02 149 5555 ถึง 60

 

ลุยคัดกรองพัฒนา "เด็กปฐมวัย" ทั่วประเทศ 8-12 ก.ค. ขยายตรวจเพิ่มกลุ่มอายุ 60 เดือน

ลุยคัดกรองพัฒนา "เด็กปฐมวัย" ทั่วประเทศ 8-12 ก.ค. ขยายตรวจเพิ่มกลุ่มอายุ 60 เดือน

สธ.ผนึก 5 หน่วยงาน ลุยจัดคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ 8-12 ก.ค. ขยายคัดกรองเพิ่มในเด็กอายุ 60 เดือน หวังติดตามเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าเข้าระบบติดตามได้ทั้งหมด ช่วยกลับมามีพัฒนาการสมวัย

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2562

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วประเทศในปี 2562 ครอบคลุมเด็กปฐมวัยร้อยละ 90 พัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 25 โดยจำนวนนี้สามารถติดตามได้ร้อยละ 92 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา และกล้ามเนื้อมัดเล็ก บางส่วนเป็นมาตั้งแต่คลอด บางส่วนมีปัญหาในภายหลัง ทั้งนี้ การที่ผู้ปกครองต้องทำงานนอกบ้าน เคลื่อนย้ายถิ่นฐาน บางครอบครัวย้ายที่อยู่ตามสถานที่ทำงานถึงปีละ 3 ครั้ง ทำให้ติดตามตัวยาก ดังนั้น กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค.นี้ ซึ่งขยายมาจากโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย. 2558 โดยใช้เครื่องมือ DSPM คัดกรองในช่วงอายุ 9 เดือน,18 เดือน, 30 เดือน 42 เดือนและขยายคัดกรองเพิ่มในอายุ 60 เดือน เพราะการค้นหาได้เร็วและนำเข้าสู่การกระตุ้นพัฒนาการจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพ (smart citizen)

“ปัญหาส่วนหนึ่ง เพราะประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่ให้กับเด็กไม่เพียงพอ เพราะต้องทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงเองก็ทำงานนอกบ้านเกือบ 100% บางครอบครัวไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ให้ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนเลี้ยงลูกนั้นก็ดี แต่ประสบการณ์ระหว่างรุ่นจะหายไป เพราะประสบการณ์จากรุ่นพ่อแม่ กับรุ่นปู่ย่าต่างกัน ทั้งนี้ เด็กจะเริ่มพัฒนาจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อคอและหลัง ซึ่งได้จากที่เด็กได้เล่น หยอกล้อกับพ่อแม่ พยายามชะโงกคอ พยายามจะคลาน จะเคลื่อนไหวต่างๆ ต่อมาเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ต่อมา คือ พัฒนาการด้านภาษา ด้านอารมณ์ สังคม จิตใจ ซึ่งล้วนมีผลต่อการมีจริยธรรมของเด็กๆ ด้วย" พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า คำแนะนำ คือ “กิน กอด เล่น เล่า” คือ ได้รับโภชนาการที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา การกอดเป็นการสัมผัสที่ไปกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ และสนใจกิจกรรมต่างๆ หรือนำไปสู่การเล่น การทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว และต่อมาคือเล่านิทานที่เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 100 เรื่อง โดยสามารถเล่านิทานได้ทั้งก่อนนอน หรือเวลาครอบครัว

ด้าน น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ใช้แบบประเมินเด็กฉบับปรับปรุงใหม่ หลักสูตร 2560 ซึ่งจะมีการประเมินพัฒนาการเด็กใน 2 ช่วงวัย คือ 0-3 ปี และ 3-5 ปี แล้วมีการบันทึกข้อมูลรายบุคคล นับเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาเด็กได้อย่างตรงเป้าหมาย

3 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 1091

 

Preset Colors