02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.พัฒนานวัตกรรม "TB LAMP" ตรวจเชื้อวัณโรคไวขึ้น 1,000 เท่า จ่อใช้ ต.ค.-พ.ย.นี้

สธ.พัฒนานวัตกรรม "TB LAMP" ตรวจเชื้อวัณโรคไวขึ้น 1,000 เท่า จ่อใช้ ต.ค.-พ.ย.นี้

สธ.พัฒนา "ทีบีแลมป์" การตรวจหาเชื้อวัณโรคจากเสมหะไวกว่าวิธีย้อมสี 1,000 เท่า แต่ราคาใกล้เคียงกัน เตรียมเริ่มใช้ใน รพ. ช่วง ต.ค.-พ.ย.นี้ เล็งให้ อสม.ใช้คัดกรองด้วย พร้อมพัฒนา "IGRA" ช่วยตรวจเชื้อวัณโรคแฝงได้ไวกว่าการสะกิดเนื้อ ช่วยรู้ตัว กินยา ป้องกันป่วยได้

วันนี้ (9 ก.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการตรวจติดเชื้องัณโรคแฝง และการพัฒนาชุดทดสอบวัณโรค ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว ว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณปีละ 108,000 คน เสียชีวิต 12,000 คน ผู้ป่วยร้อยละ 80 เป็นวัณโรคปอด อีกร้อยละ 20 เป็นวัณโรคนอกปอด โดยผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาและติดตามได้ราว 80,000 คน คิดเป็นร้อยละ 75 ถือเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงที่สุดในโลก ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนานวัตกรรม "ทีบีแลมป์ (TB LAMP)" ในการตรวจเชื้อวัณโรค โดยนำเสมหะคนไข้มาเข้าน้ำยา เพื่อเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอและแปลผล ทำให้ตรวจหากวัณโรคได้ไวกว่าวิธีเดิม คือ การย้อมสีดูเชื้อถึง 1,000 เท่า รู้ผลใน 1 ชั่วโมง มีราคาถูกไม่เกิน 100 บาทต่อราย ราคาใกล้เคียงกับการตรวจด้วยวิธีการย้อมสี หากมีเชื้อน้ำยาจะเปลี่ยนจากสีส้มเป็นเขียว แต่หากผลเป็นลบคือไม่มีเชื้อจะไม่เปลี่ยนสี

"สธ.จะเริ่มนำทีบีแลมป์มาใช้ช่วง ต.ค. - พ.ย.นี้ ในโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงอาจให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยจะศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลก่อนเสนอให้บรรจุเข้าเป็นชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต่อไป" ปลัด สธ.กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับปัญหาวัณโรคแฝง คือ ติดเชื้อวัณโรคแต่ไม่ป่วย ไม่แสดงอาการ มีประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค และกลุ่มที่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มก้อน อาทิ ผู้ต้องขังในทัณฑสถาน เป็นต้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนานวัตกรรมตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคแฝงให้มีราคาถูกลง คือ การตรวจวัดปริมาณสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด (Interferon Gamma Release Assay : IGRA) หรืออิกรา สามารถรู้ผลได้ภายใน 1 วัน โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรมาตรวจ คือ บุคลากรทางการแพทย์ คนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค คนมีอาการผิดปกติ เช่น เพลีย ไม่มีแรง มีไข้โดยไม่รู้สาเหตุ ผอมลง หรือบางคนรับยากดภูมิ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจในผู้ป่วยวัณโรคปอดที่วินิจฉัยยาก ตรวจด้วยวิธีอื่นไม่พบเชื้อ หรือเก็บเสมหะไม่ได้ และวัณโรคนอกปอดที่เก็บตัวอย่างจากอวัยวะนั้นไม่ได้ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคโพรงจมูก เป็นต้น

พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ปัญหาวัณโรคแฝงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีเชื้อวัณโรคอยู่หรือไม่ เช่น กรณีน้องน้ำตาล เดอะสตาร์ ซึ่งหากมีภูมิต้านทานที่อ่อนลงก็จะเกิดการป่วยขึ้นมาทันที ทั้งนี้ หากสามารถตรวจพบว่าใครมีเชื้อวัณโรคแฝงก็จะช่วยให้รู้ตัวก่อนและกินยาเพื่อป้องกันการป่วยได้ ที่ผ่านมามีวิธีการตรวจวัณโรคแฝงด้วยการสะกิดเนื้อ โดยสิทธิบัตรทองจะให้สิทธิประโยชน์การตรวจด้วยวิธีดังกล่าววันที่ 1 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังไม่ค่อยไว แต่การตรวจด้วย IGRA จะมีความไวมากกว่า ขณะนี้มีการนำร่องอยู่บ้างบางโรงพยาบาล และให้สิทธิตรวจดังกล่าวในกลุ่มเสี่ยง คือ บุคลากรสาธารณสุข หรือผู้อยู่กันอย่างหนาแน่น ก็กำลังศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเสนอให้บรรจุเข้าสิทธิประโยชน์บัตรทองต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี

ดร.เบญจวรรณ เพชรสุขศิริ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจด้วยทีบีแลมป์ที่ไวกว่าการตรวจย้อมสี 1,000 เท่า เป็นการเทียบจากปริมาณเชื้อวัณโรคขั้นต่ำที่จะตรวจพบ โดยวิธีการย้อมสี ขั้นต่ำที่จะตรวจเจอ คือ ต้องมีเชื้อ 15,000 ตัวต่อเสมหะ 1 มิลลิลิตร ขณะที่ทีบีแลมป์จะตรวจเจอขั้นต่ำที่ 500 ตัวต่อเสมหะ 1 มิลลิลิตร จึงทำให้มีความไวกว่า โดยวิธีนี้เป็นการตรวจแบบแมนนวล แต่ก็ไวเทียบเท่ากับเครื่องตรวจอัตโนมัติ

9 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1634

 

Preset Colors