02 149 5555 ถึง 60

 

วัยทำงานเสี่ยงโรคสารพัด "เครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ-อ้วน-มะเร็ง" ติวเข้ม จนท.คลินิกปรับพฤติกรรม

วัยทำงานเสี่ยงโรคสารพัด "เครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ-อ้วน-มะเร็ง" ติวเข้ม จนท.คลินิกปรับพฤติกรรม

วัยทำงานเสี่ยงสารพัดโรค ทั้งเครียด ซึมเศร้า อ้วนลงพุง หมดไฟ มะเร็ง เหตุทำงานมาก ขาดออกกำลังกาย กินอาหารมีน้ำตาลสูง ปรับปรุงหลักสูตรคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ให้ผู้ปฏิบัติงานถ่ายทอดความรู้ได้เหมาะสม แนะองค์กรส่งเสริมพนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่บุคลากรศูนย์อนามัยที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ภาคีเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพส่วนภูมิภาค บุคลากรโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือหลักสูตรผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงาน เพื่อให้คนวัยทำงานมีพฤติกรรมสุขภาพดีและเพื่อสร้างมาตรฐานการดำเนินงานคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประเทศ

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัยทำงานราว 15 ล้านคนอยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้หลายคนเกิดภาวะความเครียดสะสม กระทบต่อสุขภาพร่างกายและเกิดโรคอ้วน เพราะขาดการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิง และโรคจากการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หลอดเลือดสมองตีบและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

นพ.อรรถพล กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า อ้วนลงพุงและโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง คนวัยทำงานมีแนวโน้มเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนโรคเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและวัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด โดยทั้งหมดทำให้เกิดภาระและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ที่ผ่านมากรมอนามัย ได้เปิดคลินิกปรับเปลี่ยนสุขภาพในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ศูนย์อนามัยทั้ง 12 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้บริการผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 โรค และประชาชนทั่วไปมากว่า 10 ปี ต่อมาเห็นควรให้ปรับปรุงหลักสูตรให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่ผู้เข้ารับบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กรมฯ จึงร่วมกับกรมสุขภาพจิต มธ. และ มศว จัดทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาด้านอารมณ์ที่เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมสุขภาพ รวมถึงการจัดอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพขึ้น ภายหลังการบันทึกความร่วมมือครั้ง กรมอนามัยมีเป้าหมายจะขยายคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไปยังสถานประกอบการในรูปแบบสวัสดิการพนักงาน โดยจะประสานกับกระทรวงแรงงานต่อไป

นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพของวัยทำงาน เป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นกลุ่มวัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้พบคนวัยทำงานทั่วโลก อายุตั้งแต่ 20 กว่าปีขึ้นไป นอกจากเสี่ยงป่วยเป็นโรคแล้ว ยังเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ทำให้จิตใจมีสภาพหดหู่ เกิดภาวะวิตกกังวล และนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้น บริษัท องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ควรส่งเสริมให้พนักงานหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสร้างแรงจูงใจ ด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกาย การบริหารจัดการอารมณ์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคได้ เพราะหากมีสุขภาพกายที่ดีก็จะส่งผลกระทบให้มีสุขภาพใจที่ดีเช่นกัน ส่วนโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มจะนำไปสู่ความเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย

ด้าน นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจการทางกายภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับหลักการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคลินิก ยังคงแนะนำให้ปฏิบัติตามหลัก 3 อ. 2 ส. 1 ฟ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และดูแลทำความสะอาดฟัน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง โดยพบว่าผู้ที่เข้ารับบริการและนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ทางคลินิกจะดำเนินงานเชิงรุกในกลุ่มประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น

9 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1386

 

Preset Colors