดมุ่งหมายหลักของการพูดคุยคือเพื่อให้เขารับรู้ว่ามีคนใส่ใจรับรู้ปัญหาความทุกข์ของเขา ท่าทีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฟังด้วยความใส่ใจ เปิดโอกาสให้เขาพูด พยายามที่จะเข้าใจความทุกข์ใจ และปัญหาในมุมมองของเขา

1.ไม่รีบให้คำแนะนำ หรือบอกว่าอย่าคิดอย่างนี้ หรือหาเหตุผลมาแย้งว่าเขาคิดผิด ซึ่งจะยิ่งทำให้เขาไม่อยากเล่า

2.ถามความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย อย่ากลัวที่จะถาม การถามไม่ได้กระตุ้นให้เขาคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ระบายความรู้สึก อาจเริ่มด้วย “เคยมีความคิดไม่อยากอยู่หรืออยากไปให้พ้น ๆ ไหม” เขาคิดบ่อยไหม คิดจะทำอย่างไร

3.ให้เขารับรู้ว่าเราพร้อมที่จะช่วยเขาตลอดในช่วงนี้

4.ถ้าไม่ได้อยู่กับเขา บอกเขาว่าเราจะหมั่นโทรฯมาเช็ก ถ้าเขารู้สึกไม่สบายใจให้รีบโทรฯมาหาเราได้ทันที

5.หากอยู่กับเขา ให้เก็บของมีคม หรือสิ่งของที่เห็นว่าเขาอาจใช้ทำร้ายตัวเองได้ หากเป็นไปได้ควรมีคนอยู่กับเขาใกล้ชิดจนกว่าดูเขาดีขึ้น

6.หากดูเขาซึมเศร้า หรือพูดคุยแล้วยังไม่ดีขึ้น ชักชวนแนะนำให้เขาพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการช่วยเหลือต่อไป

7.หากดูเขามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง เช่น ซึมเศร้าหมดหวัง ปัญหารุนแรง ให้โทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือพาเขาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด.

26 June 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 991

 

Preset Colors