02 149 5555 ถึง 60

 

"จิตแพทย์" ประสานเสียงเตือนอย่าขู่ลูกให้กลัวเพื่อเลิกเล่นมือถือ เลวร้ายหนักเด็กหมดความเชื่อถือ - ซึมเศร้า!

"จิตแพทย์" ประสานเสียงเตือนอย่าขู่ลูกให้กลัวเพื่อเลิกเล่นมือถือ เลวร้ายหนักเด็กหมดความเชื่อถือ - ซึมเศร้า!

"จิตแพทย์เด็ก" ประสานเสียงเตือนวิธีหลอกลูกให้กลัวเพื่อเลิกเล่นมือถือ กระทบทางจิตใจเด็กอย่างหนัก "หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน" ชี้อาจทำให้เด็กหยุดเล่นมือถือได้แค่ชั่วคราว แต่จะกลายเป็นเด็กขี้กลัว งอแงง่าย และที่เลวร้าย “ไม่เชื่อถือผู้ใหญ่” ของตัวเอง ย้ำปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก ด้าน "หมอมิน เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา" ระบุความกลัวไร้เหตุผลอาจฝังใจจนโต ส่งผลให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง มองโลกในแง่ร้าย ซึมเศร้า

จากกรณีในโลกออนไลน์ มีแม่คนหนึ่งเผยแพร่วิธีหลอกลูกน้อยที่ติดโทรศัพท์มือถือ ด้วยการนำอายแชร์โดว์สีดำมาทาที่เปลือกตาลูกน้อยขณะหลับ โดยแกล้งอำว่าเพราะเล่นโทรศัพท์มือถือมาก ตาจึงเป็นเช่นนี้ ทำให้ลูกเข็ดและไม่ยอมจับโทรศัพท์เลย (อ่านเพิ่มเติม : งัดไม้เด็ด! ลูกติดมือถือแม่เผยวิธีจัดการอยู่หมัด ทาอายแชโดว์สีดำ ได้ผลดีเกินคาด)

หลังจากนั้นก็มีจิตแพทย์เด็กหลายรายได้ออกมาเตือนถึงวิธีการดังกล่าว ว่าส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสภาพจิตของเด็ก

อย่างเช่น พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แอดเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ก็ได้โพสต์เตือนว่า ... ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก

มีการแชร์ข่าววิธีการแก้การติดมือถือของเด็กๆ ด้วยการแนะนำให้เอาอายแชร์โดวทารอบตาตอนเด็กหลับให้ดูน่ากลัว พอเด็กๆ ตื่นมาแล้วตกใจ ก็ให้บอกไปว่าเป็นจากการเล่นมือถือที่มากเกิน วิธีการนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

ทำไมเด็กติดมือถือ...

- ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ในวัยที่ยังไม่ควร

- ผู้ใหญ่ปล่อยให้เล่นไปแบบไม่เคยมีกฏ กติกา

- ไม่มีผู้ใหญ่พาไปทำอะไรที่สนุกกว่า

- ผู้ใหญ่กลัวเสียงร้องไห้ ไม่อยากขัดใจ กลัวลูกหลานไม่รัก

- ผู้ใหญ่เอามาฝึกนิสัย ให้กินข้าว ให้อาบน้ำ ให้นั่งนิ่งๆ

- ผู้ใหญ่รู้สึกสบาย... เพราะก็จะได้หันไปที่หน้าจอเหมือนๆ กัน

ปัญหาการติดหน้าจอของเด็กๆ “เป็นปัญหาของผู้ใหญ่” การโกหก หลอก ขู่ ทำให้เด็กๆหวาดกลัว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสุดท้ายพอลืมไปหรือหายกลัว เด็กก็กลับไปติดหน้าจอใหม่ เพราะปัญหาที่ผู้ใหญ่ ไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือถูกมองเห็น

การใช้วิธีที่กล่าวมา...เด็กหลายคน กลายเป็นเด็กหวาดระแวง หวาดกลัว ถดถอย งอแงง่าย จากความกลัวในสิ่งที่เผชิญ ที่สำคัญ คือ เสียโอกาสเรียนรู้ที่จะอยู่กับกติกา ฝึกวินัย และฝึกการ “ควบคุมตัวเอง” ด้วยความเข้าใจในเหตุผล

เราอาจจะได้เด็กที่ไม่กล้าเล่นมือถือ (ในระยะสั้นๆ) แต่เราอาจจะได้เด็กขี้กลัว งอแงง่าย และที่เลวร้าย... เด็กที่ “ไม่เชื่อถือผู้ใหญ่” ของตัวเอง

อย่าทำเลยนะคะ... ปรับที่ “ตัวเอง” ช่วยลูกเรื่องการฝึกวินัย อาจไม่ง่าย... แต่ยั่งยืนกว่าเยอะ

#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ผู้อยากให้สื่อใหญ่ๆนำเสนอสิ่งที่ได้กลั่นกรองแล้ว... เพื่อเด็กๆ

อกจากนี้ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือหมอมิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ก็ได้โพสต์เตือนด้วยเช่นกันว่า ...

#เพราะเหตุใดผู้ใหญ่จึงไม่ควรใช้การหลอกหรือขู่ให้กลัวในการสอนเด็ก

วันนี้มีข่าวที่ทำให้หมอคิดว่าอยากจะเขียนบทความนี้ เพราะหลายๆคนคิดว่า 'การหลอกหรือการขู่' อาจจะเป็นวิธีที่ทำได้

ตรงนี้อยากจะทำความเข้าใจ เพราะหมอคิดว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่อาจจะไม่เข้าใจและไม่ทราบว่าการหลอกหรือการขู่มีผลเสียอย่างไรบ้าง

แถมบ่อยๆ ที่เราพบเห็นว่าความกลัวของเด็กกลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใช้แกล้งหยอกเย้าเด็กด้วยความสนุกสนาน หรือคิดว่าควรจะขู่ให้กลัวเด็กจึงจะเชื่อ

แต่จริงๆแล้ว ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัวหรอก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับ “เด็กเล็กๆ” ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวหากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ(fantasy)มาก

ความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้

เด็กเล็กๆจึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เช่น เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน ฯลฯ

เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็กเล็ก หรือขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวแม่จะออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป

ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กฝันร้าย นอนไม่หลับ

แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่

เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นโรคกลัวที่แคบ เมื่อย้อนประวัติไปในวัยเด็กก็พบว่า ตอนเล็กๆ ถูกพ่อแม่ขังไว้ในห้องเก็บของมืดๆแคบๆอยู่หลายชั่วโมง

ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการแกล้งเด็กเป็นเรื่องสนุกขำขัน แล้วก็ให้เหตุผลว่า “ก็เขายังเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก”

ผู้ใหญ่หลายคนรักและเอ็นดูเด็ก แต่ผู้ใหญ่น้อยคนที่มีความละเอียดอ่อนกับความคิดความรู้สึกของเด็ก

บางคนอาจจะบอกว่า ตอนที่เป็นเด็กไม่เห็นคิดอะไรมากมายอย่างที่หมอพูดเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตอนคุณยังเป็นเด็ก ไม่กลัวอะไรแบบนี้ เด็กคนอื่นก็ต้องไม่กลัวเหมือนคุณ

ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งหมอเชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กคนไหนตั้งใจอยากให้เด็กเป็นแบบนั้น

หยุดแกล้งให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจเลย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ

และถ้าอยากให้เขาเป็นเด็กดีให้เขาเชื่อฟัง อย่าใช้วิธีข่มขู่หรือหลอกเลย บอกเขาตรงๆว่าผู้ใหญ่อยากให้เขาทำอะไร ตรงนั้นจะดีกว่า และจะทำให้สัมพันธภาพในระยะยาวดีด้วยค่ะ

15 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 446

 

Preset Colors