02 149 5555 ถึง 60

 

เตือน ผู้ป่วยซึมเศร้า ดูซีรีส์ดรามาเคล้าน้ำตาคนเดียว เสี่ยงอาการกำเริบ

เตือน ผู้ป่วยซึมเศร้า ดูซีรีส์ดรามาเคล้าน้ำตาคนเดียว เสี่ยงอาการกำเริบ

จิตแพทย์ห่วง "ผู้ป่วยซึมเศร้า" ไม่ควรดูซีรีส์แนวดรามร เรื่องเศร้า และไม่ควรดูคนเดียว เสี่ยงหดหู่ หงอยเหงาเพิ่ม นอนไม่หลับ ทำอาการกำเริบได้ รพ.จิตเวรโคราช จัดทีมให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติทุกรายเรื่องดูซีรีส์ ส่วนคนทั่วไป ยึดหลักดูซีรีส์ 5 ข้อ ช่วยผ่อนคลาย ไม่ติดลมบน จนเกิดพฤติกรรม บิงจ์ ว็อทชิง

วันนี้ (7 ก.ค.) นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้การดูซีรีส์ทางอินเทอร์เน็ตกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะดูได้จากมือถืออย่างไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลาหรือสถานที่ แง่ดี คือ ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากงาน เกิดความสนุกสนาน แต่จะต้องมีความพอดี เหมาะสม มิเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตได้ แม้ในไทยจะยังมีข้อมูลการศึกษาเรื่องนี้น้อยมาก แต่จากงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ พบวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 3 ใช้เวลาดูทีวีเฉลี่ย 1.42 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลเกิดปัญหาอ้วน และอดนอน มีผลต่อปัญหาการจดจำ รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการเสพติดเช่นเดียวกับสารเสพติด ซึ่งเกิดมาจากกลไกภายในสมอง

พญ.ภรทิตา เลิศอมรวณิช จิตแพทย์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ซีรีส์มีทั้งเป็นตอนๆ และมีระบบต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ อาจทำให้เกิดความเพลิดเพลินหรือติดลม คือ ดูแบบต่อเนื่อง เรียกว่าพฤติกรรมนี้ว่า "บิงจ์ ว็อทชิง (Binge watching)" คือ ดูรวดเดียวจบเรื่องหรือดูแบบมาราธอน อาจใช้เวลามากเป็นวันหรือข้ามวันข้ามคืน เนื่องจากบางเรื่องอาจยาวเป็นร้อยๆ ตอน ผลกระทบที่ตามมาที่เห็นชัดเจน คือ การอดนอน จะมีผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งด้านความคิด ความจำ การเรียนรู้ทางด้านภาษา การตัดสินใจในลักษณะเชื่องช้าลงหรือเรียกว่าสมองตื้อ มีผลกระทบกับการทำงานและการเรียน และยังทำให้อารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้น หากอดนอนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิต (Psychosis) เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน ได้เช่นกัน

“กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยซึมเศร้า ซึ่งผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต คนไทยมีอัตราป่วยร้อยละ 2.7 คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 1.5 ล้านคน เฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 คือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ คาดมีประมาณ 148,000 กว่าคน เข้ารักษาแล้วร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 ยังไม่ได้รับการรักษา หากจะดูซีรีส์ สามารถดูได้ โดยดูร่วมกับคนในครอบครัว หรือกับเพื่อนและดูจบเป็นตอนๆ ไม่แนะนำให้ดูคนเดียว เนื่องจากจะเพิ่มเวลาในการอยู่คนเดียว ตัดตัวเองออกสังคมผู้คนมากขึ้น โอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ลดลง หรือทำให้การออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เช่น การออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งในแง่ผลการรักษา อาจทำให้อาการแย่ลงไปอีก โดยซีรีส์ที่ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่ควรดู คือ ซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต หรือเรื่องเศร้าๆ เนื่องจากจะทำให้อารมณ์ที่เศร้าอยู่เดิม เกิดหดหู่ เหงาหงอย เพิ่มขึ้น หรือนอนไม่หลับ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้" พญ.ภรทิตา กล่าวและว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่เพิ่มคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบจากการดูซีรีส์แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกรายและญาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา

พญ.ภรทิตา กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไป การดูซีรีส์อย่างมีความสุข คลายเครียด ป้องกันปัญหาติดลม ต้องจัดตารางชีวิต ฝึกวินัย แบ่งเวลาให้เหมาะสม ดังนี้ 1.กำหนดเวลาดูให้ชัดเจน ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเต็มที่ คือ ผู้ใหญ่ ควรนอน 7-8 ชั่วโมง เด็กมัธยม ควรนอน 8-9 ชั่วโมง เด็กวัยประถมควรนอน 10-11 ชั่วโมง 2.ไม่ดูซีรีส์ในห้องนอน เพื่อไม่ให้รบกวนเวลานอน 3.ควรหยุดเมื่อจบตอน หรือหยุดดูในช่วงกลางๆ ของตอน เนื่องจากในช่วงท้ายตอนมักจะทิ้งปมค้างไว้ ทำให้เราอยากจะดูต่อ 4.ควรจัดเวลาออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน ไม่ต่ำกว่า 30 นาที จะช่วยได้คลายความเครียด ทำให้สุขภาพแข็งแรง และ 5.จัดเวลาให้ครอบครัว เช่น ช่วยกันเตรียมอาหาร รับประทานอาหารร่วมกัน

8 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1200

 

Preset Colors