02 149 5555 ถึง 60

 

พ่อแม่ก็เป็น Friend Zone ยุคดิจิทัลกับลูกได้

พ่อแม่ก็เป็น Friend Zone ยุคดิจิทัลกับลูกได้/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เมื่อสมัยครั้งเป็นวัยรุ่นจำได้ว่าชอบซื้อหนังสือที่มีความหมายของคำว่า “เพื่อน” ดี ๆ เป็นคำคมบ้าง ข้อคิดบ้าง ทั้งของคนดัง ๆ ที่ให้ความหมายและคุณค่าของความเป็นเพื่อน

และก็จำได้ว่าในช่วงวัยรุ่น มีเพื่อนสนิทไม่กี่คน ประเภทไปไหนไปกัน ถึงไหนถึงกัน รักกันมาก เรียกว่าถ้ามีเหตุอันใดที่เกี่ยวกับเพื่อน จะไปในทันใด ประมาณไม่เน้นจำนวน แต่เน้นคุณภาพ จึงมีคำว่า “เพื่อนแท้” ในยุคนั้น

และนิยามคำว่า “เพื่อน” ก็จะมีคุณค่าและลึกซึ้ง

ในขณะที่ยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า ความหมายของคำว่า เพื่อนของเด็กยุคนี้มีความแตกต่างจากในอดีตมาก เพราะพวกเขาเติบโตขึ้นมาในโลกยุคดิจิทัล พวกเขาจึงมีเพื่อนในโลกจริง และมีเพื่อนบนโลกออนไลน์ด้วย

คุณค่าและความหมายของคำว่าเพื่อนก็แตกต่างกันไป เด็กยุคนี้จะเน้นปริมาณ ยิ่งในโลกออนไลน์ ก็ต้องการมีเพื่อนจำนวนมาก ๆ และอยากให้เพื่อนบนโลกออนไลน์มา “กดไลค์” มาก ๆ ด้วย

ไม่มีคำตอบว่าเพื่อนแบบไหนยุคไหนดีกว่ากัน

เพียงแต่รูปแบบความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนแตกต่างกันไปตามยุคสมัย

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้ที่ต้องรู้ให้เท่าทัน และเข้าใจ “วิถี” ของลูกในเรื่องเพื่อนด้วย

ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ เคยพบว่าจำนวนเพื่อนของมนุษย์ที่จะคงความสัมพันธ์กันอยู่ได้นั้นมีจำกัดประมาณ 150 คนเท่านั้น จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ตัวเลขของดันบาร์” (Dunbar’s Number) ตัวเลขนี้สอดคล้องกับจำนวนเฉลี่ยของประชากรในชุมชนของประเทศอังกฤษในอดีต จำนวนกองทหารในกองทัพ ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขอยู่ประมาณ 150 คน และกลายเป็นทฤษฎีของดันบาร์ที่สามารถใช้อ้างอิงอยู่เสมอเมื่ออ้างถึงจำนวนเพื่อนของมนุษย์

เมื่อยุคของสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นโลกเสมือนที่สามารถทำให้ใครต่อใครกลายเป็นเพื่อนกันได้ ทำให้เกิดคำถามตลอดมาว่า “ตัวเลขของดันบาร์” ที่ได้ทำการศึกษาไว้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วบนสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงนั้น สามารถจะนำมาใช้ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ได้หรือไม่

จนเมื่อปี 2016 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาของดันบาร์ ที่ได้ทำการศึกษาความเป็นเพื่อนบนโลกออนไลน์ของ ผู้ใช้ Facebook อายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี จำนวน 3,375 คน ในสหราชอาณาจักร โดยพบว่า บุคคลเหล่านี้มีเพื่อนโดยเฉลี่ยราว 150 คน เพื่อน 4.1 คน เป็นเพื่อนที่เชื่อถือได้และเพื่อนอีก 13.6 คน เป็นเพื่อนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจในภาวะวิกฤติทางอารมณ์

การศึกษายังพบว่าขนาดของวงกลมแห่งมิตรภาพ (Friendship Circles) ระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความจริงไม่ได้มีความแตกต่างกัน ผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่มีขนาดของ เน็ตเวิร์คใหญ่ ซึ่งมีเพื่อนจำนวนมาก ไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนเพื่อนสนิทที่เคยมีอยู่ แต่จะเพิ่มจำนวนคนรู้จัก (Acquaintances) เข้ามาในวงกลมแห่งมิตรภาพของตัวเองมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มชอบที่จะมีเพื่อนบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ผู้ใหญ่ชอบที่จะมีเพื่อนในโลกแห่งความจริงมากกว่า

ดังนั้น การเพิ่มเพื่อนจำนวนหลายร้อย หรือหลายพันคนบนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จึงไม่ได้มีความหมายใด ๆ ต่อความเป็นเพื่อนเลย แต่มีการเพิ่มเพื่อนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การขายสินค้าหรือบริการ การสร้างกิจกรรม หรือมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ฯลฯ

บนโลกออนไลน์ ผู้คนมักจะมีเพื่อนแบ่งตามประเภทแตกต่างกันไปเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนใหญ่จะแบ่งกลุ่มเพื่อนตามช่วงวัย เช่น เพื่อนสมัยอนุบาล เพื่อนสมัยประถม เพื่อนสมัยมัธยม เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย หรือแบ่งกลุ่มตามสถานที่ เช่น เพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน ฯลฯ ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะมีวงสังคมแบบไหน มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือมีวิถีชีวิตอย่างไร ก็จะทำให้แต่ละช่วงชีวิตมีเพื่อนในช่วงเวลานั้น ๆ ส่วนจะพัฒนาความสัมพันธ์แบบไหนอย่างไร ก็ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล

จริงอยู่ว่าตอนนี้พอมีโลกออนไลน์ ทำให้การได้กลับไปเจอเพื่อนในอดีต หรือได้พูดคุยกับเพื่อนในแต่ละช่วงชีวิตก็ทำได้ง่าย แตกต่างจากในอดีตที่การเจอะเจอเพื่อนเก่าแต่ละทีดูจะยากเย็น

ในขณะที่เด็กที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล คำว่าเพื่อนของพวกเขาอาจมีนิยามที่ต่างกันออกไปจากยุคสมัยของคนเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อนตามช่วงวัยย่อมมีแน่นอน และช่องทางการสื่อสารของเพื่อนตามช่วงวัยของพวกเขาก็คือการสื่อสารผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก

เพื่อนใหม่ทางโลกออนไลน์ของพวกเขา ก็ดูเหมือนกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวิถีชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องมือสื่อสารทางเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน

เด็กบางคนอยู่บ้านคนเดียวทั้งวัน แต่ก็สามารถพูดคุยกับเพื่อนตลอดเวลา

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กยุคนี้ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว โลกที่ลูกของเราต้องเติบโตขึ้นไปในอนาคต เป็นโลกที่พ่อแม่ต้องเปิดใจ และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูก เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในครอบครัว

แนวโน้มที่เด็กยุคดิจิทัลจะเปลี่ยนวิธีสร้างสัมพันธ์กับคำว่าเพื่อนก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผย ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน โดย Gen Y เป็นแชมป์การใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดติดกันเป็นปีที่ 4 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นมีสูงถึง 80 - 90 % โดยผู้ที่มีอายุ 19 - 25 ปี มีจำนวน 95.6 % ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟน เด็ก ๆ ทั่วโลกหันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น เด็ก ๆ เปลี่ยนวิธีที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนของตนเองผ่านโลกออนไลน์เป็นหลัก

ปัญหาเดิม ๆ ที่พ่อแม่เคยกังวลใจสมัยลูกเล็ก ๆ ประเภทเมื่อลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียน เข้ากับเพื่อน และคุณครูได้ไหม หรือปัญหาเรื่องการคบเพื่อน เพราะกังวลว่าลูกจะคบเพื่อนไม่ดี ก็จะเปลี่ยนไป พ่อแม่รุ่นนี้กลับกังวลใจกับเพื่อนของลูกบนโลกออนไลน์ และมักจะพยายามเข้าไปควบคุมเรื่องการคบเพื่อนของเขา

การที่เราพยายามจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือควบคุมการคบเพื่อนของลูก อาจจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกได้ เพราะลูกมักต่อต้านคำสั่งของพ่อแม่ การห้ามไม่ให้ลูกคบเพื่อนคนใดคนหนึ่งเท่ากับเป็นการแสดงให้ลูกเห็นว่า เรากำลังหวั่นไหวถึงอิทธิพลจากเพื่อนที่จะส่งผลต่อลูก ทั้งยังเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้ลูกเข้าใจได้ว่าพ่อแม่คิดว่าเขายังคิดอะไรเองไม่เป็น จึงไม่ไว้วางใจ

ฉะนั้น พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจชีวิตของเขาเอง โดยเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ เพราะเท่ากับว่าเราได้เรียนรู้โลกของลูกของเราไปด้วย ซึ่งมี 5 วิธีที่นำมาฝาก

หนึ่ง – คบเพื่อนเป็นเรื่องของลูก

พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อนว่า ชีวิตเป็นของเขา การที่เขาจะเลือกคบเพื่อนก็เป็นเรื่องของเขา ต้องเคารพการตัดสินใจ และให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าเพื่อนของเขาเป็นอย่างไร เราเองก็เคยผ่านช่วงชีวิตที่มีทั้งเพื่อนที่ดี และเพื่อนไม่ดี ลูกก็ควรได้รับโอกาสนั้นด้วยตัวเอง พ่อแม่เพียงทำหน้าที่คอยแนะนำในเวลาที่เหมาะสม ต้องเข้าใจว่ารูปแบบของสัมพันธภาพอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะเงื่อนไขของชีวิตในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติใหม่ด้วย

สอง – เข้าใจช่วงวัยว้าวุ่นของวัยรุ่น

เมื่อลูกกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขาด้วย วัยนี้จะให้ความสำคัญกับเพื่อน พ่อแม่ต้องตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ที่ลูกจะค่อย ๆ ห่างจากเราไปบ้าง เพื่อนจะเข้ามามีบทบาทกับลูกของเรามากขึ้น

ถ้าพ่อแม่เอาแต่พร่ำสอนเรื่องการคบเพื่อนอยู่ตลอดเวลา และก็ได้แต่พร่ำบ่นว่าควรจะต้องคบเพื่อนแบบไหน ไม่ควรคบแบบไหน เพื่อนทางออนไลน์น่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ รับประกันว่าเขาไม่ฟังพ่อแม่แน่ แต่ควรจะเปลี่ยนเป็นฝึกให้ลูกเรียนรู้เรื่องการคบเพื่อนที่ดี ที่สำคัญต้องทำให้ลูกไว้ใจพ่อแม่ด้วย

สาม – เป็นเพื่อนของลูกบ้างก็ได้

พ่อแม่ก็สามารถทำตัวเป็นเพื่อนกับลูกได้ เริ่มจากการพูดคุยกับลูกเรื่องเพื่อน ให้ลูกเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนทางออนไลน์ ถ้าพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เล็ก ๆ ลูกก็จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เป็นปกติ แต่เมื่อเขาเติบโตเข้าสู่วัยวัยรุ่น ลูกอาจจะประหยัดคำพูดหรืออาจจะไม่ได้เล่ารายละเอียดทั้งหมด พ่อแม่ก็อย่าเซ้าซี้ หรือคิดว่าลูกเปลี่ยนไป แต่พ่อแม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ ฟังเท่าที่เขาอยากจะเล่า อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ความเป็นไปของลูก แล้วเมื่อลูกพร้อมเขาอาจจะเล่าให้คุณฟังเองก็ได้

สี่ – สร้างมิตรภาพกับเพื่อนลูก

เมื่อมีโอกาสพบเพื่อนของลูกพยายามสร้างมิตรภาพอันดีให้เกิดขึ้น แสดงให้ลูกเห็นว่ายอมรับในเพื่อนของเขา อย่ารีบด่วนสรุปว่าเพื่อนลูกเป็นอย่างไร การแต่งเนื้อแต่งตัว การใช้ภาษา หรือความสนใจของเด็กวัยนี้ บางคนอาจจะดูแปลก ๆ ไปบ้าง หรืออาจดูล้ำไปหน่อย ก็อย่าแสดงความไม่พอใจ แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่าเป็นวัยของเขา และทำให้เพื่อน ๆ ของลูกไม่รู้สึกอึดอัดเมื่อได้อยู่ใกล้กับพ่อแม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาความสัมพันธ์

แต่ถ้าหากเราแสดงท่าทางไม่สนใจไยดีในตัวเพื่อนของลูก หรือไม่ชอบที่ลูกคบเพื่อนทางออนไลน์ ลูกจะรู้สึกอึดอัดทันที และจะรู้สึกว่าระหว่างพ่อแม่กับเพื่อนนั้นเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่อยากให้เพื่อนและพ่อแม่เจอหน้ากันอีก เท่ากับคุณได้ตัดโอกาสของคุณไปเองด้วย

ห้า – ฝึกให้ลูกรู้เท่าทันโลกออนไลน์

เรื่องการคบเพื่อนเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยให้ลูกได้เผชิญเอง สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ก็คือเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ และสร้างภูมิต้านทานชีวิตให้ลูกด้วยคำแนะนำ ว่าในโลกออนไลน์ มีทั้งคนดีและไม่ดี ควรจะมีวิธีในการแยกแยะ หรือระมัดระวังผู้คนแค่ไหนอย่างไร เพราะโลกออนไลน์ก็อาจมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาเป็นมิตรกับเราก็ได้ อาจยกตัวอย่างข่าวคราวที่เป็นอุทาหรณ์ทางโลกออนไลน์ให้ลูกได้เห็นได้ฟัง แต่อย่าไปพยายามควบคุม หรือสั่งสอน เพราะคุณจะได้ผลลัพธ์ในทางตรงข้าม

สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าคุณเป็น “เพื่อน” กับลูกมาตลอดตั้งแต่เล็ก ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง เพราะใน Friend Zone ของลูกจะมีพ่อแม่ของเขาอยู่ในอันดับต้น ๆ อยู่เสมอ แม้ในยุคดิจิทัลก็ตาม

4 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 476

 

Preset Colors